เศรษฐกิจไทยไม่สิ้นหวัง ‘อาคม’ ปักหมุด จีดีพี ปีนี้ 3.5-4.5%

เศรษฐกิจไม่สิ้นหวัง “อาคม” ปักหมุดจีดีพีไทยปี 65 โต 3.5-4.5% อานิสงส์ส่งออก งัด Test&Go ปลุกท่องเที่ยวฟื้น รัฐตุนเงินลงทุนอีก 1.9 ล้านล้านบาท อัดฉีดเศรษฐกิจเต็มสูบ การันตีภาคการคลังยังแข็งแกร่ง คาดเฟ้อพุ่งแค่ชั่วคราว โยนกองทุนน้ำมันคุมดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร มองทั้งปียังไม่เกิน 3% พร้อมเดินหน้าดันอุตสาหกรรมอีวีเต็มพิกัด

20 ม.ค. 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “แรงขับเคลื่อนประเทศไทยในศักราชใหม่ 2022” ในงานสัมมนา ศักราชใหม่… ความหวัง (หรือแค่ฝัน) ประเทศไทย 2022 ว่า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.5-4.5% โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญ จากภาคการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลงทุนภาคเอกชน และภาคการผลิตด้วย รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ปีนี้คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งจะส่งผลดีกับแรงงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมและร้านอาหาร รวมถึงเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐ รวมกว่า 1.9 ล้านล้านบาท จากงบลงทุนในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 6 แสนล้านบาท งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีก 3 แสนล้านบาท และเม็ดเงินจากการให้สัมปทานการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีการลงทุนในโครงการสำคัญ อาทิ โครงการก่อสร้างสนามบิน ท่าเรือ เป็นต้น อีกกว่า 1 ล้านล้านบาท

ส่วนความท้าทายในปี 2565 ได้แก่ 1. การคงอยู่ของโควิด-19 โดยเฉพาะบทบาทของสายพันธุ์โอมิครอน ที่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะระบาดนานแค่ไหน แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างแน่นอน แต่หากรัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดโดยจำกัดพื้นที่การระบาดได้ เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น และคลี่คลายไปได้ ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง 

2. การขาดแคลนแรงงาน ที่คาดว่าอาจจะเห็นได้ชัดเจนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะในภาคการผลิตและภาคการท่องเที่ยว และ 3. ปัญหาอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราวในช่วงครึ่งปีแรกเท่านั้น จากราคาอาหารและราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

“จีดีพีไทยปีที่แล้วที่ประเมินว่าจะโต 1% อาจจะต่ำกว่าที่คาด เพราะโควิด-19 ไม่ได้หายไปทั้งหมด ยังวนเวียนกลับมารอบ 3-4-5 ซึ่งรัฐบาลพยายามเร่งควบคุมปัญหาดังกล่าวอยู่ ส่วนสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้น เชื่อว่าจะเป็นเรื่องชั่วคราว โดยในปีนี้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ 1-3% เป็นเรื่องที่คลังและ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องร่วมมือกันดูไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเกิน 3% 

บางช่วงอาจจะอยู่เกือบ 3% หรือเกินไปบ้าง ยังไม่สามารถทราบแน่ชัด ขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลราคาอาหาร แต่ยืนยันจะดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่กำหนด ส่วนราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันอยู่ โดยเฉพาะดีเซลซึ่งมีผลต่อภาคขนส่ง ตามนโยบายคือ ควบคุมราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาตรึงราคาดีเซลต่อไป” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ในส่วนของการรักษาระดับการบริโภคภาคประชาชนนั้น รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการคนละครึ่ง เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินมาแล้ว 3 ระยะ และกำลังจะเริ่มระยะที่ 4 โดยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเริ่มเร็วขึ้น จากเดิมกำหนดวันที่ 1 มี.ค.-30 เม.ย. 65 เป็นวันที่ 14 ก.พ. นี้ จะเปิดให้มีการลงทะเบียน และวันที่ 21 ก.พ. 2565 เริ่มใช้จ่าย เพื่อรักษาระดับการบริโภคภาคประชาชน

โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง ทำให้หลายประเทศมีการใช้นโยบายการคลังในการพยุงเศรษฐกิจมากถึง 14% ของจีดีพี และมาตรการกึ่งการคลัง 4% ของจีดีพี โดยในส่วนของไทยเอง มาตรการด้านการคลังที่รัฐบาลได้ดำเนินการ คือการเน้นการหาทรัพยากรเพิ่ม

