‘สุริยะ’ กางแผนสร้างต่อขยายสายสีแดง ‘รังสิต-มธ./ศิริราช-ศาลายา’ ยันEIAยังไม่หมดอายุ ชี้โครงการผ่าน ครม.เมื่อปี 62 ถือว่านำไป EIA ไปใช้แล้ว แต่มีปรับวงเงินจึงต้องชง ครม. อีกรอบ คาดภายใน 2 สัปดาห์นี้ ถึงคิว ‘รังสิต-มธ.’
13 พ.ย. 2567 -นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ยืนยันว่ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6,473.98 ล้านบาท และช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 15,176 ล้านบาท ยังไม่หมดอายุ และยังมีผลบังคับใช้อยู่ เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไปแล้ว แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันอีกครั้ง จึงให้กรมการขนส่งทางราง(ขร.) สอบถามไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เพื่อขอความยืนยันอีกครั้งว่า หมดอายุหรือไม่ และสามารถใช้งานได้หรือไม่
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า ทาง สผ. ยืนยันกลับมาแล้วว่า โครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ไปแล้วก่อนหน้านี้ จึงถือว่ามีการนำ EIA ไปใช้แล้ว ดังนั้น EIA จึงไม่ได้หมดอายุ 5 ปีตามประกาศ และไม่ต้องทำการทบทวน EIA ใหม่ อย่างไรก็ตามสำหรับ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ศูนย์รังสิต) ที่ประชุม ครม. เห็นชอบอนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2562 ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ครม.อนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2562 โดยรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) ในช่วงปี 2558-2559
สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ไปนานแล้ว แต่ที่กระทรวงคมนาคมจำเป็นต้องเสนอกลับไปยัง ครม. อีกครั้ง เนื่องจากมีการปรับกรอบวงเงินใหม่ และปรับรายละเอียดบางส่วน โดยขณะนี้ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ศูนย์รังสิต) เสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) เพื่อบรรจุเข้าเป็นวาระในการพิจารณาของที่ประชุม ครม. นานแล้ว แต่ไม่ทราบสาเหตุว่า ยังติดในเรื่องใดถึงยังไม่บรรจุเข้าเป็นวาระการพิจารณาของ ครม. แต่ก็เข้าใจดีว่ามีหลายเรื่องจากหลายกระทรวงที่ส่งเข้ามา สลค. เป็นจำนวนมาก
นายสุริยะ กล่าวว่า จะสอบถามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวไปยัง สลค. คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม. ได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้ หาก ครม. เห็นชอบ สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ทันที ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ขอเปลี่ยนแปลงโดยมัดรวมเป็น ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ขณะนี้กระทรวงคมนาคมเสนอเรื่องไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาแล้ว คาดว่าจะเสนอ ครม. ได้ภายในปี 2567 ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,573.85 ล้านบาท ได้เร่งรัดให้ รฟท. เสนอมายังกระทรวงคมนาคมโดยเร็ว เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป
นอกจากจะเสนอโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ศูนย์รังสิต) กลับไปยัง สลค. เพื่อบรรจุวาระ ครม. แล้ว ยังมีอีก 2 โครงการที่เสนอกลับไป สลค.แล้ว ซึ่งจะเร่งรัดสอบถามความคืบหน้าจาก สลค. เช่นกัน ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) หมายเลข 5 (M5) สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท และโครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (M9) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทางประมาณ 70 กม. วงเงินประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ เตรียมเยือนมาเลเซีย หารือประจำปี ผลักดันความร่วมมือสองประเทศ
นายกฯ เตรียมเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ 15-16 ธ.ค.นี้ ร่วมประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 7 ผลักดันความร่วมมือสองประเทศ