'คลัง'ถกเข้มรีดภาษีคริปโตสรุปแนวทางยื่นแบบสิ้นม.ค.นี้

“คลัง” แจงถกเข้มภาษีคริปโต คาดได้ข้อสรุปที่ชัดเจนสิ้นเดือนนี้ ก่อนกำหนดแนวทางการยื่นแบบ ยันไม่ใช่กฎหมายใหม่ เก็บมานานตั้งแต่ปี 61

27 ม.ค. 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ THe BIG ISSUE 2022 “อนาคต CRYPTO อนาคต THAILAND” ว่า ยืนยันว่าการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล (ภาษีคริปโต) ไม่ได้เพิ่งริเริ่มในปีนี้ โดยมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว แต่ที่ผ่านมาการซื้อขายในสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวยังมีไม่มาก และเพิ่งมาเติบโตอย่างชัดเจนในปี 2564 โดยปัจจุบันกรมสรรพากร สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือถึงแนวทางในการปฏิบัติหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากบริบททางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งในระยะต่อไปจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น

นายอาคม กล่าวอีกว่า การจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จะดำเนินการใน 2 ส่วนคือ เก็บจากศูนย์การซื้อขาย และการระดมทุนผ่านไอซีโอ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ กรมสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ธปท. ก.ล.ต. และกระทรวงการคลังได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าดิจิทัลไทย และผู้ประกอบการต่าง ๆ เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี และข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากภาคเอกชน เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดแนวทางการคำนวณภาษีให้สอดคล้องกับกฎหมาย เป็นธรรมและไม่สร้างความยุ่งยากให้ผู้มีเงินได้

“ปีที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหาในเรื่องการประชาสัมพันธ์กฎหมายภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ทั่วถึง ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นภาษีใหม่ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เป็นภาษีที่มีการจัดเก็บมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว และในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้มีการหารือเรื่องนี้กันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีข้อเสนอแนะดี ๆ เข้ามา โดยส่วนใหญ่อยากให้เป็นการส่งเสริม แนวนโยบายภาษีมี 2 แนวคือการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมใด ๆ ผ่านการลดหย่อน ยกเว้น แต่จะมีระยะเวลาจำกัด กับแนวทางไม่ส่งเสริมให้มีการใช้ เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม กำลังหารือจะได้ข้อสรุปสิ้นเดือนนี้ เพื่อสรุปและกำหนดแนวทางการยื่นแบบภาษี” นายอาคม ระบุ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการสร้างเศรษฐกิจ โดยไม่กระทบกับระบบการเงินในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเติบโตมาโดยตลอด ดังนั้นการส่งเสริมสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคตจึงต้องมีการพิจารณาแนวทางของประเทศต่าง ๆ และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับประเทศไทย ผ่านการดำเนินนโยบายในการกำกับดูและและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ โดยการพิจารณาเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จึงต้องยึดแนวทางที่ผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการลงทุนและสร้างแรงขับเคลื่อนในนวัตกรรมทางการเงิน ทำอย่างไรให้การซื้อขาย ระดมทุนผ่านไปสู่ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์กับประเทศ

“การเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงการคลังในขณะนั้นเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับฟินเทค โดยเฉพาะพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายในการกำกับดูแล เพื่อให้แนวทางปฏิบัติหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในด้านนี้ครอบคลุมทุกส่วน รวมถึงต้องดูแลผู้บริโภคด้วย โดยเรื่องนี้กำหนดให้ ก.ล.ต. เป็นผู้ดำเนินการเรื่องบทบาทในการกำกับดูแล ส่วนคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างใกล้ชิด มีการหารือถึงแนวนโยบายเพื่อกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ส่งเสริมการประกอบธุรกิจ คุ้มครองผู้ลงทุน โดยยึดแนวทางการส่งเสริมแบบสมดุล” นายอาคม กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘รัฐบาล - ก.ล.ต.’ ยกระดับหน่วยงานกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล

“รัฐบาล-ก.ล.ต.” ประกาศความสำเร็จ “ยกระดับหน่วยงานเชี่ยวชาญเฉพาะกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล” ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางระดมทุนในภูมิภาค

สินทรัพย์ดิจิทัล : นโยบายสาธารณะที่ท้าทาย

 สินทรัพย์ดิจิทัล คือสิ่งมีค่าซึ่งแสดงความเป็นเจ้าของในรูปแบบดิจิทัล อาจเป็นสินทรัพย์ทางการเงินและทรัพย์สินที่แท้จริง เช่น งานศิลปะ  คุณสมบัติสำคัญ  (1) Tokenization เกี่ยวข้องกับการใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อแปลงสิทธิ์การเป็นเจ้าของสินทรัพย์ให้เป็นโทเค็นดิจิทัลที่สามารถจัดเก็บ ขาย หรือใช้เป็นหลักประกันได้

กลต. แนะนำ บจ. ผุดแผนดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลชี้เสี่ยงสูง

ก.ล.ต.เสนอบริษัทจดทะเบียน ต้องมีระบบบริหารความเสี่ยง ชี้สินทรัพย์ดิจิทัลเสี่ยงถูกโจรกรรมสูง พร้อมจัดให้มีระบบการควบคุมแบบแบ่งหน้าที่ชัดเจน