ชี้การตรวจหาสารเสพติดเหมาเข่งในการคัดเลือกทหารกองเกินฯ ละเมิดสิทธิมนุษยชน!

กสม.ชี้การตรวจหาสารเสพติดในการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ เมื่อปี 2561 เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ชี้ต้องทำแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ใช่เหมาเข่ง

11 พ.ย.2564 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 7/2564 โดยมีวาระสำคัญ คือ ผลการตรวจสอบกรณีการบังคับตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยที่ กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กล่าวอ้างว่า เมื่อเดือนเมษายน 2561 ผู้ร้องได้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ณ จังหวัดอุดรธานี แต่เนื่องจากผู้ร้องเป็นบุคคลที่ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด จึงได้รับการปล่อยตัว ซึ่งเมื่อกระบวนการตรวจเลือกทหารกองเกิน ฯ เสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองในฐานะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ได้แจ้งให้ผู้ร้องรวมถึงผู้เข้ารับการตรวจเลือกฯ ทุกราย เข้ารับการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ โดยผลการตรวจไม่พบสารเสพติด แต่ผู้ร้องเห็นว่า การตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจเลือกฯ ทุกรายในลักษณะเหมารวม โดยไม่จำแนกและตรวจตามเหตุอันควรสงสัย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ได้พิจารณากรณีดังกล่าวประกอบหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนแล้วเห็นว่า การดำเนินการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจเลือกฯ ทุกรายของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในกรณีดังกล่าวเป็นไปโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 และมาตรา 58/1 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งมีสาระว่า ในกรณีที่จำเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพยาเสพติดในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะ ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่ ทั้งยังสอดคล้องกับประกาศสำนักงาน ป.ป.ส. ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามหนังสือสั่งการของ ศอ.ปส.ปค. ด่วนที่สุด ที่ มท 0311.3/ว 5766 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2561 เรื่อง การตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ประจำปี 2561 และเป็นไปโดยอ้างอิง สถิติระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บ.ส.ต.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 - 2563 ที่ว่า บุคคลช่วงอายุ 20 - 24 ปี เป็นกลุ่มช่วงอายุที่มีการใช้ยาเสพติดและเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษามากที่สุด มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของผู้เข้ารับการบำบัดรักษาทั้งหมด

กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อมูลดังกล่าว ไม่อาจถือได้ว่า มีเหตุอันควรในการสั่งการให้ผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ ทุกรายต้องตรวจหาสารเสพติด เนื่องด้วยกระบวนการเช่นนี้เป็นการดำเนินการในลักษณะเหมารวม โดยไม่จำแนกเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ใดเป็นผู้เสพยาเสพติด จึงถือว่าเป็นการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ร้องและผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ ทุกราย

ทั้งนี้ กสม.จะได้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตรวจหาสารเสพติดเป็นไปตามกฎหมายโดยเคร่งครัด และมีเหตุผลสมควรจำเป็นอันเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชน อันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย... การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกายจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ...” รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ซึ่งได้รับรองสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวไว้เช่นเดียวกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม.ชี้ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อจ.นครปฐม ก่อมลพิษทางกลิ่น จี้อบต. กำกับแก้ไขปัญหา

กสม. ตรวจสอบกรณีฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อจ.นครปฐม ก่อมลพิษทางกลิ่น ส่งผลกระทบต่อสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน แนะ อบต. กำกับแก้ไขปัญหา

กสม.ห่วงการละเมิดสิทธิเด็ก นักเรียนรุมทำร้ายกัน-ให้เด็กถอดเสื้อผ้าทำกิจกรรม

กสม. ห่วงการละเมิดสิทธิเด็ก กรณีนักเรียนรุมทำร้ายกันและการให้เด็กถอดเสื้อผ้าในการทำกิจกรรมในโรงเรียน ย้ำโรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย

กสม. ชี้ ประกันภัยโรคโควิด 19 ละเมิดสิทธิผู้บริโภค จี้เยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับค่าสินไหม

กสม. ชี้กรณีประกันภัยโรคโควิด 19 ละเมิดสิทธิผู้บริโภค แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข เยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน

กสม. จี้หน่วยงานรัฐ เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวทำร้ายร่างกายหมอที่ภูเก็ต คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

เวทีเสวนา กสม. พอใจการบังคับใช้กม.ป้องกันการทรมานฯ หารือ ตร.พัฒนาโรงพักต้นแบบ

เวทีเสวนากสม. พอใจการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานฯแนะสร้างความตระหนัก เสริมการมีส่วนร่วม เข้าเป็นภาคี OPCAT พร้อมหารือ ตร. ยกระดับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธาร ร่วมพัฒนาโรงพักต้นแบบไร้การทรมาน

กสม. แนะ 'พ.ร.บ.อากาศสะอาด' เน้นปชช.มีส่วนร่วม ผู้ก่อมลพิษต้องจ่ายชดใช้

ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า