บอร์ดยุทธศาสตร์ชาติ เคาะแนวทางระยะที่ 2 ปี 66-70 นายกฯสั่งจัดลำดับสำคัญพัฒนาแบบพุ่งเป้า

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในห้วงที่ 2 ปี 66-70 นายกฯ กำชับจัดลำดับความสำคัญของโครงการ/การดำเนินงาน ให้สอดคล้องสถานการณ์พัฒนาประเทศแบบพุ่งเป้าได้อย่างแท้จริง

8 ก.พ.2566 - เวลา 13.30 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2566 ร่วมกับ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การดำเนินงานยุทธศาสตร์ชาติ ขณะนี้ได้เดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 2 คือ ปี 2566-2570 โดยหลายเรื่องที่ดำเนินงานมา มีความก้าวหน้าสำเร็จส่วนหนึ่ง ขณะที่บางส่วนยังช้าอยู่ และบางส่วนยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งต้องมีการแก้ไขปรับปรุงในช่วงระยะที่ 2 ให้ดีมากยิ่งขึ้นเพื่อการสานต่องานให้ไปได้ด้วยดี โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณคณะกรรมการฯ ทุกคน เหล่าทัพ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อทำให้ประเทศชาติไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมกับย้ำว่า ต้องมีบรรทัดฐานในการเดินหน้าทำงานเป็นหลัก เป็นการทำเพื่ออนาคต วางพื้นฐานในทุกมิติ เดินหน้าทำงานในเวลาที่มีอยู่จำกัด เพื่อเตรียมส่งต่องานให้กับรัฐบาลหน้าต่อไป

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีมติเห็นชอบ 2 เรื่อง และมีมติรับทราบ 3 เรื่อง สรุปได้ ดังนี้

1. เห็นชอบแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในห้วงที่ 2 (ปี 2566-2570)
ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เรื่อง การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติตามหลักการบริหารงานคุณภาพ (Plan Do Check Act : PDCA) โดยมอบหมายสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สำนักงานฯ) นำผลการพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายหน่วยงานดำเนินการต่อไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางอย่างเคร่งครัด

โดยในส่วนของการวางแผน (Plan) หน่วยงานของรัฐและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องต้องสร้างการตระหนักรู้ให้กับบุคลากรทุกระดับ พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ภาคีการพัฒนาและประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงการปรับปรุงหลักสูตรที่มีเนื้อหาเป็นปัจจุบันกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ

สำนักงบประมาณและหน่วยงานกำกับแผนงานบูรณาการหรืองานวิจัย ต้องจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์พัฒนาประเทศแบบพุ่งเป้า หน่วยงานเจ้าภาพแผนแม่บทฯ ประสานและบูรณาการและกำกับให้หน่วยงานดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนระดับที่ 2 การปฏิบัติ (Do) ในส่วนของแผนระดับที่ 3 ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาทบทวนกฎหมายที่มีการกำหนดให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน... เพื่อให้มีแผนเท่าที่จำเป็นต่อบริบทของการพัฒนาประเทศ

สำนักงานฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันวิเคราะห์หาช่องว่างประเด็นการพัฒนาที่จำเป็นต้องมีแผน หน่วยงานเจ้าภาพทุกระดับและหน่วยงานร่วมขับเคลื่อน ดำเนินการอย่างพุ่งเป้า ในส่วนของโครงการ หน่วยงานเจ้าภาพทุกระดับและหน่วยงานร่วมขับเคลื่อน ดำเนินการอย่างพุ่งเป้า สำนักงบประมาณ พิจารณาการจัดสรรงบประมาณโดยพุ่งเป้าไปยังเป้าหมายของแผนแม่บทย่อยที่มีสถานะการบรรลุเป้าหมายในระดับวิกฤต (สีแดง) และปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญประจำปีงบประมาณ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล (Check)

สำนักนายกรัฐมนตรีเร่งประสานบูรณาการการดำเนินการให้กระทรวงกำกับผู้ตรวจราชการกระทรวง/กรม ปฏิบัติตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 อย่างเคร่งครัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงต้องจัดทำแผนการตรวจราชการที่เป็นเจ้าภาพหลัก ตามภารกิจของหน่วยงาน คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) ต้องเร่งกำหนดประเด็นการตรวจสอบและประเมินผลประจำปี โดยต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่มีสถานการณ์การบรรลุเป้าหมายในระดับวิกฤติ (สีแดง) และ/หรือ มีระดับวิกฤติต่อเนื่อง และ/หรือ เป้าที่ได้รับการประเมินสถานการณ์การบรรลุเป้าหมายในระดับวิกฤติ และการปรับปรุงการทำงาน (Act) หน่วยงานของรัฐใช้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบการปรับปรุงการดำเนินงานในทุกขั้นตอนของ PDCA บนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อให้เกิดการพุ่งเป้าไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับเรื่องกระบวนการงบประมาณ ที่ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ/การดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์พัฒนาประเทศแบบพุ่งเป้าได้อย่างแท้จริง

2. เห็นชอบการดำเนินการทบทวนพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 โดยให้สำนักงานฯ ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานฯ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ผ่านระบบกลาง (www.law.go.th.) และวิธีการอื่น ๆ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาตามขั้นตอนต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการมีมติรับทราบ 3 เรื่อง ดังนี้
1. รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 โดยรายงานประจำปี 2565 เป็นรายงานฉบับที่ 4 โดยภาพรวมของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติในห้วง 5 ปีที่ผ่านมามีสถานการณ์พัฒนาปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีบางประเด็นที่ต้องเร่งพัฒนาต่อเนื่อง

โดยเฉพาะประเด็นที่มีเป้าหมายการพัฒนาอยู่ในระดับวิกฤติ โดยการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในห้วงที่ผ่านมามีประเด็นท้าทายที่สำคัญ อาทิ ความเข้าใจของหน่วยงานของรัฐในหลักการและวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ทำให้ยังขาดความบูรณาการ ความเข้าใจของการดำเนินงานที่ควรต้องมุ่งเน้นการบรรลุผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ของ “เป้าหมาย” ส่งผลให้หลายหน่วยงานยังดำเนินงานเพื่อตอบ “ตัวชี้วัด” บางหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้นำเข้าแผนระดับที่ 3 โดยเฉพาะแผนปฏิบัติ และโครงการ/การดำเนินงานในระบบ eMENSCR รวมถึงข้อมูลสถิติ งานวิจัยต่าง ๆ ในระบบ OpenD ส่งผลให้กลไกติดตาม ตรวจสอบ และประเมินขาดข้อมูลประกอบการติดตามและตรวจสอบที่ครอบคลุม

ทั้งนี้ สำนักงานฯ เผยแพร่รายงานฯ แล้วเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ http://nscr.nesdc.go.th/nscr_report/ สำหรับ (ร่าง) รายงานผลการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 นั้น สำนักงานฯ จะนำเสนอที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปประเทศ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ตามขั้นตอนต่อไป เนื่องจากเป็นรายงานประจำปีฉบับสุดท้าย

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ให้สำนักงานฯ จัดทำรายงานฯ หลังสิ้นสุดแผนการปฏิรูปประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานของรัฐทำความเข้าใจกับประเด็นท้าทายที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ และร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติตามหลัก PDCA อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกระบวนการจัดสรรงบประมาณที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์พัฒนาประเทศ รวมทั้งศึกษาและทำความเข้าใจกับ (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2566 - 2580 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) และเอกสารประกอบการดำเนินการตาม (ร่าง) แผนแม่บทฯ ที่สำนักงานฯ ได้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ http://nscr.nesdc.go.th/ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการทำงานร่วมกัน ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายให้บรรลุในห้วง 5 ปีที่ 2 ตามที่กำหนดไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

2. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ที่คณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ในคราวการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติเห็นชอบการดำเนินงานตาม 4 แนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

(1) กลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน (คนที่ตกเกณฑ์ MPI) ทั้งที่เป็นคนที่มีบัตรสวัสดิการและไม่มีบัตรสวัสดิการ รวมจำนวน 655,365 คน (2) กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ได้ข้อมูลจากบูรณาการฐานข้อมูลที่หลากหลาย จำนวน11,023,225 ครัวเรือน 33,384,526 คน (3) กลุ่มคนที่ต้องสำรวจเพิ่มเติม จำนวน 13,220,965 คน และ (4) กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบ TPMAP (Exclusion error)

กลุ่มคนที่ไม่ได้มีข้อมูลจัดเก็บอยู่ในฐานข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งของระบบ TPMAP ทั้งในฐานของการบูรณาการฐานข้อมูลหรือข้อมูลในระดับพื้นที่ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่เป็นคนเร่ร่อน กลุ่มชาติพันธ์ กลุ่มคนไทยที่ไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งต้องสืบค้นต่อไป โดย คจพ. ได้มอบหมายให้ ศจพ. ทุกระดับ และทีมปฏิบัติการฯ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่ เร่งดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อแก้ปัญหากลุ่มเป้าหมายของ พ.ศ. 2566 อย่างบูรณาการ เพื่อให้การดำเนินการแบบพุ่งเป้า เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของการพัฒนาให้ “อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน” ต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเติมเต็มข้อมูลในระบบ TPMAP เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการแก้ไขปัญหาและพัฒนาได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

3. รับทราบแนวทางการเตรียมการทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 มีมติรับทราบมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2565 ในส่วนของแนวทางการดำเนินการภายหลังการสิ้นสุดของแผนปฏิรูปประเทศ

โดยให้สำนักงานฯ และสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกันพิจารณาทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ป.ย.ป. โดยมีแนวทางและขั้นตอนการดำเนินงานตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ให้สำนักงานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ เตรียมการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ เพื่อนำเสนอข้อมูลการเตรียมการทบทวนความจำเป็นและเหมาะสมต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาในคราวการประชุมครั้งที่ 2/2566 ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 ต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

นายกฯ ร่วมผู้นำ 17 ประเทศ แถลงเรียกร้องปล่อยตัวประกันในกาซา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "วันนี้ ผมร่วมกับผู้นำ 17 ประเทศที่มีตัวประกันที่ยังอยู่ในกาซา ออกถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย