แยก ‘ประกันสังคม’ พ้นระบบราชการ นักวิชาการหนุน ‘สปสช.’ ดูแลรักษาพยาบาลผู้ประกันตน

นักวิชาการมธ. หนุนแยก ‘ประกันสังคม’ ออกจากระบบราชการ เพื่อให้มืออาชีพบริหารกองทุน เพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพ เสนอเพิ่มสัดส่วน ’ผู้ประกันตน‘ ในบอร์ด สปส. ให้มากกว่า ’นายจ้าง-ภาครัฐ‘ พร้อมแนะให้ สปสช. ดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาล ส่วนประกันสังคมมุ่งดูแลสวัสดิการด้านอื่นแทน

23 ก.พ. 2568 - จากกรณีที่กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้าเตรียมเสนอกฎหมายเพื่อแยกประกันสังคมออกนอกระบบราชการแบบเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ด้วยเหตุผลว่า จะสร้างความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนประกันสังคมได้ โดยมีผู้บริหารมืออาชีพและไม่ติดกรอบระเบียบราชการ

ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า แนวคิดเรื่องการแยกประกันสังคมออกนอกระบบราชการเป็นแนวคิดที่ดี ซึ่งทางสหภาพแรงงานได้เรียกร้องมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ฉะนั้นการขับเคลื่อนเรื่องนี้ท่ามกลางฉันทามติของประชาชนที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูประบบประกันสังคมอยู่ในขณะนี้ อาจจะผลักดันได้ง่ายกว่าเรื่องการรวมกองทุน 3 กองทุนเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

ดร.กฤษฎา กล่าวว่า หลักการสำคัญของการแยกประกันสังคมออกมาคือความเป็นอิสระขององค์กร ซึ่งสามารถดำเนินการผ่านกระบวนการหรือวิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ที่จะต้องตอบโจทย์และเป็นตัวแทนทุกฝ่ายอย่างแท้จริง อีกทั้งจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบ กำกับติดตามการทำงาน โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ส่วนรูปแบบองค์กรจะเป็นองค์การมหาชน หรือเป็นหน่วยที่จัดตั้งขึ้นโดยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คงเป็นเรื่องที่พูดคุยกันต่อได้ในรายละเอียดอีกทีได้

“มาจนถึงวันนี้ ถ้าเราเอาแต่คิดเรื่องดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมอย่างเดียวก็ไม่ได้ทำให้รายได้หรือเงินที่มีอยู่เพิ่มพูนตามไปด้วย เพราะคนเข้ามามากขึ้นอัตราการจ่ายออกก็ย่อมมีแนวโน้มมากขึ้นเช่นเดียวกัน มันจึงต้องมีผู้บริหารกองทุนที่มีความเป็นมืออาชีพเข้ามาบริหารเงินสมทบของผู้ประกันตน ให้งอกเงยมากขึ้นด้วย นอกจากนี้การประเมินความเสี่ยงระดับโลกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด วิกฤติเศรษฐกิจ ที่จะเข้ามากระทบกับเม็ดเงินในกองทุนประกันสังคม นี่คืออีกเหตุผลที่ต้องมีผู้บริหารกองทุนมืออาชีพเข้ามาคอยประเมินสถานการณ์ และหาวิธีในการเฝ้าระวังและรับมือแบบกองทุนอื่นๆ ทั่วโลก” ดร.กฤษฎา กล่าว

นอกจากนี้ ต่อกรณีที่มีการตั้งคำถามและมีความกังวลว่าการแก้ไขเพิ่มเติม "ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม" ที่ได้เสนอไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2565 และกำลังจะนำเข้ามาพิจารณา อาจทำให้มีการยกเลิกระบบการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนในบอร์ดประกันสังคมนั้น ดร.กฤษฎา กล่าวว่า เห็นด้วยว่าสัดส่วนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนควรมาจากระบบการเลือกตั้ง และมากกว่านั้นคือสัดส่วนของผู้ประกันตนควรมีจำนวนมากกว่าสัดส่วนของฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายรัฐบาล

“คนอื่นอาจจะมองว่าระบบสัดส่วนควรจะมีการแบ่งฝ่ายละเท่าๆ กัน (รัฐ-นายจ้าง-ลูกจ้าง) แต่ส่วนตัวอาจจะมองต่างออกไป เพราะคิดว่าสัดส่วนของฝ่ายลูกจ้างหรือผู้ประกันตนควรจะต้องมากกว่า เพราะจากประวัติศาสตร์ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เวลาตัดสินใจทางนโยบายใดๆ ก็ตามแต่ จะพบว่าฝ่ายรัฐกับฝ่ายนายจ้างมักจะไปในทิศทางเดียวกันเสมอ ไม่ใช่แค่ประกันสังคมเท่านั้น แต่รวมไปถึงบอร์ดไตรภาคีอื่นๆ ที่มาจากการสรรหาหรือการแต่งตั้งในกระทรวงแรงงานด้วยเช่นเดียวกัน จึงคิดว่าสัดส่วนของผู้ประกันตนควรจะต้องมากกว่า” ดร.กฤษฎา กล่าว

