คุณหญิงสุดารัตน์-30 ปีบนถนนการเมือง เดินหน้านำพา"พรรคไทยสร้างไทย" ทางเลือกใหม่ -ทางรอดของประเทศ

หนึ่งในนักการเมืองระดับคีย์แมน-แถวหน้าของประเทศไทย ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและอยู่ในวงการการเมืองมายาวนาน ผ่านตำแหน่งสำคัญทางการเมืองและมีผลงานที่โดดเด่นมากมายทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ  นั่นก็คือ”คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์”ที่ปัจจุบันกำลังบุกเบิกจัดตั้ง”พรรคไทยสร้างไทย”พรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ที่ถูกจับตามองและเป็นที่พูดถึงในแวดวงการเมือง หลังนำเสนอนโยบายพรรคหลายเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ เช่น “บำนาญประชาชน 3,000 บาทต่อเดือน"เป็นต้น

อย่างแรกเลยที่เราภาคภูมิใจ เราเป็นนักการเมืองที่มือสะอาด ไม่มีเรื่องทุจริตโกงกิน แม้แต่เรื่องเดียว เราไม่เคยถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่เคยถูกตั้งกระทู้ถามในเรื่องงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะงานใหญ่ๆ ทุกงาน จากที่เคยเป็นรัฐมนตรีที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เราไม่มีเรื่องเหล่านี้

วันอังคารที่ 22 มีนาคม 2565  คือวันครบรอบ 30 ปีบนถนนการเมืองของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์-ประธานพรรคไทยสร้างไทย” เพราะคุณหญิงสุดารัตน์เข้าสู่การเมืองอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2535 ที่เป็นวันซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 12 พรรคพลังธรรม ที่เคยมีพลตรีจำลอง ศรีเมืองเป็นหัวหน้าพรรค

30 ปีบนถนนการเมือง”และก้าวย่างทางการเมืองต่อจากนี้ ในฐานะประธานพรรคไทยสร้างไทยจะเดินต่อไปอย่างไร “คุณหญิงสุดารัตน์”กล่าวถึงเรื่องราวทั้งหมด ระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษในครั้งนี้ 

-ความภาคภูมิใจของการอยู่บนถนนการเมืองที่ผ่านมาสามสิบปี?

ผลงานที่ภาคภูมิใจต้องบอกว่า อย่างแรกเลยที่เราภาคภูมิใจ เราเป็นนักการเมืองที่มือสะอาด ไม่มีเรื่องทุจริตโกงกิน แม้แต่เรื่องเดียว เราไม่เคยถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่เคยถูกตั้งกระทู้ถามในเรื่องงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะงานใหญ่ๆ ทุกงาน จากที่เคยเป็นรัฐมนตรีที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เราไม่มีเรื่องเหล่านี้

ในสมัยเป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์ สินค้าผลิตผลทางการเกษตรที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ เราไม่เคยไปใช้วิธีประกันหรือจำนำที่ทำให้เกิดปัญหา ไปดูได้ ไม่มีแม้แต่ตัวเดียว

นอกจากนี้ เราไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อย ทุจริตเลย อาจมีการถูกใส่ร้าย ตอนรัฐประหารปี 2549 เรื่องการประมูลคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุข 900 ล้านบาท ซึ่งอันนั้นคือการใส่ร้าย เพราะการยกเลิกการจัดซื้อแล้วคืนเงินให้กับกระทรวงการคลัง ทุกบาททุกสตางค์ แล้วจะโกงได้อย่างไร แต่พอหลังมีการทำรัฐประหารปี 2549 เรื่องนี้ก็ถูกตั้งคดีผ่านคณะกรรมการคตส.แต่ว่าคตส.ชี้ว่าเรื่องไม่มีมูล แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)รับเรื่อง แต่ท้ายที่สุด เราก็ชนะด้วยมติเอกฉันท์ในชั้นกรรมการป.ป.ช. อีกทั้งยังไปชนะคดีตอนคดีไปที่ศาลปกครองกลาง-ศาลปกครองสูงสุด และขณะนี้เรากำลังฟ้องกลับ อดีตกรรมการป.ป.ช.บางคนที่กลั่นแกล้ง