โดยการออก พ.ร.ก. กู้เงินสำคัญ 2 ฉบับ รวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยชดเชยรายได้ให้ประชาชนที่หายไปในช่วงที่ขาดรายได้ ธุรกิจหยุดชะงักจากมาตรการล็อกดาวน์ และการประกาศเคอร์ฟิวส์ ซึ่งดำเนินการเหมือนกันเกือบทุกประเทศ เพราะเป็นเรื่องจำเป็น โดยดำเนินการผ่านมาตรการสำคัญ ๆ อาทิ เราไม่ทิ้งกัน เป็นต้น และมาตรการด้านการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการรักษาเสถียรภาพตลาดทุน รวมถึงมาตรการด้านการเงินของสถาบันการเงิน ทั้งการพักชำระหนี้ ยืดเวลาการชำระหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีการกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลว่าหนี้จะเกินกรอบเพดานการก่อหนี้ที่ 60% ของจีดีพี ดังนั้นรัฐบาลจึงได้มีการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ของจีดีพี เป็น 70% ของจีดีพี เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังในกรณีหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ ก็สามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% ของจีดีพี เป็นการเตรียมการณ์ไว้ในกรณีที่มีความจำเป็นในอนาคตเท่านั้น

ไม่ได้หมายความว่า เมื่อขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะแล้ว รัฐบาลจะต้องกู้เงินให้ครบ 70% โดยยืนยันว่าภาคการคลังของไทยยังมีความแข็งแกร่ง เข้มแข็ง กรณีหากเกิดวิกฤติภาครัฐก็มีความพร้อมในการเข้ามาให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และพยุงเศรษฐกิจได้

ขณะเดียวกัน ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 12% ของจีดีพีนั้น ก็ได้มีการเร่งออกมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 เพื่อรักษาไม่ให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งก็มีมาตรการเพื่อควบคุม อาทิ มาตรการ Test & Go และ มาตรการ Thailand Pass แต่ก็ต้องระงับไว้ชั่วคราวหลังจากมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แต่ล่าสุดที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) มีมติให้นำเรื่อง Test & Go กลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งตรงนี้จะเป็นประเด็นสำคัญให้ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

“รัฐบาลต้องคิดอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรให้การเปิดประเทศให้ระบบเศรษฐกิจเดินไปได้ควบคู่กับการป้องกันการระบาด ซึ่งหลังจากดำเนินการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวก็ปรับดีขึ้นเป็นลำดับ โดยรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญแค่การท่องเที่ยวของต่างชาติเท่านั้น แต่การท่องเที่ยวภายในประเทศก็สำคัญ ไม่ได้มีการปิดกัน และมีมาตรการเสริม ผ่านเราเที่ยวด้วยกัน ควบคู่กับมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ แม้ว่าอาจจะไม่ได้ช่วยให้การบริโภคในประเทศกลับมา 100% แต่ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง” นายอาคม กล่าว

สำหรับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในระยะต่อไป คือการส่งเสริมเรื่องดิจิทัล อีโคโนมี ซึ่งจะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เร็วขึ้น ผ่านการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ดิจิทัล และธุรกิจแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการพูดคุยกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในการเข้ามาลงทุนให้บริการดาต้า เซ็นเตอร์ เพื่อสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางดาต้า เซ็นเตอร์ของภูมิภาค รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ และนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ในปีนี้จะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน และมาตรการด้านภาษีออกมา รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับธุรกิจด้านการแพทย์และสาธารณะสุข โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของไทยในระยะต่อไป

“ที่ถามกันว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งความหวังหรือความฝันนั้น จริง ๆ แล้วผมก็อยากให้เป็นเรื่องของความหวัง เพื่อที่จะได้มีแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยโตได้ในระดับ 3.5-4.5% นั่นเป็นสิ่งที่รัฐบาลมีความตั้งใจในการดูแลเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป” นายอาคม กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ยัน ร่วมโต๊ะอาหารเที่ยงกับ 'เอกนัฏ'

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ร่วมโต๊ะอาหารกลางวันกับนายกรัฐมนตรีและคณะ

เสียความรู้สึก! 'ใบเฟิร์น' โพสต์จองทัวร์แต่ไม่ตรงปก ช่างภาพหัวหมอถ่ายแต่งานตัวเอง

จองทัวร์ไปปากีสถานแบบ Private photo trip แต่นักแสดงสาว ใบเฟิร์น-อัญชสา มงคลสมัย กลับต้องมาเสียความรู้สึกเมื่อรูปแบบทัวร์ไม่ตรงปกกลายเป็นการ Join trip แถมช่างภาพที่รับหน้าที่ถ่ายภาพให้ลูกทัวร์กลับสนใจแต่การถ่ายภาพงานส่วนตัวของตนเองจนลูกทัวร์บางคนได้ภาพแค่เพียง 2ภาพเท่านั้น โดยสาวใบเฟิร์นได้โพสต์เหตุการณ์ทั้งหมดลงในเพจ "Bivoyage - ใบบันทึกเดินทาง"

ดีครับท่าน ใช่ครับนาย 'เสริมศักดิ์' ไม่เกี่ยงนั่งท่องเที่ยวแม้ถนัดมหาดไทย

“เสริมศักดิ์” พร้อมรับทุกตำแหน่ง เผยถนัดงาน “มหาดไทย” แต่ไม่ขัด หากได้นั่ง รมว.ท่องเที่ยวฯ เพราะมีหลักในการทำงานอยู่แล้ว