ดร.กฤษฎา กล่าวต่อไปว่า หากสามารถช่วยกันติดตามให้ตัวแทนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนยังคงมาจากการเลือกตั้ง และแก้ไขการเพิ่มสัดส่วนฝ่ายผู้ประกันตนให้มากกว่าทั้งสองฝ่ายตามหลักไตรภาคี รวมไปถึงการดำเนินการแยกประกันสังคมออกนอกระบบราชการได้ ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าจะนำมาซึ่งความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการบริหารกองทุนประกันสังคมจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะร่วมกันผลักดันเรื่องการรวมกองทุนเฉพาะส่วนของการรักษาพยาบาลต่อไปในอนาคต ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่และไปไกลกว่าบทบาทและอำนาจของประกันสังคม ที่จะต้องผลักดันให้กลายวาระระดับชาติ โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกรัฐบาล ร่วมมือกับหลายหน่วยงานมากมายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ในอนาคตควรจะต้องกลับมาพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของประกันสังคม ซึ่งหากถ่ายโอนทั้งหมดไปให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นฝ่ายดูแล จะทำให้สิ่งที่เรียกว่าหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ขณะที่กองทุนประกันสังคม สามารถนำเงินส่วนต่างที่ไม่ต้องดูแลเรื่องบริการสุขภาพ กว่าปีละ 7 หมื่นล้านบาท ไปเพิ่มเติมสวัสดิการด้านอื่นๆ ให้ผู้ประกันตนแทน เช่น นำไปเพิ่มเงินบำเหน็จ-บำนาญชราภาพ ให้มากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงวัย ให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันในการดูแลตนเองในระดับพื้นฐาน

เมื่อถามต่อถึงกรณีที่กฎหมายบังคับให้แรงงาน (ที่มีนายจ้าง) ต้องเข้าระบบประกันสังคม ซึ่งผู้ประกันตนบางส่วนมองว่า ได้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลน้อยกว่าสิทธิบัตรทอง และสิทธิข้าราชการ ด้วยเหตุนี้ ควรจะมีการเปิดช่องให้ผู้ประกันตนเลือกได้หรือไม่ ว่าจะใช้สิทธิบัตรทอง หรือสิทธิประกันสังคม

ดร.กฤษฎา กล่าวว่า ระบบประกันสังคมไม่ได้ดูแลเพียงแค่การรักษาพยาบาล แต่ยังมีสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น เรื่องการคลอดบุตร เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เงินชดเชยจากการว่างงาน เงินบำนาญ ฯลฯ ซึ่งเป็นการประกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกันตน สิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกประเทศ จึงต้องมีมาตรการบังคับให้ลูกจ้างเข้าสู่ประกันสังคม

“นอกจากนี้ ทิศทางและอนาคตของระบบราชการที่จะมีลูกจ้างภาครัฐ (ใช้สิทธิบัตรทอง) และพนักงานราชการ (ใช้สิทธิประกันสังคม) เยอะมากขึ้น จึงทำให้สัดส่วนของข้าราชการที่เบิกจ่ายค่ารักษาจากกรมบัญชีกลาง มีจำนวนที่น้อยลงเรื่อยๆ เพราะรัฐเองก็ต้องการลดบทบาทเรื่องสวัสดิการข้าราชการอยู่แล้ว เหมือนกับที่อาจารย์มหาลัยโดนกันไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการกู้เงินกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งหากเราสามารถรวมกองทุนประกันสังคมและบัตรทองได้ ก็จะเป็นการปูรากฐานการดูแลระบบบริการสุขภาพให้แข็งแรง ก่อนจะนำไปสู่การรวมกองทุนการรักษาที่มีมาตรฐานและคุณภาพเดียวกันสำหรับประชาชนทุกคน” ดร.กฤษฎา กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แนะบรรจุวิชาบังคับ 'ความรู้การเงิน' ป.1- ป.ตรี แก้ 'หนี้ครัวเรือน-NPL' ยั่งยืน

นักวิชาการธรรมศาสตร์ เผยไทยต้องผลักดัน ‘ความรู้ทางการเงิน’ เป็นวาระแห่งชาติ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่ง-ตัวเลขการออมคนไทยต่ำ รัฐต้องแบกรับภาระงบอุดหนุน-ช่วยเหลือ แนะเร่งจัดทำหลักสูตรความรู้การเงิน ตั้ง ป.1 – ป.ตรี ทันที ไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่!

'แพทย์จุฬาฯ รุ่น 35' ออกโรงค้าน! ประเทศไทยไม่พร้อมมี 'กาสิโน'

ศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น 35 ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'โครงการกาสิโนของรัฐบาล : ตัวตนและเค้ามูลที่ปรากฎ'

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการด้านกฎหมาย เขียนบทความในรูปถาม- ตอบ เรื่อง "โครงการกาสิโนของรัฐบาล : ตัวตนและเค้ามูลที่ปรากฎ" โดยมีเนื้อหา ดังนี้

จ่ายแล้ว 22 ราย 17.4 ล้าน! ก.แรงงานเยียวยาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

กระทรวงแรงงานจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวแล้ว 17.4 ล้านบาท พร้อมเตรียมช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ หากเอกสารครบสามารถดำเนินการเสร็จภายใน 7 วัน

นี่คือสถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ รบ.ต้องยกหูเจรจา 'ทรัมป์' ภายในคืนนี้! นักวิชาการ มธ. ระบุ 'ยิ่งช้ายิ่งเจ็บ'

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้การตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์ คือสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเร่งเจรจาอย่างช้าที่สุดภายในคืนนี้

ชงตั้ง 'ผู้จัดการภัยพิบัติ' สู้ 'เฟกนิวส์' แนะรัฐผนึก Google ตรวจจับแรงสั่นสะเทือน ใช้แอนดรอยด์ 2,000 ล. เครื่องเป็น sensor

นักวิชาการธรรมศาสตร์ แนะรัฐบาลเร่งจัดตั้งผู้จัดการภัยพิบัติ ทำหน้าที่สื่อสารสังคม-ประชาชน สร้างความชัดเจนข้อมูลแผ่นดินไหว ป้องกันประชาชนตระหนก เสนอผนึก Google ใช้ ‘แอนดรอยด์’ กว่า 2,000 ล้านเครื่อง ทำหน้าที่เป็น sensor ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนขนาดเล็ก