"ความภาคภูมิใจของเรา ทั้งคุณพ่อสมพล เกยุราพันธุ์ ที่เป็นนักการเมือง และพลตรีจำลอง ศรีเมือง ทั้งสองท่านคือผู้ให้กำเนิดทางการเมือง ได้สั่งสอนเราว่า การจะเป็นนักการเมืองเราต้องตั้งใจทำงาน เอาผลงานแลกคะแนนเสียง และต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์

คุณพ่อของหน่อยจะสอนไว้เสมอ เวลาที่เราจะออกจากบ้านไปทำงานไปลงพื้นที่ ตอนที่เป็นส.ส.ใหม่ๆ พ่อบอกเสมอว่าต้องตั้งใจทำงาน ไปลงพื้นที่ช่วยประชาชน เรากินเงินเดือนเขา เราเป็นขี้ข้าประชาชน ต้องทำงานให้เขาให้สำเร็จ  พ่อใช้คำนี้เลย เป็นคำพูดของท่านที่ยังก้องอยู่ในหัวเราเสมอ และท่านพลตรีจำลอง ก็บอกว่าให้เอาผลงานแลกคะแนนเสียง อันนี้คือสิ่งที่เราถูกหล่อหลอมมา"

"คุณหญิงสุดารัตน์"กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องที่สองที่เราภาคภูมิใจก็คือ เราเป็นคนที่ทำงานและได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ยากๆ แต่งานที่ยากที่ผ่านมือเรา เราทำสำเร็จหมดทุกงาน อย่าง"โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค"ที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นผู้คิดแต่ว่าคนที่ผลักดันทำให้เกิดผลตลอดสี่ปีเต็มก็คือตัวเราเอง(สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ช่วงปี 2544-2548) โดยที่ตอนช่วงรัฐบาลยุคดังกล่าว แม้จะมีการเปลี่ยนรมช.กระทรวงสาธารณสุขหลายคน แต่เรายืนหนึ่งทำจนสำเร็จ ที่ก็ต้องขอบคุณความร่วมมือจากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและแพทย์-พยาบาลทุกคน นอกจากนี้เรื่องการแก้ปัญหาโรคซาร์ส-ไข้หวัดนก ที่เราเจอไข้หวัดนกสองรอบ เจอโรคซาร์สหนึ่งรอบ เราก็แก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ไม่กระทบเศรษฐกิจ ไม่เกินสองเดือน เราทำจบหมด

นอกจากนี้ ก็ภาคภูมิใจในเรื่องการสร้างสุขภาพของประชาชน โดยช่วงเป็นรมว.สาธารณสุขสี่ปี ได้ทำให้คนไทยที่เป็น ความดัน-ไขมันในเลือดสูง-เบาหวาน มีจำนวนลดลง แต่เสียดายไม่มีใครทำต่อ และพยายามจะลดการเป็นโรคมะเร็งด้วย”โครงการอาหารปลอดภัย” ที่จะเห็นป้ายclean food good tasteทั้งเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำต่อเนื่องเพราะพบว่าคนป่วยเป็นมะเร็งกันเยอะเพราะสารเคมี จากสารต่างๆ เช่น ปลาที่มีการใส่สารฟอร์มาลีนหรือสารฟอกขาวบอแรกซ์ ที่ก่อมะเร็งทั้งหมด ตอนนั้นมีการไปตามไล่จับ ไปตามทลายถึงโรงงานไปตามจับถึงแพปลาที่ทำแบบนี้ รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนรู้ว่าอาหารที่ใส่สารพิษต้องดูอย่างไร ก็เสียดายที่ไม่มีใครทำต่อ ซึ่งตอนนั้นมะเร็ง ยังไม่ใช่สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยแต่ตอนนี้กลายเป็นอันดับหนึ่ง  ซึ่งตอนนั้นเราก็รู้เทรนด์แล้วว่าต้องหยุดให้ได้ รวมถึงเรื่องอาหารโภชนาการที่ดี ที่เคยมีแคมเปญ “ผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง” 

...สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราภูมิใจว่า เราได้สร้างสุขภาพให้คนไทย นอกจากนี้ สมัยเป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์ ก็ได้ทำเรื่อง"การแก้ไขปัญหาความยากจน"คือให้มีการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตการเกษตร ก็ได้เพิ่มผลผลิตข้าว จาก 300 กิโลฯต่อไร่ ก็เพิ่มมาเป็น 500 กว่ากิโลต่อไร่ได้ ที่ช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรได้ และก็เข้าไปทำในเรื่องของ"การปฏิรูปการผลิตด้านการเกษตร"เพื่อจะได้มีการลดต้นทุน ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก และการเพิ่ม Value Added หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร ตอนนั้นแผนงานได้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเรียบร้อย โดยใช้งบประมาณน้อยมาก แต่เสียดายว่าทำไม่เสร็จ เพราะว่าพอนำเข้าคณะรัฐมนตรีได้สัก 2-3 สัปดาห์ก็เกิดรัฐประหารปี 2549

ลุยแก้ปัญหาจราจร-น้ำท่วมกรุงเทพฯ  จนได้ฉายา “เจ้าแม่กทม.”

“คุณหญิงสุดารัตน์”กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ผลงานที่ภาคภูมิใจก็คือในสมัยตอนต้น ๆที่เข้ามาทำงานการเมือง ได้เป็นรัฐมนตรี เราเป็นรัฐมนตรีที่ดูแล”กรุงเทพมหานคร”อยู่ยาวพอสมควร ซึ่งคำว่าเจ้าแม่กทม.ไม่ใช่เพราะว่าเราชนะเลือกตั้งได้เป็นส.ส.กทม. แต่เพราะว่าสมัยเป็นส.ส.และเป็นรัฐมนตรีตอนอยู่พรรคพลังธรรม ทางท่านพลตรีจำลอง ศรีเมืองให้เราดูแลกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทยจนถึงกระทรวงคมนาคม ก็เข้าไปดูปัญหาต่างๆ เช่น “ปัญหาน้ำท่วม” ที่หากไปถามคนที่พอมีอายุตามหมู่บ้านต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร หรือเวลาลงพื้นที่ ก็จะได้ยินเรื่องก่อนหน้านี้ เพราะตอนนั้นเราตั้งเข็มไว้เลยว่าต้องลอกท่อระบายน้ำและคูคลองในกทม. ให้เสร็จก่อนสงกรานต์ ไม่ใช่ทำแบบปัจจุบันนี้แล้วก็ลอกท่อทุกซอยด้วย หมู่บ้านเอกชนก็ให้ทำ เพราะน้ำจะไหลจากถนนหลัก จะต้องผ่านซอยต่างๆ ที่อาจจะมีคลองอยู่ข้างหลัง หากไม่ลอกท่อ ก็จะทำให้น้ำที่จะต้องไหลไปตามทางระบายน้ำตามซอยหรือหมู่บ้านต่างๆ ก่อนลงคลอง น้ำก็จะไม่มีทางลงคลองมาได้

นอกจากนี้ ช่วงที่เราเป็นรัฐมนตรีฯตอนช่วงปี 2538-2539 ที่มีน้ำท่วมใหญ่ อาจจะใหญ่มากกว่าปี 2554  แต่ว่าเราก็พากรุงเทพฯรอด เพราะเราเอาจริงเอาจัง

"และส่วนหนึ่งก็ได้รับพระมหากรุณา พระราชทานแนวทาง จากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานแนวทางทั้งเรื่องการป้องกันน้ำท่วม และเรื่องการจราจรในช่วงที่เราเป็นรัฐมนตรี ท่านได้ทรงพระราชทานโครงการแก้ไขปัญหาจราจรหลายโครงการมาให้เราทำ ไม่ว่าจะเป็นสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม สะพานจตุรทิศ ทั้งหมดนี้เราก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ มอบหมายให้ทำโครงการพระราชดำริฯเหล่านี้"

และเราก็ทำในเรื่องของน้ำท่วม เรื่องจราจร เราเป็นคนแรกที่ทำ"แผนแม่บทรถไฟฟ้าทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร" ที่ก็ยังภูมิใจที่แผนแม่บทดังกล่าวยังได้ใช้จนถึงทุกวันนี้ ที่เริ่มต้นที่สิบสาย ตอนนี้ก็อาจจะเพิ่มเป็นสิบสองสาย แต่ก็ยังก่อสร้างไม่ครบ ก็ภูมิใจที่เป็นคนแรกที่วางแผนแม่บทรถไฟฟ้า แล้วก็เริ่มลงมือทำเส้นแรกก็คือรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่อยู่ในความดูแลของกทม. นอกจากนี้ก็เรื่องของสะพานลอย ที่เห็นกันปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสมัยเราไม่ว่าจะเป็นสะพานลอยบางกระปิ- สะพานลอยลำสาลี แล้วก็เริ่มทำอุโมงค์บางแห่ง รวมถึงการตัดทะลุตรอกซอกซอย

ตอนที่เราเป็นรัฐมนตรี คนเก่าๆ จะจำได้ จะเห็นเราตอนเช้าๆ ตามแยกที่รถติดมากๆ เช่นแยกลำสาลี เราจะไปยืนกับตำรวจ นำนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไป เพื่อไปช่วยระบายรถ ตอนนั้นยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ ที่ตอนนี้หากให้แก้จราจรง่ายมากใช้เทคโนโลยีจะง่ายมาก แต่สมัยก่อน ต้องใช้ตาเรา ไปยืนไปดู ต้องพาตำรวจผู้ใหญ่ไปดู เพราะถ้าไม่พาตำรวจผู้ใหญ่ไปดู ตำรวจชั้นผู้น้อยก็ไม่ออกมา ตอนนั้น คนจะเห็นภาพเราคู่กับมอเตอร์ไซด์ แม้ท้องโตท้องแก่ ก็ยังขึ้นมอเตอร์ไซด์ เพื่อไปดูจราจรตามที่ต่างๆ กับตำรวจชั้นผู้ใหญ่เพื่อจะไปเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาจราจร

นอกจากนี้เรายังเป็นคนทำแผนแม่บทโครงข่ายทางด่วนใยแมงมุม ที่แต่ก่อนดังมาก เมื่อก่อนทางด่วนมีเส้นเดียว คือดินแดง-อาจณรงค์ เราทำโครงข่ายใยแมงมุมทำให้เป็นโครงข่ายทางด่วนทั้งหมด เป็นแผนแม่บททางด่วน และใช้กันจนถึงทุกวันนี้ และยุคนั้นก็มีการสร้างทางด่วนหลายเส้นเหมือนกัน อย่างเช่น "เอกมัย-รามอินทรา" ก็เกิดขึ้นยุคเราเป็นรัฐมนตรี

ทั้งหมดก็เป็นผลงานเรื่องจราจร การรณรงค์เรื่องวินัยการจราจร เรื่องของการทำผู้ช่วยตำรวจจราจร ที่แต่ก่อนเช่นเส้นลาดพร้าว ซอยจะเยอะ ก็ให้มีผู้ช่วยตำรวจจราจรไปช่วยยืนโบกเพื่อทำให้รถไม่ติด รวมถึงการทำ ช่องทางเดินรถพิเศษ หรือ Reverse Lane เพิ่มพื้นผิวจราจรเพื่อแก้ปัญหาจราจร เป็นต้น

...เราทำเรื่องจราจร ทำเรื่องแก้ปัญหาน้ำท่วม ทำเรื่องคุณภาพชีวิต ทำเรื่องสวนสาธารณะหลายแห่งที่เป็นสวนสาธารณะในเขต อย่างเช่นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เขตบึงกุ่ม เราก็เป็นคนทำ รวมถึงการทำสวนสาธารณะขนาดเล็ก ที่ให้การเคหะแห่งชาติเข้าไปทำที่เรียกว่า Pocket Park ที่เราเป็นคนแรกที่ใช้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว ที่จะเห็นมีสวนสาธารณะในหมู่บ้านต่างๆ เกิดจากการผลักดันของเราทั้งนั้น เป็นต้น

