‘บ้านปากทะเล’ โมเดลคนอยู่ได้ นกอยู่ได้

นาเกลือไม่ใช่แค่แหล่งผลิตเกลือ  แต่เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของนกชายเลนนานาชนิด โดยเฉพาะนาเกลือของ ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี  ฤดูหนาวของทุกปีระหว่างเดือนพฤศจิกายน –เมษายน จะมีนกอพยพหนีหนาวจำนวนมากมาพักพิงอาศัยหากินอยู่ที่นี่   แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่นาเกลือลดจำนวนลงทุกปี  กลายเป็นโรงงาน หมู่บ้านจัดสรร บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ   แม้กระทั่งรีสอร์ท คาเฟ่ชิคๆ ส่งผลกระทบต่อประชากรนกอพยพ 

พื้นที่ 49 ไร่ที่บ้าน ซึ่งสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยร่วมระดมทุนกว่า 8 ล้านบาท ซื้อที่นาเกลือให้เป็นถิ่นอาศัยของนกชายเลน เมื่อปี 2562  หลังวางแนวเขต ปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับนกชายเลน สร้างเนินดินให้นกเกาะ พักผ่อน    ผันน้ำเพื่อสร้างแหล่งอาหาร รวมถึงสร้างบังไพรสำหรับดูนก  วันนี้กลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเล  โมเดลต้นแบบเพื่อปกป้องนกชายเลนและรักษาวิถีเกลือสมุทร จ.เพชรบุรี

นกชายเลนที่เข้ามาใช้พื้นที่บ้านปากทะเลฤดูกาลที่ผ่านมา

นิยม ทองเหมือน ผู้จัดการโครงการบ้านปากทะเล สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า พื้นที่นาเกลือบ้านปากทะเลมีการจัดการสร้างแหล่งอาศัย แหล่งอาหารของนกชายเลน โดยไม่มีการทำลายระบบผันน้ำที่เกษตรกรพื้นที่แห่งนี้ใช้อยู่ เพราะหากปรับพื้นที่ไม่เหมาะสมจะตัดวงจรผลิตเกลือสมุทร ส่งผลกระทบต่อผู้คน วิถีชาวบ้าน เป้าหมายสูงสุดของการอนุรักษ์คนนาเกลือและนกชายเลนอยู่ร่วมกันได้  

นาเกลือมี 3 ประเภท คือ นาตาก นาเชื้อ และนาปลง แต่ละขั้นตอน ทำให้ค่าความเค็มเพิ่มขึ้น จนเป็นเม็ดเกลือ ซึ่งสมาคมฯ ซื้อพื้นที่นาตาก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของนกชายเลน เพราะระดับน้ำและระดับความเค็มไม่สูงมาก นกหากินได้  ซึ่งพื้นที่ 49 ไร่ ชาวบ้าน ยังใช้ทำนาเกลือตามวิถีดั้งเดิม 

“ เพราะถ้าไม่มีคนทำนาเกลือ ก็ไม่มีแหล่งอาหารของนก ประชากรนกจะเบาบางไป  พื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเลเกิดจากความร่วมมือของสมาคมฯ ชุมชน และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพราะระบบนิเวศนาเกลือสมุทรและกระบวนการผลิตเกลือเป็นตัวเชื่อมร้อย เกิดแหล่งอาหารของนกชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์  การซื้อพื้นที่ตรงนี้เป็นหลักประกันว่า นาเกลือจะไม่ถูกขายหรือเปลี่ยนสภาพเป็นอย่างอื่นจากเศรษฐกิจ สังคม การขยายตัวของเมือง นโยบายพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ผังเมืองรวม ผังเมืองชายฝั่งที่เปลี่ยนไป  “ นิยม กล่าว

จากการเก็บข้อมูลปี 2564 นกชายเลนที่มาหากินบ้านปากทะเล พบว่า  เป็นนกอพยพ และนกประจำถิ่น  67  ชนิด ส่วนนกอพยพสำคัญที่บินลงมาหากินพื้นที่ตรงนี้ คือ นกชายเลนปากช้อน (Spoon-billed Sandpiper)  หรือที่เรียกกัน” สปูนนี”  นกอพยพทางไกล ระยะทาง 8,000 กิโลเมตร  ซึ่งจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ปัจจุบันทั่วโลกเหลือนกชายเลนปากช้อน 600 กว่าตัว  จากการบันทึกพบนกสปูนนีเฉลี่ย 4-6 ตัวต่อฤดูกาล  และเคยพบสูงสุด 8-10 ตัว 

นกชายเลนปากช้อน  หรือ สปูนนี 

นอกจากนี้ ยังมีนกทะเลขาเขียวลายจุด (Spotted Greenshank ) ประชากรทั่วโลกมี 2,000 ตัว มาอาศัยปากทะเล  230 ตัว ในฤดูกาลที่ผ่านมา  ที่นี่ยังจัดกิจกรรมดูนกอย่างเพลิดเพลิน และส่งรายงานข้อมูลพบนกในพื้นที่เติมเต็มฐานข้อมูลนกอพยพกับทั่วโลกอีกด้วย  ทำให้มีการวางเป้าหมายเป็นแลนด์มาร์คดูนกชายเลนแห่งแรกของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พื้นที่นาเกลือสมุทรปากทะเลประสบปัญหากัดเซาะชายฝั่ง นิยมบอกว่า ที่ดินแปลงนี้ถูกกัดเซาะไปแล้ว 25 ไร่  จึงต้องเร่งป้องกัน  มีการผสานความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดทำแผนป้องกันกัดเซาะและแนวไม้ไผ่กันคลื่น แต่ด้วยคลื่นลมแรงทำให้แนวกันคลื่นเสียหาย อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยรูปแบบการปักไม้ไผ่สลับฟันปลาในหาดเลน  โดยใช้แสมทะเลเป็นไม้เบิกนำฟื้นฟูพื้นที่

