ถอดโมเดล 10 จังหวัด สู้ภัยโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างผลกระทบในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยแตกต่างกัน ส่งผลให้แต่ละจังหวัดมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสู้ภัยโลกร้อนและบรรเทาความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติจากสภาพอากาศที่แปรปรวนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมี 10 จังหวัดนำร่องในการบูรณาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดภายใต้โครงการดำเนินงานด้านนโยบาย แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Policy) ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, ตาก, ยโสธร,มหาสารคาม, ชลบุรี, จันทบุรี, กาญจนบุรี สุพรรณบุรี, ชุมพร และระนอง โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ( GIZ) เป็นหน่วยดำเนินงานหลักโครงการ TGCP-Policy ซึ่งจัดพิธีมอบโล่เกียรติคุณจังหวัดนำร่องในงาน Glocal Climate Change, Act Locally, Change Globally เมื่อวันก่อนที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ กรุงเทพฯ

พิรุณ สัยยะสิทธิพานิช เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการTGCP-Policy มีระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2561-2565) วงเงิน 650 ล้านบาท มีการสนับสนุนจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2593 และเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2608 รวมถึงยกระดับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็น 30-40% ภายในปี 2570 พร้อมเสนอแนะเป้าหมายลดก๊าซในภาคส่วนหลัก ทั้งอุตสาหกรรม ของเสีย เกษตรกรรม ป่าไม้ อีกทั้งสนับสนุนพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับแรกของไทย เพื่อยกระดับการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ  รวมถึงขับเคลื่อนประเด็นโลกร้อนไปสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ผ่านการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการและมีส่วนร่วม ต่อเนื่องจากโครงการ TGCP-Policy ทส.ยังได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทำโครงการ Climate,Coastal and Marine Biodiversity ระยะเวลา5 ปี (พ.ศ.2565-2570) วงเงิน 360 ล้านบาท ขยายขอบแขตทำงานเชื่อมโยงกับความหลากหลายชีวภาพทางทะเลและชายฝั่งอีกด้วย เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของไทย

จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า 10 จังหวัดนำร่องที่บูรณาการประเด็นโลกร้อนมาจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด จะมีการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จรูปแบบต่างกันตามบริบทพื้นที่ ตนได้ให้นโยบาย สผ. ถอดบทเรียนและวิเคราะห์กุญแจสู่ความสำเร็จของแต่ละจังหวัด เพื่อใช้เป็นโมเดลนำมาขยายผลสู่จังหวัดอื่นๆ ปูพรมไปทั่วประเทศเพื่อพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อยากให้แผนแม่บทอยู่จังหวัด แม้ผู้ว่าฯ เปลี่ยน แต่แผนไม่เปลี่ยน เพื่อแก้ปัญหาไปพร้อมกัน ขณะที่ภาพใหญ่ของประเทศไทยเน้นกักเก็บคาร์บอนผ่านการปลูกป่า และดูดคาร์บอนกลับไปเก็บที่เดิม อีกทั้งแสวงหาความร่วมมือทางเทคโนโลยีและด้านการเงิน

“ รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ภาคเอกชนตื่นตัวมากประกาศเป้าหมายลดก๊าซซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของประชาชนสำคัญที่สุด ไม่ต้องเสียเวลาอธิบายปัญหาโลกร้อน แต่ต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน ตลอดจนความร่วมมือในระดับพื้นที่ภายใต้โครงการ TGCP-Policy เป็นตัวอย่างผลการพัฒนานโยบายปกป้องสภาพภูมิอากาศของไทย ซึ่ง ทส.จะรายงานความคืบหน้าในเวทีประชุมCOP 27 ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ด้วย “ ปลัด ทส. กล่าว

 10 จังหวัดเป็นต้นแบบที่ดีในการตั้งรับและปรับตัวสู้โลกร้อน ชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เผยว่า ยโสธรเป็น 1 ใน 10 จังหวัดตามโครงการ”จังหวัดก้าวไกล สู้ภัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ โดยแผนพัฒนาจังหวัดบูรณาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ  เน้นในด้านจัดการน้ำอย่างเป็นระบบบ  โดยเฉพาะพัฒนาแหล่งน้ำ จังหวัดของเรามีพื้นที่เกษตรอินทรีย์กว่า 4 แสนไร่ ทำให้คนสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี และมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงเน้นจัดการมูลฝอยชุมชน ลดปริมาณขยะด้วยการคัดแยกขยะ สิ่งเหล่านี้สนับสนุนการรับมือกับภาวะโลกร้อน ซึ่งจะดำเนินงานอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง

 ส่วน เกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าฯ มหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคามมีพื้นที่ 3.3 ล้านไร่ นำจำนวนนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 2.8 ล้านไร่ สภาพภูมิประเทศไม่มีภูเขา เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าน้อยที่สุด ราว 3% ของพื้นที่จังหวัด ไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ ขณะที่ความต้องการน้ำในภาคเกษตรปริมาณมาก โดยเฉพาะการทำนา นำมาสู่การบริหารจัดการน้ำ รวมถึงโครงการปลูกต้นไม้คนละต้น ปี 65 จังหวัดมหาสารคามปลูกต้นไม้ไปแล้ว 1.7 แสนต้น  ปีนี้เชิญชวนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท. 6 หมื่นคน ปลูกเพิ่มเพื่อต่อยอดโครงการ  จะช่วยป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง

 “มหาสารคาม มหานครปลอดการเผา ปี 65 ทำโครงการเก็บเกี่ยวตอซังเพื่อทำฟาร์มอัดก้อนได้ 1.2 ล้านก้อน นำไปขายผู้ประกอบอาชีพปศุสัตว์ นอกจากสร้างรายได้ ยังลดปริมาณตอซัง เกษตรกรปรับมาไถกลบแทนการเผาส่งผลให้ดินสมบูรณ์ ผลผลิตข้าวดีขึ้น ปีที่แล้วมหาสารคามสามารถลดจุดความร้อนจากค่าเฉลี่ย 3 ปี ได้มากกว่าร้อยละ 65 ความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือทุกภาคส่วน ซึ่งมีส่วนสนับสนุนเป้าลดก๊าซของประเทศ “ พ่อเมืองมหาสารคามกล่าว

 จ.สุพรรณบุรี เดินหน้าสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชูชีพ พงษ์ไชย รองผู้ว่าฯ สุพรรณบุรี กล่าวว่าสุพรรณบุรีฯ เป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน เผชิญภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก จากท่วม 3 เดือนยาวเป็นครึ่งปี โดยเฉพาะพื้นที่บางปลาม้า ถือเป็นพื้นที่รับน้ำ ไม่สามารถระบายน้ำลงอ่าวไทยได้ทันท่วงที และอีกหลายพื้นที่เผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหาร จังหวัดจึงเห็นสมควรขับเคลื่อนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้บรรจุในแผนพัฒนาจังหวัด โดยกำหนด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ,จัดการน้ำ,ความมั่นคงทางอาหาร และการท่องเที่ยว มีการวางแผนรับมือผลกระทบภายใต้บริบทของพื้นที่ มีการฟื้นฟูป่าที่เหลือร้อยละ 11 หรือราว 3.9 แสนไร่ ให้คงอยู่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน ตลอดจนบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพแก้น้ำท่วม

“ สุพรรณบุรีขับเคลื่อนการเกษตรอย่างยั่งยืน ลดใช้สารเคมี รวมถึงสนับสนุนท่องเที่ยวเชิงเกษตร สนับสนุนอปท. บูรณาการการทำงานร่วมกับชุมชนสู่การลดพลังงาน ลดโลกร้อน โดยกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดของ อปท. ทั้งยังขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้พลังงานทดแทน มีแผนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะหนุนคัดแยกขยะมูลฝอยมาต่อยอดเศรษฐกิจหมุนเวียน  มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน “ ชูชีพ กล่าว

 ต้นแบบทางภาคตะวันออก ยกให้จันทบุรี สุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดจันทบุรี บอกว่า จากวิสัยทัศน์จังหวัดเป็นเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เกษตรปลอดภัย จึงตั้งใจขับเคลื่อนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องแผนพัฒนาจังหวัด จีดีพีของจังหวัดเพิ่มขึ้นทุกปี   เกินครึ่งมาจากภาคเกษตร ผลผลิตหลัก คือ ทุเรียนมังคุด เงาะ ซึ่งการทำเกษตรต้องการน้ำ โลกร้อน ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล วิถีชีวิตคนจันทบุรีกระทบ สิ่งแวดล้อมก็เสียหาย กลไกที่ทำขึ้นตามแผน มีเป้าหมายปี 2570 เกษตรกรร้อยละ 60 รับรู้ตระหนักการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึง แปลงเกษตรหรือฟาร์มร้อยละ 80 ต้องผ่านมาตรฐาน GPA ระยะยาวจะขยายพื้นที่เกษตรนอกเขตขลประทานให้ได้รับน้ำมากกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2580 ตลอดจนจะสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกต่อไป

ทั้งนี้ สผ.และ GIZ เตรียมจะขยายผล 10 จังหวัดนำร่อง และสนับสนุนองค์ความรู้ เทคนิควิชาการให้กับจังหวัดต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายประเทศและร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่โลกใบนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทส. ส่งมอบความสุขวันสงกรานต์ 13-15 เม.ย. ยกเว้นค่าบริการท่องเที่ยวป่านันทนาการ 3 แห่ง

พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายขับเคลื่อนด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในรูปแบบป่านันทนาการ

'โฆษก ทส.' ซัดกลับก้าวไกล ซักฟอกด้อยค่า 'พัชรวาท' ยันลุยแก้ฝุ่นเต็มที่

'โฆษก ทส.' ป้อง 'พัชรวาท' ลุยแก้ฝุ่นพิษเต็มที่ ซัดกลับ 'ก้าวไกล' อภิปรายใส่ร้าย จ้องโจมตีด้อยค่า ไม่ทำการเมืองสร้างสรรค์

'พัชรวาท' เข้าสภาแล้ว! ตอบกระทู้ถาม สว.

'พัชรวาท' มาตอบกระทู้ สว. ปมเปิดเอกชนปลูกป่าชายเลน แจงส่งเสริมระบบนิเวศน์ ได้คาร์บอนเครดิต เอื้อประโยชน์ชุมชน ยันเดินหน้าต่อตามนโยบายรัฐบาล

‘13 มีนาคม วันช้างไทย’ ทส. - อ.อ.ป. มุ่งสื่อสารให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญ ‘การอนุรักษ์ช้างไทย’ ... พร้อมดึงพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ‘สร้างคุณค่า - เชิดชูเกียรติช้างไทย’

วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2567) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จัดแถลงข่าวในประเด็น “13 มีนาคม วันช้างไทย”

'ผู้ว่าฯ พังงา' นำทีมขึ้นเขานางหงส์ เจอร่องรอยรุกป่า

นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พร้อมด้วย นายดำรงค์ ฉิมทับ นายอำเภอทับปุด นายภัตติพงศ์ สุนทรวร ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงา