ผู้ว่าฯชัชชาติ ชี้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เก็บอย่างไรก็ไม่คุ้ม

20 ต.ค.2565 - ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ว่า ปัญหาอยู่ที่การเก็บค่าโดยสาร เก็บอย่างไรก็ไม่คุ้มค่าจ้าง เพราะมีภาระหนี้ที่บริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัด หรือ เคที ว่าจ้าง บริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ให้บริการเดินรถ ปีละประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท และหาก กทม.ตัดสินใจเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 2 อัตรา 15 บาท จะมีส่วนต่างที่ต้องนำเงินจากสภากรุงเทพมหานคร(สภา กทม.) มาจ่าย จึงต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภา กทม.เพื่อบอกไว้ก่อน

“ไม่ใช่ว่าเราเก็บค่าโดยสารไปแล้ว แล้วอนาคตต้องขอเงินเพื่อมาชดเชยส่วนต่าง สภา กทม.ก็อาจจะถามว่า ทำไมตอนเก็บค่าโดยสารไม่มาบอกก่อน ว่าต้องมีส่วนต่าง ถ้าเขารู้ก่อนเขาอาจจะไม่ให้เก็บ 15 บาท ถึงแม้ว่าจะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่เราก็ไม่ปฏิเสธว่า อนาคตต้องเอาเงินของสภามาจ่ายส่วนต่าง สภา กทม.คงรอข้อมูล เราเคารพและให้เกียรติท่าน” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการตอบความเห็นส่งคืนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง ครม.ก็รอคำตอบจากสภากทม.แนบไปด้วย แต่ทางสภา กทม.มีการขอดูเอกสารเพิ่มเติม เพื่อพิจารณาโดยละเอียด แม้ว่าอาจจะไม่ทันประชุมสมัยสามัญนี้ อาจต้องขอขยาย กำลังประสานงานกันอยู่

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ปัญหาต้นตอทั้งหมดเกิดจากเรื่องต่างๆ ไม่ได้ผ่านสภา กทม. อย่างหนังสือมอบหมายการให้เดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ระหว่าง กทม. กับเคที ไม่ได้ผ่านสภา กทม. เพราะเท่าที่ฟังมาคงไม่ได้มีภาระหนี้เกิดขึ้น คิดว่าเก็บค่าโดยสารได้แล้วสามารถอยู่ด้วยตัวเองได้ แล้วไม่ต้องผ่านสภากทม. เพราะไม่ได้ใช้เงินสภากทม. ทำไปทำมาติดค่าจ้างกว่า 10,000 ล้านบาท ปัญหาเกิดจากการที่ฝ่ายบริหาร คิดเองทำเอง โดยไม่ปรึกษาสภา กทม.

“สภา กทม. ถือว่ามีอำนาจสูงสุด เพราะเขาเป็นตัวแทนประชาชน เรื่องพวกนี้ต้องไปดูให้รอบคอบ การให้สภาดู ก็คือการให้ประชาชนดูว่าสถานการณ์เป็นแบบนี้ เรื่องทั้งหมดเราไม่ได้ก่อหรอก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ฉะนั้นเราก็ต้องดูให้รอบคอบ สภาเองก็คงไม่กล้าอนุมัติอะไรง่ายๆ เงินมันก็เยอะ มีเรื่องกฎหมาย เรื่องสัญญา” นายชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า เรื่องนี้มีผู้เกี่ยวข้อง 3 คน คือ กทม. เคที และ บีทีเอสซี โดยสัญญาระหว่าง เคที กับบีทีเอสซี มีการเซ็นสัญญา ส่วน กทม.กับ เคทีในส่วนต่อขยายที่ 1 มีสัญญา ซึ่งมีความชัดเจนว่าต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ แต่ส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นแค่หนังสือมอบหมายงาน ซึ่งสภา กทม.ไม่ได้รับรู้ รวมไปถึงไม่มีการระบุว่าต้องจ่ายเงินส่วนต่างหลายพันล้าน เพราะคิดว่าจะเก็บเงินค่าโดยสารมาจ่ายหักล้างกับค่าจ้างเดินรถได้

“พอชีวิตจริง หนังคนละม้วน ก็ใช้เงินจากสภาเยอะ กลายเป็นว่าสภายังไม่เห็นแล้วจะไปอนุมัติได้อย่างไร เป็นตัวเงื่อนหลักที่จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ผ่านสภา ฝ่ายบริหารต้องทำงานตามสภา เพราะสภาเป็นคนอนุมัติกรอบงบประมาณทั้งหมด ฝ่ายบริหารอาจจะมีไอเดียเยอะแยะเลย แต่สุดท้ายแล้ว ฝ่ายสภาต้องเป็นคนดู สภาคือตัวแทนประชาชน ที่มาช่วยคัด กลั่นกรอง ดังนั้นต้องทำงานด้วยกันไป ต้องเคารพสภา” ผู้ว่าฯกทม. กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เศรษฐา’ ฟุ้งต่อยอด ‘ผ้าขาวม้า’ ขาย ตปท. ผืนละ 1 พัน ดึงแข่งรถไฟฟ้าจัดในไทย

ผ้าขาวม้าคือเครื่องหมายของการผูกมิตร มีความเป็นสากล และ muti-color ถ้าเราต่อยอดและขยายตลาดในต่างประเทศได้ ในอนาคตข้างหน้าผ้าขาวม้า ผืนละ 50 บาทอาจจะยกระดับราคาให้ เป็น 1,000 บาทได้

'ดร.เอ้' ลงพื้นที่พญาไท รับฟังปัญหาผังเมืองใหม่ ประชาชนสุดช้ำ แนะผู้ว่าฯ ต้องจริงใจ

ดร.เอ้ ลงพื้นที่พญาไท รับฟังปัญหาผังเมืองใหม่ ประชาชนสุดช้ำ แนะผู้ว่าฯ ต้องจริงใจ เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม อย่าเอื้อประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง