ชี้ช่อง เร่งสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิ สกัดสมองไหล บุคลากรทางการแพทย์

วงอภิปรายสภาที่ 3 ชี้ ระบบสุขภาพปฐมภูมิ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการรักษา ลดภาระแพทย์และแก้โรคสมองไหล

18 มิ.ย.2566 - เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 18 มิถุนายน 2566 เวลา 10.30-12.00 น. สภาที่ 3 จัดเวทีสภาที่ 3 Speak วาระประเทศไทย เรื่อง "ระบบสุขภาพปฐมภูมิตามรัฐธรรมนูญ - การแก้สมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์" ถ่ายทอดสดทาง Facebook Live โดยนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ผู้ริเริ่มงสร้างสุขภาพปฐมภูมิตามรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน กล่าวว่า ได้ผลักดันเรื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิ จนสามารถปลูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กระทั่งมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ระบบสุขภาพปฐมภูมิออกมารองรับแล้ว รวมทั้งการมีแพทย์วิทยาศาสตร์ครอบครัวรองรับในบางโรงพยาบาล จึงยืนยันว่าเรื่องนี้ทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศ ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 18 มิถุนายน 2566 เวลา 10.30-12.00 น. สภาที่ 3 จัดเวทีสภาที่ 3 Speak วาระประเทศไทย เรื่อง "ระบบสุขภาพปฐมภูมิตามรัฐธรรมนูญ - การแก้สมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์" ถ่ายทอดสดทาง Facebook Live "สภาที่สาม - The  Third Council Speaks" กล่าวเปิดประเด็นโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายแพทย์ (นพ.) ชูชัย ศุภวงศ์ ผู้ริเริ่มสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิตามรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน , นายกิตติพันธุ์ ศิริคุปต์เกษ จาก Alliance Intertrade , นายจีรวุฒิ วงศ์พิมลพร จากบริษัท โค้ดดิ้ง ฮับ จำกัด (Coding Hub) ผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์โซลูชั่น เครือ Huawei และนายแพทย์สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าวุ้ง จ.ลพบุรี

 

โดยนพ.ชูชัย กล่าวว่า ได้ผลักดันเรื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน จนสามารถบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กระทั่งมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ระบบสุขภาพปฐมภูมิออกมารองรับแล้ว รวมทั้งการมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวรองรับในบางโรงพยาบาลชุมชน จึงยืนยันว่าเรื่องนี้ทำให้เกิดประโยชน์กับชุมชนสังคมและประเทศ ไม่ใช่ของข้าราชการประจำหรือนักการเมือง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบทพยายามทำงานคู่ขนานในส่วนที่ติดระเบียบระบบราชการ รวมทั้งการส่งเสริมด้วยการเชื่อมต่อกับสปสช.ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประสานกับ สสส. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) รวมทั้งองค์กร เครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ ตลอดจนมีพรรคการเมืองหลายพรรคให้ความสนใจและมี หนึ่ง พรรคการเมืองได้สังเคราะห์นำมาเป็นนโยบายด้วย ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งก็ให้ความสนใจที่จะดำเนินการเรื่องปฏิรูประบบสาธารณสุขหรือสุขภาพปฐมภูมิและแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในระดับพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ

 

“ส่วนการแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ลาออกเนื่องจากมีงานหนักนั้นเป็นเรื่องระยะยาว แต่ระยะสั้นที่เห็นผลบ้างแล้วคือ มีแพทย์จบใหม่หันมาสนใจมาเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมากขึ้น จะเห็นว่าหากดำเนินการเรื่องปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิเชิงรุกเข้าไปถึงครัวเรือน ถึงชุมชน ให้เกิดผลเป็นจริงจะช่วยลดภาระงานของโรงพยาบาลได้อย่างมาก อีกทั้งต้องเร่งผลิตนักบริบาลท้องถิ่น ซึ่งตนได้เสนอพรรคการเมืองบางพรรคให้ผลิตนักบริบาลท้องถิ่น 100,000 คนต่อปีที่จะสามารถดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงได้ 1 คนต่อ 3 ครัวเรือน ได้ประมาณ 200,00 ครอบครัวในเบื้องต้น ให้งบประมาณไม่เกิน หนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี รวมทั้งการเร่งยกระดับร้านยาที่มีคุณภาพ พร้อมเภสัชกรปฐมภูมิ ทั่วประเทศประมาณ 15,000 ร้าน ทางเลขาธิการสป.สช. นพ.จเด็ด ธรรมธัชอารีย์ พร้อมที่สนับสนุนร้านยาคุณภาพทั่วประเทศโดยคนไทยเข้าไปรับยาจากร้านยาคุณภาพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากนี้ทางนายกสภาเภสัชกรรมรศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี เภสัชกรปฐมภูมิมีบทบาทที่สำคัญมากในการลดผู้ป่วยที่จะเข้าโรงพยาบาลได้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนต่อปี”