 อีกความกังวลปีที่ผ่านมาราคาเกลือสมุทรตกต่ำเหลือเกวียนละ 800 บาท จากเดิมราคา 1,500 -1,600 บาท เป็นวิกฤตสินค้าภาคเกษตรเกลือสมุทร บวกกับสภาวะโลกร้อนที่ทำให้ฤดูกาลผิดเพี้ยน  น้ำทะเลหนุนสูง  จะส่งผลให้ไม่มีคนทำนาเกลือสมุทรแบบดั้งเดิม อนาคตที่ ดินจะเปลี่ยนมือ ถิ่นอาศัยของนกชายเลนจะลดลง    

ป้ายสื่อสารพื้นที่เป็นแหล่งอาศัยนกชายเลนอพยพ

“ บ้านปากทะเลเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์แรกๆ ของไทย โดยคนเป็นหัวใจหลักในกระบวนการทำงาน สัตว์  ป่า เป็นเครื่องมือทำงานอนุรักษ์ ถ้ามุ่งปกป้องนกเป็นตัวตั้งจะไม่ยั่งยืน การบริหารจัดการพื้นที่สู่อนาคตต้องทำเรื่องเศรษฐกิจชุมชน  แม้อาชีพนาเกลือจะเหลือน้อย แต่เป็นวิถีที่มีคุณูปการมหาศาล  ต้องต่อยอดเพิ่มมูลค่าเกลือสมุทร  จังหวัดต้องสร้างตลาดให้เกษตรกรนำผลผลิตสู่ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ท้องถิ่นควรขยายผลออกเทศบัญญัติดูแลสิ่งแวดล้อมและจัดสรรงบประมาณส่งเสริมให้ชุมชนที่รักษาธรรมชาติ อย่างที่บ้านปากทะเลเกิดชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติบ้านปากทะเล เมื่อปี 2564 จากความรักและหวงแหนธรรมชาติในบ้านเกิด “ นิยม เสนอทางรอด

สำหรับโมเดลบ้านปากทะเล ผจก.โครงการฯ บอกจะพัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศชายฝั่ง นาเกลือสมุทร และนกชายเลน รวมถึงวางเป้าหมายเป็นแลนด์มาร์คดูนกชายเลนแห่งแรกของประเทศไทย  ซึ่งเพชรบุรีถือเมืองของนก ถ้าจะดูนกชนิดต่างๆ ยังมีผืนป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งดูนกชั้นนำ เราเตรียมจะผลักดันโมเดลนี้ให้เกิดในภาคเหนือ อีสาน และใต้ต่อไป  ขณะนี้สมาคมฯ ยังเปิดรับบริจาคสำหรับผู้ที่ต้องการสนับสนุนโครงการเพื่อนำไปเป็นทุนบริหารจัดการพื้นที่

นกชายเลนพึ่งพาระบบนิเวศนาเกลือสมุทร

ด้าน ขวัญข้าว สิงหเสนี ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเลเป็นการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมและเกิดจากความเข้าใจของคนในชุมชน นกอยู่ได้ คนอยู่ได้ นำมาสู่ขยายผลเพิ่มศักยภาพชุมชนในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องเกลือสมุทร การส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็นไกด์พาดูนกในพื้นที่  เพราะปากทะเลเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงง่ายที่สุดในการดูนก สามารถพบเจอนกหลายชนิดและนกหายาก หากส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จะเกิดประโยชน์ต่อชุมชน อีกทั้งเป็นพื้นที่ต้นแบบสื่อสารการทำงานอนุรักษ์จากระบบนิเวศที่เกื้อหนุนกันให้กับคนรุ่นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร้อนยาวถึงพฤษภาคม ภาคเหนือระอุสุดในประเทศ

เข้าเมษายนคนไทยเผชิญกับสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดทั่วประเทศไทย ขณะที่จังหวัดในภาคเหนือของไทยระอุที่สุด จ.ตาก วัดได้เกือบ 44 องศาเซลเซียส  อีก 2 เดือนกว่าจะพ้นหน้าร้อน กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ร้อนปีนี้ลากยาวถึงเดือนพฤษภาคม นักวิชาการกรมอุตุนิยมวิทยาที่จับตาสภาพอากาศ

'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' ไทยลงเหวมลพิษพลาสติก

ระหว่างที่ร่างสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งสมาชิก 175 ประเทศลงนามร่วมกันให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและตลอดวงจรชีวิตพลาสติก ลดการผลิตพลาสติก  เลิกผลิต เลิกใช้ ควบคุม พลาสติกบางประเภท และการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)

ครั้งแรกพบไวรัส2สายพันธุ์ในสตรอว์เบอร์รี 80 ป้องกันแพร่ระบาด ยกระดับผลผลิตคุณภาพ

นับเป็นการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย คณะนักวิจัย บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ค้นพบเชื้อไวรัส strawberry latent ringspot virus (SLRSV) และ strawberry crinkle virus (SCV) ในสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 สาเหตุการเกิดโรคใบจุดและใบย่นในพื้นที่เพาะปลูก

ปี 2566 ไทยมีคุณภาพอากาศแย่ติด 1 ใน 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2566 ของ IQAir ระบุว่าประเทศไทยมีคุณภาพอากาศในระดับที่แย่เป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวัน