กสม.จี้ 'กทม.' เปิดเผยข้อมูลและรับฟังชาวบ้านก่อสร้างสะพานข้ามเจ้าพระยา

กสม.ชี้โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้รัฐสภา ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน แนะ กทม. เปิดเผยข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

10 พ.ย.2565 - นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ระบุว่า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีการสำรวจ ศึกษา ออกแบบ และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามลำดับขั้นตอนมาตั้งแต่ปี 2547 เป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยบริเวณชุมชนกำแพงเพชร 5 แขวงพญาไท เขตพญาไท ประมาณ 15 - 20 ครัวเรือน เนื่องจากต้องถูกเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผังเมือง งบประมาณของแผ่นดิน และความปลอดภัยของอาคารรัฐสภา อีกทั้งการดำเนินโครงการไม่จัดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอย่างเพียงพอ ประชาชนยังไม่ได้รับทราบรายละเอียดโครงการ และเมื่อประชาชนขอทราบข้อมูล กลับได้รับการปฏิเสธว่าไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ไม่ต้องเปิดเผยตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง หน่วยงานผู้ถูกร้อง หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 57 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่มีการเริ่มสำรวจและออกแบบโครงการได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลในการได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น โดยรัฐจะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 ได้ให้การรับรองสิทธิบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนได้ โดยมาตรา 58 รัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินโครงการใด ๆ ของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนด้วย

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า โครงการมีระยะทาง 5.9 กิโลเมตร ตั้งแต่ถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ ผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย มีทางยกระดับต่อไปบนถนนทหาร ข้ามแยกสะพานแดง แยกเทอดดำริห์ ข้ามทางรถไฟ เลี้ยวซ้ายตามถนนกำแพงเพชร 5 ผ่านแยกสะพานดำตามแนวถนนกำแพงเพชร ไปสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนพหลโยธิน โดยวัตถุประสงค์ของโครงการเดิมถูกกำหนดเพื่อรองรับรัฐสภาแห่งใหม่และศูนย์คมนาคมพหลโยธิน แต่ปัจจุบันที่ดินบริเวณที่จะพัฒนาเป็นศูนย์คมนาคมพหลโยธินได้ถูกพัฒนาเป็นที่ตั้งของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟแล้ว ประกอบกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ข้อเท็จจริงสรุปว่า นับแต่ กทม. เริ่มดำเนินโครงการได้มีประเด็นคัดค้านและข้อโต้แย้งจากหลายภาคส่วน รวมทั้งรัฐสภาได้มีหนังสือคัดค้านมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 โดยเห็นว่าโครงการจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยบริเวณอาคารรัฐสภาจากการออกแบบแนวสะพานที่คร่อมถนนบริเวณด้านหน้าตัวอาคารในระดับสูงเทียบเท่าชั้น 3 ของอาคาร ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการก่อวินาศกรรมได้โดยง่าย อีกทั้งโครงการอาจส่งผลกระทบด้านอื่น ๆ อีกหลายประการ จึงอาจไม่มีความเหมาะสมและไม่มีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน

สำหรับประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น แม้ที่ผ่านมาโครงการได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) หรือรายงาน EIA เมื่อช่วงปี 2553 - 2558 โดยจัดให้มีการประชาสัมพันธ์และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว แต่การดำเนินการดังกล่าวผ่านมาแล้วเป็นระยะเวลายาวนาน ส่งผลให้สภาพการจราจรและโครงข่ายคมนาคมขนส่งเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับรายงาน EIA ดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ด้วยเหตุผลเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม สอดคล้องกับผลการลงพื้นที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่พบว่า ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่ชุมชนกำแพงเพชร 5 และในพื้นที่ฝั่งธนบุรีหลายรายไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารหรือเข้าร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาตั้งแต่เริ่มต้น การดำเนินโครงการนี้ จึงถือว่ายังขาดการประชาสัมพันธ์และการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในชั้นต้นจนถึงชั้นการโต้แย้งทบทวนความเหมาะสมของโครงการ ทั้งประชาชนยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมที่กฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีให้การรับรองไว้ จึงเป็นการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนประเด็นการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏว่า กทม. มีกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดแต่อย่างใด

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหา และข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อ กทม. สรุปได้ดังนี้ 1.ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ กทม. จัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเริ่มดำเนินโครงการใหม่ โดยให้ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปได้รับรู้รับทราบและมีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ สามารถแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ แจ้งข้อห่วงกังวล ผลกระทบและความเดือดร้อนหรือเสียหายได้อย่างมีอิสระและครบถ้วนตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเมื่อได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน แล้วปรากฏว่าการดำเนินโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากกว่าที่เผยแพร่ข้อมูลไว้ ให้พิจารณาทบทวนถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในการดำเนินโครงการ หากจำเป็นต้องดำเนินโครงการต่อไป ต้องจัดทำมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและได้สัดส่วนกับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งต้องกำหนดให้มีมาตรการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังผลกระทบในการปฏิบัติงานทั้งในระยะก่อสร้างและระยะเปิดใช้แนวเส้นทางโครงการอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานฉบับนี้

2.ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ กทม. ให้ข้อมูลและอธิบายขั้นตอนการใช้สิทธิต่าง ๆ โดยละเอียดเป็นรายบุคคลแก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน พร้อมทั้งให้คำแนะนำอย่างเพียงพอต่อการพิจารณาตัดสินใจ อาทิ กระบวนการอุทธรณ์ค่าทดแทนตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถูกเวนคืนสามารถหยิบยกราคาประเมินที่ดินและอสังหาริมทรัพย์โดยวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับลักษณะทรัพย์สินที่ซื้อขายกันจริงตามท้องตลาด เพื่อพิจารณาชดเชยเยียวยาค่าทดแทนที่เป็นธรรม และให้คิดคำนวณเงินค่าทดแทนที่เป็นธรรมและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ถูกเวนคืนให้ครอบคลุมถึงมาตรฐานที่เพียงพอต่อการครองชีพในปัจจุบัน รวมทั้งวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยคุณค่าหรือประโยชน์ที่ได้รับนั้นต้องไม่น้อยกว่าเดิมก่อนที่จะถูกเวนคืนด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ควง 'ภริยา' เดินตลาดเช้าหัวหิน คุยสงกรานต์ปีนี้คึกคัก

“เศรษฐา“ ควง “ภริยา” เดินตลาดเช้าหัวหิน ใส่บาตรพระ โอ่ สงกรานต์เศรษฐกิจคึกคัก ลั่น ปีหน้าดีกว่านี้ ย้ำไตรมาส4 ได้เงินหมื่นแน่ พร้อมโพสต์ ฝากปชช. ให้ความรักเวลาคนในครอบครัว

กสม. เชื่อมีการใช้ 'สปายแวร์ เพกาซัส' เสนอ ครม. สั่งการตรวจสอบ หาทางป้องกัน

กสม. เชื่อมีการใช้สปายแวร์เพกาซัสละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสนอ ครม. สั่งการตรวจสอบ หาทางป้องกันการใช้งานในทางมิชอบ