 

นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า  น่ายินดีที่มีพรรคการเมืองบางพรรคให้ความสนใจนำไปเป็นนโยบาย ที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคนได้ และหากดำเนินการในระดับนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในการเร่งผลิตนักบริบาลท้องถิ่นร่วมกับ อปท. รวมทั้งที่มีค่าตอบแทนหรือเงินเดือนประมาณ 12,000 บาท เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับจากชุมชนทั่วประเทศ  ส่วนการฝึกอบรมระยะสั้น( 72ชั่วโมงต่อรุ่น) ทั่วประเทศ ใช้เวลาเพียง 6-9 เดือนสามารถสร้างบุคลากรนักบริบาลท้องถิ่นได้ 100,000 อัตรา ดูแลประชากรได้ 200,000-500,000 ครอบครัวทั่วประเทศ ที่สำคัญผู้สูงอายุ ครอบครัวและญาติจะมีความสุข แม้แต่การต้องสิ้นใจในวาระสุดท้ายของชีวิต ก็จะจากไปสู่สุคติเพราะได้สิ้นใจที่บ้านใกล้ชิดลูกหลานและญาติมิตรในวาระสุดท้ายที่ผู้ป่วยล้วนปรารถนา และในขณะที่ประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิรูประบบอื่นๆได้ก็ควรจะปฏิรูประบบสุขภาพที่สามารถทำได้และเห็นผลแล้วให้สมกับที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่ามีระบบสุขภาพที่ดีลำดับต้นๆของโลก

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ระบุว่า รัฐธรรมนูญได้มีการบัญญัติเรื่องแพทย์วิทยาศาสตร์ครอบครัว ซึ่งเป็นระบบสาธารณสุขเชิงรุก หากดำเนินการได้จะช่วยชาวบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นการดูแลอย่างองค์รวมตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน อีกทั้งร้านขายยาทั่วประเทศราว 15,000 แห่ง ถ้าระบบปฐมภูมิทำได้สมบูรณ์ ประชากร 40% ที่เข้าร้านขายยานั้น ถ้าพัฒนาระบบให้ประชาชนเข้าร้านยาโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เป็นคนจ่ายให้ 180 บาทต่อราย โดยมีเภสัชกร อธิบายการใช้ยาอย่างมีคุณภาพ เชื่อว่าจะลดความแออัดของโรงพยาบาลได้อย่างน้อย 2 ล้านคนต่อปี

“ยืนยันว่าจะลดภาพ ที่เห็นคนไข้ติดเตียงต้องเหมารถมาโรงพยาบาลจนถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว ซึ่งการทำงานชำนาญเชิงรุกจะครอบคลุมทั้งกรณีผู้ป่วยกดทับ ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดไส้ติ่งและอื่นๆที่สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อสม.และนักบริบาลท้องถิ่นดูแลร่วมกัน” นพ.สันติ ระบุ

นายกิตติพันธุ์ ศิริคุปต์เกษ จาก Alliance Intertrade ระบุว่า ปัจจุบันมี application ใช้รองรับการตรวจและรักษาผู้ป่วย แล้วผู้ป่วยหรือญาติผู้ดูแลสามารถดำเนินการเองได้ผ่านระบบเทคโนโลยี 5g ทำให้ส่งผ่านข้อมูลได้เร็วขึ้นมากช่วยเติมเต็มความจำเป็นของแพทย์วิทยาศาสตร์ครอบครัว ซึ่งผู้เกี่ยวข้องและผลักดันเรื่องนี้ได้มีการอบรมถ่ายโอนความรู้ให้กับศูนย์เด็กเล็ก ที่เทคโนโลยีดังกล่าวใช้ได้ทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์โดยเห็นว่าควรขยับการอบรมในหมู่บ้านเพื่อพัฒนาและเติมเต็มระบบสาธารณสุขและการศึกษาที่ควรเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก

นายกิตติพันธุ์ ระบุด้วยว่า ในส่วนการขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์หรือ สมองไหล ที่พูดจบแพทย์ไปทำงานสวนอื่นและเป็นปัญหาของประเทศที่ผ่านมานั้น เห็นว่ามีแพทย์จบใหม่ราว 3,000 คนต่อปีมี 2,400 คนที่อยู่ในระบบอีกประมาณ 600 คนเปลี่ยนอาชีพ เพราะวงการสาธารณสุขไม่ตอบโจทย์และแพทย์ทำงานหนักเกินไปไม่คุ้มกับค่าตอบแทน โดยยืนยันว่าทางบริษัทเห็นความสำคัญของปัญหานี้

“มองว่าควรจะมีวิทยาการหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยให้หมอไม่ต้องทำงานหนักเกินไปหรือให้ การทำงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัวที่สมดุลกัน และโรงพยาบาลบางแห่งได้ดำเนินการแล้วยืนยันว่ามีประสิทธิภาพดี พร้อมกันนี้สนับสนุนให้หน่วยงานสาธารณสุขทำโครงการร้านขายยาให้เป็นเซ็นเตอร์โดยให้ประชาชนใช้บัตรประกันสุขภาพเข้าร้านขายยาได้เลย เพียงใช้เทคโนโลยีลิงค์กับหน่วยงานภาครัฐ “นายกิตติพันธุ์ ระบุ

นายกิตติพันธุ์ กล่าวยืนยันว่า การอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยทางการแพทย์เป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของไทยได้ โดยหน่วยงานกลางในกรุงเทพฯสามารถเทรนนิ่งออนไลน์หรืออบรมออนไลน์เจ้าหน้าที่บริบาล อสม.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยในส่วนงานระดับจังหวัดที่สามารถอัพสกิลหรือรีสกิลบุคลากรได้ จะทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศพัฒนาไปได้อีกหลายขั้น

ทางด้าน นายอดุลย์นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35   กล่าวว่า โชคดีมีหลายจังหวัดอยากจะดำเนินการเรื่องสุขภาพปฐมภูมิและแพทย์วิทยาศาสตร์ครอบครัว โดยเฉพาะจังหวัดพะเยาที่ให้ความสนใจพยายามร่วมมือกับ อปท. โดยจังหวัดพะเยามีประชากรไม่มากนักซึ่งน่าจะนำร่องได้ เพราะหากรอให้รัฐบาลดำเนินการก็ไม่ทราบว่าจะใช้เวลายาวนานแค่ไหน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอตังค์' ยูทูบเบอร์ดังเคลื่อนไหว หลังโดนคนกัมพูชาลอกคอนเทนต์

เพิ่งมีกระแสร้อนแรงไม่กี่วันก่อนเมื่อยูทูบเบอร์ชาวกัมพูชาที่ชื่อว่า 'Doctor Sem Ratana' ลอกคอนเทนต์ของยูทูบเบอร์-แพทย์หนุ่ม ตังค์-มรรคพร ขัติยะทองคำ เจ้าของรายการ "เวรชันสูตร" จากช่อง "Tang Makkaporn" ที่มียอดติดตามกว่า 1 ล้านคน

ผงะ! พบศพเหลือแต่โครงกระดูก เกยซอกหินริมทะเล

ร.ต.ท.ณัฐธนน ลิ่มประจวบพงษ์ รอง สว.(สอบสวน) แจ้งว่า ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุ สภ.ปากพนังว่า พบโครงกระดูกมนุษย์ ริมแนวกั้นคลื่นริมชายทะเล ม.9 ต.ท่าพยา อ.ปากพนัง

ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม! ศาลไม่ให้ประกัน 'ตะวัน' ชี้อยู่ในการดูแลแพทย์ใกล้ชิด

คืบหน้า! ศาลอาญายังไม่ให้ประกัน "ตะวัน - ณัฐนนท์" ชี้อยู่ภายใต้การดูแลแพทย์ใกล้ชิด ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม 

'หมอยง' เตือน 'โนโรไวรัส' ระบาดหนัก 1-2 เดือนนี้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โนโรไวรัส