ไทยสร้างไทย พรรคการเมืองของประชาชน

"คุณหญิงสุดารัตน์-ประธานพรรคไทยสร้างไทย"ย้ำว่า นับแต่เปิดตัวตั้งพรรค"ไทยสร้างไทย"พบว่าการตอบรับจากประชาชนออกมาดี อย่างการตอบรับในตัวเรา ไปที่ไหน ก็เหมือนคนก็ฝากความหวังไว้ ซึ่งหากคนไม่ไว้ใจเรา เขาก็คงไม่เข้ามากอด มาร้องไห้ ระบายความทุกข์แล้วก็ฝากความหวัง เราจึงตั้งใจในการสร้างพรรคไทยสร้างไทยให้เป็น"ภารกิจสุดท้าย"ทางการเมือง เราเติบโตมาจากพรรคพลังธรรม ที่เป็นพรรคการเมืองที่ถูกสอนให้ยึดมั่นในเรื่องของประชาธิปไตย ยึดมั่นในเรื่องของ"ความซื่อสัตย์สุจริต"สโลแกนแรกของเราตอนเข้าสู่การเมืองคือ "ทำงานจริงจัง-ฟังเสียงประชาชน"

...วันนี้ในการตั้งพรรคไทยสร้างไทยก็คือต้องการทำให้พรรคไทยสร้างไทยเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการทำงานให้กับประเทศชาติ คิดว่าวันนี้เราอยู่ในวิกฤตการเมืองมาร่วม15-17 ปี เราจะปล่อยให้ประเทศตรึงซ้ายตรึงขวา แบบนี้ ไม่มีทางที่จะไปรอด โดยงการจะแก้ เราต้องแก้"วิกฤตการเมือง"ก่อน แล้วก็แก้วิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดแล้วก็มาแก้วิกฤตเรื่องที่ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนและวิกฤตของโลกที่ปั่นป่วนทั้งเทคโนโลยีและจากสภาพอากาศ

การตั้งพรรคไทยสร้างไทยต้องการให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชนจริงๆ เหมือนที่เราใฝ่ฝันไว้เราถึงเข้าพรรคพลังธรรมในช่วงแรกที่เข้ามาการเมือง จนต่อมาก็เหลือเราเป็นส.ส.คนเดียวของพรรคพลังธรรม จากที่เคยมีส.ส.ร่วม 30-40 คน

เรามีความใฝ่ฝันว่าเมื่อวันนี้เราเดินออกมาจากพรรคการเมืองเดิมที่เคยอยู่ ตอนนั้นเรามีทางเลือกอยู่สองทางคือจะหยุดหรือจะเดินต่อ โดยที่ตัดสินใจเดินต่อ เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเหมือนกับตลอด 30 ปีที่เราทำงานการเมืองมา เราไม่เคยเห็นประเทศชาติ ประชาชนทุกข์ยาก ลำบาก หรือมีวิกฤตเท่าในครั้งนี้เลย อย่างลูกเราเองก็เคยพูดว่า ห้ามแม่มาตลอด อยากให้แม่พอ แต่ว่าถ้าแม่จะทำเอง ก็เชื่อว่าแม่จะทำให้ประเทศรอดได้

...เราก็คิดว่าเด็กๆ เขาสะท้อนออกมาที่ก็เหมือนเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มองไม่เห็นอนาคตของประเทศนี้ เราได้ปรึกษากับพรรคพวก จนในที่สุดก็ตัดสินใจในการจะเดินหน้าสร้างพรรคไทยสร้างไทยให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนคือเจ้าของ เราคือลูกจ้างของประชาชนในการทำงาน จึงตั้งใจที่จะทำตัวเองเป็นแค่"เสาเข็ม"เป็นสะพานเชื่อมโยง คนใหม่ที่เข้ามาทำการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่-รุ่นกลางและคนรุ่นใหญ่ที่เขามีความรู้ความสามารถให้เข้ามาทำงานการเมืองเพื่อสร้างประเทศไทยใหม่

