เฮ! ครม.ไฟเขียวเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มซื้อขายคริปโต

“ครม.” ไฟเขียวร่างกฎหมายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ถึงสิ้นปี 2566 หลังตลาดคริปโตเคอร์เรนซีบูมสุดเหวี่ยง

8 มี.ค. 2565 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 มีมติอนุมัติร่างกฎหมายตามมาตรการบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รวม 3 ฉบับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และเป็นการรองรับแนวทางการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

โดยร่างกฎหมายแต่ละฉบับมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ได้แก่ 1. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลใน Exchange ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566 และ 2. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. (Retail CBDC) ตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. สำหรับการใช้งานภาคประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566

และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดยมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนจากการโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน ทั้งนี้เฉพาะผลประโยชน์และผลขาดทุนจากการโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลใน Exchange ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ (14 พ.ค. 2561) เป็นต้นไป

“การบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จะช่วยให้ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และได้รับความเป็นธรรมในการเสียภาษีมากขึ้น รวมทั้งช่วยให้การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนที่เกิดขึ้นใน Exchange ของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัยและให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการใช้เงินดิจิทัลในอนาคตต่อไป เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคริปโตเคอร์เรนซีเติบโตขึ้นเป็นลำดับ มูลค่าการซื้อขายต่อวันจาก 240 ล้านบาท เป็น 4.8 พันล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์จาก 9.6 พันล้านบาท เพิ่มเป็น 1.4 แสนล้านบาท ผู้ใช้บริการจาก 1.7 แสนราย เป็น 1.98 ล้านราย เรียกว่าเติบโตค่อนข้างมาก”รวมทั้งเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และรูปแบบการทำธุรกรรมต่าง ๆ มีความหลากหลายและปรับเปลี่ยนตลอดเวลา” นายอาคม กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พรรคร่วมรัฐบาลเคาะ 'ทำประชามติ' 3 รอบ เข้า ครม. อังคารนี้

'ภูมิธรรม' คอนเฟิร์มทำประชามติ 3 ครั้ง เพื่อความปลอดภัย ชง ครม. อังคารนี้ คาดทำรอบแรกเดือน ส.ค. ซัดกลุ่มจ้องเคลื่อนไหวห้ามปชช.ใช้สิทธิ์ ปัดหารือหัวหน้าพรรคร่วมเรื่องนิรโทษกรรม