นายกฯ ห่วงสุขภาพประชาชนช่วงหน้าฝน เตือนระวังป่วยโรคไข้ฉี่หนู

นายกฯห่วงสุขภาพประชาชน เตือนช่วงนี้ฝนตกต่อเนื่องเกิดน้ำท่วมขังบางพื้นที่ ขอระมัดระวังอาจป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนู กรมควบคุมโรคแนะหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน

2 มิ.ย.2565 - นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยสุขภาพของประชาชนในระยะนี้ อาจเจ็บป่วยจากโรคเลปโตสไปโรสิส หรือโรคไข้ฉี่หนู ที่มีสาเหตุมาจากสภาพภูมิอากาศที่มีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีรับทราบรายงานการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในส่วนสถานการณ์ของโรคเลปโตสไปโรสิส หรือโรคไข้ฉี่หนู ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 22 พฤษภาคม 2565 ที่พบผู้ป่วย 356 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 45-54 ปี (18.82%) รองลงมา คือ 55-64 ปี (16.57%) และอายุ 35-44 ปี (16.01%) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรและอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ระนอง แม่ฮ่องสอน พังงา พัทลุง และสงขลา

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพโดยกรมควบคุมโรค คาดว่าในช่วงนี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรสิส หรือโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้สภาพพื้นดินเปียกชื้น หรือน้ำท่วมขังบางพื้นที่ ตามท้องถนนหรือพื้นที่ที่ทำการเกษตรต่าง ๆ เนื่องจากเชื้อก่อโรคซึ่งพบอยู่ในปัสสาวะของหนูรวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ มักจะปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำขัง พื้นดินที่เปียกชื้น ทำให้ประชาชนอาจได้รับเชื้อโรคดังกล่าวจากการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานานได้ โดยเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือการไชเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังอาจติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้แนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนู ดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำหรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงมือยาง และกรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้แผลสัมผัสน้ำโดยตรง 2. หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ พร้อมทั้งอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 3. หมั่นทำความสะอาดบ้านเรือนและสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาดไม่มีหนูชุกชุม และ 4. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดก่อนนำมารับประทาน

“การเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้ฉี่หนูได้ง่าย ย้ำว่าเชื้อโรคนี้จะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนาน และการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากฉี่หนูหรือสัตว์อื่น ๆ ที่ติดเชื้อ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังโรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคไข้ฉี่หนูเป็นพิเศษ สำหรับอาการของโรคไข้ฉี่หนูจะเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง จะปวดมากโดยเฉพาะที่น่องและโคนขา มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากประชาชนเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน แล้วมีอาการดังกล่าว กรมควบคุมโรคแนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาทันที” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โฆษกรัฐบาล เผยสนามบินสุวรรณภูมิ ติดอันดับ 58 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐนตรี เปิดเผยถึงผลสำเร็จจากการทำงานของรัฐบาลตามวิสัยทัศน์ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายก