ศูนย์จีโนมิกส์ประเทศไทย เริ่มแล้วถอดรหัสพันธุกรรมคนไทย ได้รับ 200 ตัวอย่างดีเอ็นเอ ล็อตแรกแล้ว

ศูนย์สกัดสารพันธุกรรม เดินหน้าส่งกลุ่มตัวอย่างดีเอ็นเอ กลุ่มตัวอย่างจากเครือข่ายสถาบันวิจัยทางคลินิกทั่วประเทศ กว่า 36 หน่วยงาน เข้าสู่กระบวนการถอดรหัสพันธุกรรม เตรียมถอดรหัสดีเอ็นเอจากผู้ป่วยใน 5 กลุ่มโรค สัปดาห์ละ 200 ราย มีเป้าหมาย 50,000 รายใน 5 ปี

22 เม.ย.65- หน่วยงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) แจ้งความคืบหน้า ล่าสุดของโครงการถอดรหัสพันธุกรรมคนไทยว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ที่ผ่านมาศูนย์สกัดสารพันธุกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เริ่มดำเนินการส่งตัวอย่างดีเอ็นเอในล็อตแรกจำนวน 200 ตัวอย่าง ไปยังศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์แล้ว โดยเครือข่ายสถาบันวิจัยทางคลินิกทั่วประเทศกว่า 36 แห่ง ได้ส่งตัวอย่างเลือด เข้าสู่กระบวนการสกัดดีเอ็นเอที่ศูนย์สกัดสารพันธุกรรมภายใต้ protocol มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์สกัดสารพันธุกรรมจะส่งตัวอย่างดีเอ็นเอ ที่ขนส่งภายใต้อุณหภูมิต่ำกว่า -20 องศา ไปยังศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 200 ตัวอย่างทุกสัปดาห์


ทั้งนี้ตัวอย่างดีเอ็นเอที่จะส่งไปถอดรหัสดีเอ็นเอ เป็นเลือดของผู้ป่วยใน 5 กลุ่มโรค ซึ่งการจัดส่งตัวอย่างดีเอ็นเอ สัปดาห์ละ 200 ราย ทำให้มีตัวอย่างเลือดทั้งหมด 50,000 รายใน 5 ปี ข้อมูลการถอดรหัสที่ได้ จะถูกแปลงเป็นไฟล์ข้อมูลดิจิทัล สำหรับนำไปต่อยอดวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขต่อไป

ขั้นตอนการถอดรหัส เมื่อศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ได้รับตัวอย่างดีเอ็นเอแล้วจะดำเนินการตรวจสอบคุณภาพดีเอ็นเออีกครั้งก่อนทำการถอดรหัสพันธุกรรม ทั้งนี้ ตัวอย่างดีเอ็นเอที่ทำการถอดรหัสพันธุกรรมแล้วจะอยู่ในรูปของไฟล์ดิจิทัล และถูกส่งไปยังธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อทำการจัดเก็บและแปลงเป็นข้อมูลที่พร้อมสำหรับการนำไปใช้ในการวิเคราะห์ วิจัย และการพัฒนาต่อยอด เพื่อประโยชน์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข การวินิจฉัย การเลือกวางแผนการรักษาให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการทำนายโอกาสการเกิดโรคต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและมีคุณภาพมากขึ้นต่อไป

สำหรับ ศูนย์สกัดสารพันธุกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เกิดขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ที่เห็นชอบแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำข้อมูลพันธุกรรมของประชากรไทยในระยะแรกจำนวน 50,000 ราย ไปประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับระบบบริการการแพทย์ของประเทศให้เกิดมาตรฐานใหม่ที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์แม่นยำได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยมี สวรส. ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริหารจัดการกลางในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการดังกล่าว โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เพื่อให้บริการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมในโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Thailand Genome Sequencing Center) ซึ่งตั้งอยู่ภายในอาคาร 10 ปี เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา


ส่วนผู้ประกอบการ กิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ได้รับการคัดเลือกให้บริการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมดังกล่าว เป็นระยะเวลา 5 ปีด้วยงบประมาณ 458 ล้านบาท ซึ่งมีการลงนามสัญญาจ้างไปแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 โดยศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์นี้ จะรับตัวอย่างสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) จากโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้แผนงานวิจัยจีโนมิกส์ เพื่อนำไปถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม


ตัวอย่างสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ที่จะนำไปใช้ถอดรหัสพันธุกรรมนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก จึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเก็บ การขนส่ง การรับ และการสกัดตัวอย่างภายใต้ protocol ที่มีมาตรฐานเป็นไปตามข้อกำหนดด้านการวิจัยทางคลินิก มีการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนก่อนส่งไปทำการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมที่ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ซึ่ง“ศูนย์สกัดสารพันธุกรรม”ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะเป็นผู้รับบริหารจัดการตัวอย่างของโครงการแบบรวมศูนย์ ที่ทำหน้าที่ตั้งแต่การบริหารจัดการตัวอย่าง (เลือด) การสกัดสารพันธุกรรม รวมไปถึงการเก็บรักษาตัวอย่างตั้งต้น (เลือด) และตัวอย่างสารพันธุกรรม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งอยู่ภายใต้ “โครงการระบบจัดเก็บตัวอย่างและการสกัดสารพันธุกรรมแบบมาตรฐาน สำหรับแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กตู่' ซูฮกผลงานวิจัยชุดตรวจคัดกรองโรคไตระยะเริ่มต้นแบบพกพาของแพทย์ จุฬาฯ

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ชื่นชมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคไตแบบพกพาจากแพทย์จุฬาฯ พร้อมสนับสนุนสถาบันการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข

22 หน่วยงานรัฐ -เอกชน ร่วมจัดตั้ง'ศูนย์ทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ 'ถอดรหัสพันธุกรรมคนไทย

ใช้อาสาสมัคร5 หมื่นราย ไขรหัสพันธุกรรม เพื่อวางรากฐานข้อมูลรักษาผู้ป่วย 5 กลุ่มโรคแห่งอนาคต และช่วยทำให้รักษาแม่นยำ ตรงจุด  ขณะเดียวกัน ยังเป็นการนำร่องทำให้เกิดเศรษฐกิจสุขภาพในพื้นที่ อีอีซี