รัฐบาลลุยดับไฟป่าลดฝุ่นPM2.5 ฮึ่มเผาเจอโทษหนัก-จ่ายค่าฟื้นฟู

28 มี.ค. 2568 – นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นขณะนี้ รัฐบาล โดยทุกส่วนราชการร่วมมือบูรณาการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละออง PM2.5 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการปฏิบัติการเฝ้าระวัง ควบคุมไฟป่า และหมอกควัน ในพื้นที่ 14 กลุ่มป่า พร้อมกับลงพื้นที่ทำงานภาคสนามของเจ้าหน้าที่ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ โดยการใช้เทคโนโลยีในการดับไฟและตรวจหาไฟป่า การประชาสัมพันธ์เชิงรุกงดเผาป่า และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น​ ลงโทษผู้ลักลอบเผาป่าอย่างจริงจัง

ทัังนี้ จากรายงานสถานการณ์จุดความร้อน (Hotspot) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 27 มีนาคม 2568 มีจุดความร้อนสะสมทั้งประเทศ จำนวน 80,312 จุด โดยเกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 20,772 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 23,804 จุด และนอกพื้นที่ป่า จำนวน 35,736 จุด ขณะที่สถานการณ์จุดความร้อนที่เกิดขึ้นนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาและร่วมมือป้องกันไฟป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือจากประชาชนในการงดการเผาในพื้นที่ป่า

เนื่องจากสาเหตุหลักของการเกิดไฟป่าในประเทศไทยนั้นเกิดจากมนุษย์ที่มีพฤติกรรมต่างๆ ในการเผา ไม่ว่าจะเป็น 1.การเก็บหาของป่า เช่น ไข่มดแดง เห็ด ผักหวาน และไม้ฟืน ซึ่งจุดไฟส่วนใหญ่เพื่อให้พื้นป่าโล่ง เดินสะดวก หรือให้แสงสว่างในเวลากลางคืน 2.การลักลอบล่าสัตว์ ในการจุดไฟไล่ให้สัตว์หนีออกจากที่ซ่อน หรือจุดไฟเผาทุ่งหญ้า เพื่อให้หญ้าใหม่แตกระบัด ล่อดักยิงให้สัตว์ชนิดต่างๆ ขณะมากินอาหาร 3.การบุกรุกตัดไม้ในพื้นที่ป่า จุดเผาเพื่อให้ป่าโล่งเตียนและสะดวกในการชักลากไม้ 4.การเลี้ยงปศุสัตว์ ที่ประชาชนบริเวณใกล้พื้นที่ป่าปล่อยให้สัตว์หากินเองตามธรรมชาติ และจุดไฟเผาป่าให้โล่งมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าเพื่อเป็นแหล่งอาหารสัตว์ 5.การเผาไร่ เพื่อกำจัดวัชพืชหรือเศษซากพืชที่เหลืออยู่ภายหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในรอบต่อไปโดยปราศจากการควบคุมลามเข้าป่าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

6.การแกล้งจุดหรือการกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ประชาชนในพื้นที่มีปัญหาความขัดแย้งกับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องที่ทำกินหรือถูกจับกุมจากการกระทำผิดในเรื่องป่าไม้ และ 7.การประมาท ที่อาจเกิดจากการเข้าไปพักแรมในป่า ก่อกองไฟแล้วลืมดับ หรือการทิ้งบุหรี่ที่ทำให้ประกายไฟลุกลามจนเกิดเป็นไฟป่าขนาดใหญ่ได้ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารและชีวิตสัตว์ป่า อีกทั้งส่งผลต่อปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง และPM2.5 ที่มีสถานการณ์รุนแรงในปัจจุบัน

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีมาตรการเชิงรุกในการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการเผาป่าอย่างจริงจัง โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์แล้วทั้งสิ้น จำนวน 63 คดี ผู้ต้องหา 21 คน พื้นที่เสียหาย 2,772 -0 -64.25 ไร่ และกรมป่าไม้ ดำเนินการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแล้วทั้งสิ้น จำนวน 94 คดี พื้นที่เสียหาย 6,044 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มี.ค. 68)

ทั้งนี้ การกระทำความผิดฐานเผาป่า นอกจากจะถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 – 2,000,000 บาท ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถลงโทษเพิ่มเติมได้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ผู้กระทำผิดจะต้องรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรป่าไม้ในอัตราไร่ละ 120,000 บาท โดยเงินค่าเสียหายนี้จะนำไปใช้ในการฟื้นฟูสภาพป่าและระบบนิเวศที่ถูกทำลายจากไฟป่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นพดล' แนะรัฐบาลปรับทำงานเชิงรุก ลุย 4 เรื่องใหญ่ แก้ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา  

อดีตรมว.ต่างประเทศ แนะรัฐบาลปรับการทำงานให้เข้มขึ้น ควรดำเนินมาตรการเพิ่ม 4 เรื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาไทย-กัมพูชา

เอาแล้ว! รัฐบาลลุยปราบแรงงานต่างชาติลักลอบทำงานผิดกฎหมาย

รองโฆษกรัฐบาลเผย ตรวจเข้มทั่วประเทศ ปราบปรามแรงงานต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน ย้ำทำผิดซ้ำเจอโทษหนัก ทั้งคนงานและนายจ้าง ระบุเฉพาะปีงบฯ 68 จับแล้วกว่า 2,500 ราย

'ครม.สัญจร' พิษณุโลก สะดุด! 'อิ๊งค์' รอปรับชุดใหม่เสร็จ เลื่อนไป ก.ค.

นายกฯ เลื่อนประชุมครม.สัญจร พิษณุโลก ติดภารกิจต่างประเทศ พร้อมรอปรับคณะรัฐมนตรีเสร็จ ประเดิมชุดใหม่สัญจรเดือน ก.ค.

รบ.ฟุ้งชาวยุโรปนิยมอาหารสัตว์ไทย

ตลาดอาหารสัตว์จากไทยชาวยุโรปนิยม พบยอดขายพุ่งอย่างต่อเนื่องปี 67 ส่งออกไปแค่เบลเยียมประเทศเดียวสุดคึกคักถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ รัฐบาลย้ำสนับสนุนในทุกมิติ