ดัชนีเชื่อมั่นเอสเอ็มอี Q1/68 ฟื้น รับอานิสงส์ศก.-บริโภค-ท่องเที่ยวโต

‘SME D Bank’ เผยดัชนีเชื่อมั่นเอสเอ็มอี Q1/68 ฟื้น รับคำสั่งซื้อและการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว บริโภค-ท่องเที่ยวฉลุย โอดต้นทุนพุ่งยังเป็นปัจจัยกดดัน พร้อมคาดการณ์ 3 เดือนหน้ายังแจ่ม

27 มี.ค. 68 – นายพิชิต  มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว. ร่วมกับสำนักวิจัยเศรษฐกิจและประเมินผล บริษัท เอ็กเซลเลนท์ บิสเนส แมเนจเม้นท์ จำกัด ทำการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 1/2568 และคาดการณ์อนาคต จากกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม จำนวน 500 ตัวอย่าง พบว่า ไตรมาส 1/2568 ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการทำธุรกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน

โดยดัชนีรวมเพิ่มขึ้น จาก 55.21  ในไตรมาส4/2567 เป็น 62.40  โดยเฉพาะด้านผลประกอบการ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เรื่องต้นทุนการประกอบธุรกิจยังคงเป็นปัจจัยกดดัน   ขณะที่ปัจจัยหลักที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น  ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การบริโภคและการท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และเสถียรภาพของปัจจัยทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ วิสาหกิจรายย่อย (Micro) มีดัชนีความเชื่อมั่นสูงกว่ากลุ่มอื่น อยู่ที่ 65.20 สะท้อนว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคการผลิตและการท่องเที่ยว มีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับสูงสุด  ซึ่งเชื่อมั่นใกล้เคียงกันในทุกภูมิภาค และใกล้เคียงกันทั้งเมืองใหญ่และเมืองรอง

สำหรับองค์ประกอบของดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาส 1/2568 ที่ปรับดีขึ้นเกือบทุกด้าน  สัดส่วนจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ตอบว่า ผลประกอบการเพิ่มขึ้นที่ 53.20% จาก 30.40% ในไตรมาส 4/2567 จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อปริมาณการผลิต สภาพคล่องและการลงทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังกังวลต้นทุนวัตถุดิบ บริการ ราคาพลังงานผันผวน รวมถึงดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อความเชื่อมั่นด้านต้นทุน

ส่วนคาดการณ์  3 เดือนข้างหน้า หรือช่วงไตรมาส 2/2568 นั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเชื่อมั่นภาพรวมเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 70.10 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบทุกด้าน จากแรงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการบริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมถึง การขยายตัวของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ขณะที่ต้นทุนการประกอบธุรกิจ จะกลับมาเป็นปัจจัยกดดันธุรกิจเพิ่มขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยกลุ่มวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ยังคงเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นสูงสุด และเมื่อพิจารณาตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่า ภาคก่อสร้างมีความเชื่อมั่นสูงที่สุด ส่วนหนึ่งจากการลงทุนโครงการก่อสร้างภาครัฐ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีระดับความเชื่อมั่นลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเข้าสู่ช่วง Low Season

“ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกพื้นที่ มีคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า เชื่อมั่นแนวโน้มเชิงบวก โดยในพื้นที่เมืองรอง  แนวโน้มเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมากกว่าเมืองใหญ่เล็กน้อย ส่งผลให้ในภาพรวมมีสัดส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ตอบว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงสภาพคล่องยังคงเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยที่จูงใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะลงทุนเพิ่ม ได้แก่ เห็นโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลัก โดยวัตถุประสงค์อันดับหนึ่งเพื่อขยายกำลังการผลิตและการลงทุนในโครงการใหม่” นายพิชิต กล่าว

สำหรับภาพรวมสัดส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความต้องการสินเชื่อเอสเอ็มอี ในอีก 3 เดือนข้างหน้า คิดเป็น 52.20% เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสัดส่วน 41.20% และเพื่อลงทุน 11.00% อย่างไรก็ตาม แม้ความต้องการลงทุนจะเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการสินเชื่อเพื่อลงทุนในธุรกิจ ไม่ได้อยู่ในสัดส่วนที่สูงมากนัก เนื่องจากธุรกิจมีสภาพคล่องสูง  มีแหล่งเงินทุนภายในธุรกิจเพียงพอที่จะขยายการลงทุนอยู่แล้ว และเมื่อพิจารณาแยกตามพื้นที่ความต้องการสินเชื่อ  ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในเมืองรองมีความต้องการสูงกว่าเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในธุรกิจ 

นายพิชิต กล่าวอีกว่า จากผลสำรวจบ่งบอก  ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น และต้องการเงินทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพ โดยเฉพาะรับมือกับภาวะโลกร้อน แต่ยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนธุรกิจที่เพิ่มขึ้น  ดังนั้น SME D Bank จัดเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่จะช่วยบรรเทาภาระ ลดต้นทุนทางการเงิน  ด้วยจุดเด่นอัตราดอกเบี้ยเพียง 3%ต่อปี  คงที่ตลอด 3 ปีแรก ผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี   ได้แก่  1.สินเชื่อปลุกพลัง SME   วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 1.5 ล้านบาท สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงแหล่งทุน  2.สินเชื่อ Beyond ติดปีก SME  วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาท สนับสนุนให้เอสเอ็มอีเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และ 3.สินเชื่อ SME Green Productivity วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท  สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลงทุนติดตั้งเครื่องจักร ระบบ อุปกรณ์ เพื่อใช้พลังงานสะอาด และลดใช้พลังงาน

เพิ่มเพื่อน