'กบร.' ไฟเขียวอุ้มสายการบินขยายเวลาช่วยเหลืออีก 3 เดือน

กบร. ไฟเขียวขยายเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินออกไปอีก 3 เดือนหลังโอมิครอนระบาดหนัก ผู้โดยสารชะลอตัวลง ลุยลดค่าขึ้นลง-บริการที่เก็บเครื่องบิน 50% ขยายเวลาชำระหนี้ ลดค่าเช่าทุกกิจกรรม สั่งหน่วยให้บริการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ช่วยประหยัดค่าน้ำมันให้แอร์ไลน์

14 ม.ค.2565-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.), กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบินที่ได้ดำเนินการมาถึงสิ้นปี 2564 ต่อเนื่องไปอีก 1 ไตรมาส (3 เดือน)เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนักจนคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้จำนวนเที่ยวบิน และผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในช่วงปลายปีกลับชะลอตัวลงอีกเป็นระลอกที่ 5

สำหรับมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย มาตรการลดค่าใช้จ่ายของสายการบิน ซึ่ง ทอท. ลดค่าใช้จ่ายของสายการบินที่ใช้บริการสนามบินของ ทอท. โดยลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ลง 50% ทั้งเที่ยวบินภายในประเทศ และเที่ยวบินระหว่างประเทศสำหรับสายการบินที่ยังทำการบินอยู่ นอกจากนี้ยังยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) สำหรับสายการบินที่หยุดให้บริการชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2565

นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางการเงิน กพท. ขยายระยะเวลาชำระหนี้ (Credit Terms) ค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ จาก 15 วันเป็น 90 วัน จนถึงรอบชำระวันที่ 31 มี.ค.2565 ขณะที่ ทย. ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราค่าเช่าทุกกิจกรรมในอัตราค่าเช่าไม่ต่ำกว่าที่กรมธนารักษ์กำหนดเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564-31 มี.ค.2565ส่วน ทอท. เลื่อนชำระค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก (Aircraft Service Charge) งวดชำระเดือน เม.ย.64-ม.ค.2565 ออกไปงวดละ 9 เดือน และให้ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 12 งวดชำระ

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มอบให้ กพท. ประสานหน่วยงานผู้ให้บริการทั้งภาคพื้น และภาคอากาศ เช่น ทอท. ทย. ผู้ดำเนินการสนามบินทุกราย และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อให้แต่ละเที่ยวบินสามารถลดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงลงให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้สายการบินประหยัดค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนหลักได้ และให้ กพท. ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รวมทั้งนำผลศึกษาแนวทางของประเทศต่างๆ มาปรับปรุงมาตรการ เพื่อเตรียมมาตรการรองรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และช่วยเหลือสายการบินให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งยังให้ กพท. มีมาตรการดูแลบุคลากรด่านหน้าทางการบิน เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสให้มากที่สุดด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าสั่งการให้หน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินมาตรการ จัดทำแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพราะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย ทั้งนี้สถานการณ์อุตสาหกรรมการบินช่วงไตรมาสที่ 4/2564 ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเฉลี่ย 6 เท่า ผู้โดยสารในประเทศเพิ่มขึ้น 7 เท่า เนื่องจากการแพร่ระบาดในประเทศแนวโน้มลดลง ประกอบกับเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว การเดินทางภายในประเทศจึงฟื้นตัวอีกครั้ง ส่วนการเดินทางระหว่างประเทศ ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากนโยบายเปิดประเทศ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ปลื้มสงกรานต์สุดปัง ต่างชาติทะลัก เงินหมุนเวียนอื้อ

'เศรษฐา' ปลื้มสงกรานต์ประสบความสำเร็จเงินหมุนเวียนอื้อตัวเลขนักท่องเที่ยวพุ่งเชื่อปี 67 เป็นปีที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยมากที่สุด

'เต้ ทวิวงศ์' โร่เคลียร์ดรามา! ค้านรถไฟความเร็วสูงอยุธยา

'เต้ ทวิวงศ์' โต้ดรามาค้าน 'รถไฟความเร็วสูง' ผ่านอยุธยา ยันบริสุทธิ์ใจ ขออย่ามัดมือชกชาวบ้าน บี้ 'สุริยะ-สุรพงษ์' แจง 5 ข้อ ลั่นโดนถอดพ้นมรดกโลกใครรับผิดชอบ