"คุณหญิงสุดารัตน์"กล่าวต่อไปว่า  หากถามว่าทำไมต้องสร้าง ประเทศไทยพังแล้วหรือ วันนี้คิดว่าประเทศไทยยังไม่พังหรือ ลองถามกลับไปในใจทุกคน วันนี้เศรษฐกิจเราเดินไม่ได้ ทั้งด้วยสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด ยังไม่พอ แต่เดินไม่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ไปแล้ว ธุรกิจต่างๆ ต้องถูกเปลี่ยนหมด เราจะต้องบริหารประเทศอย่างมีวิสัยทัศน์ที่เพียงพอและจริงใจต่อประชาชน มันถึงจะพลิกวิกฤตเศรษฐกิจนี้ได้ เพราะวันนี้ไม่่ใช่แค่ว่ามีโรคระบาดอะไรต่างๆ เลยแย่ แล้วต่อไปหลังจากนี้ ทุกอย่างมันจะกลับคืนมา มันไม่มีแล้ว Old Economy ไปไม่ได้แล้ว เราเคยเป็นประเทศรับจ้างผลิต แต่วันนี้ค่าจ้างแรงงาน -ปัจจัยเรื่องน้ำมัน ก็มีผลต่อต้นทุนการผลิตสูง ยอดขายก็ตกลงมาเรื่อยๆ

การส่งออกข้าวเราเคยเป็นแชมป์ ตอนนี้เราก็ตกลงมา รวมถึงสินค้าหลายอย่างยอดขาย-ยอดส่งออกก็ตกลงมา ประเทศอื่นแซงไปหมด แล้วพอจะมาเป็นNew Economyก็ไม่มีความรู้ ไม่มีเทคโนโลยี เพราะเรายังไม่ได้มีการเตรียมความพร้อม ดังนั้นเราจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องเหล่านี้เรื่องของเศรษฐกิจ

...วันนี้เราจึงพยายามดึงคนเก่งๆ มาสร้างประเทศกันใหม่ ถามว่าประเทศพังไหม ก็ลองถามใจทุกคนว่าพังหรือยัง ถ้าพังแล้ว วันนี้พรรคไทยสร้างไทยเชิญชวนทุกคนมาร่วมกันสร้างประเทศไทยเพื่ออนาคตของตัวเราเองและลูกหลานของเรา

เสนอแนะต้องเร่งแก้วิกฤตการเมือง-พลิกฟื้นเศรษฐกิจ

"คุณหญิงสุดารัตน์"พูดถึงทิศทางการขับเคลื่อนของพรรคไทยสร้างไทยต่อจากนี้ด้วยว่า พรรคไทยสร้างไทยเป็นพรรคการเมืองตั้งใหม่ เราจะเน้นเรื่องนโยบายพรรคเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับเรื่องการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศทุกด้าน อย่างการแก้วิกฤตการเมืองที่ตรึงซ้ายตรึงขวากันไม่จบ แล้วเราจะปล่อยให้ประเทศเป็นแบบนี้ตลอดไปหรือไม่ การจะแก้ได้ดีที่สุดในเรื่องวิกฤตการเมืองก็คือ การให้อำนาจกับประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยในส่วนของหมวด 1 และหมวด 2 ที่เป็นหมวดสำคัญ ก็ไม่ต้องแตะ โดยแก้วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองด้วยรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นสากล คำนึงสิทธิของประชาชน ไม่ต้องมีสว.250 คน ไม่ต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติที่จะมาครอบการทำงานของรัฐบาล

ที่สำคัญก็คือว่าเราต้องทำให้ ระบอบประชาธิปไตยนี้ ทำหน้าที่ในการที่จะเอื้อโอกาสให้กับคนทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เฉพาะแต่คนรวย แต่คนชั้นกลาง คนยากคนจน ก็ต้องได้รับโอกาสที่ทัดเทียมกันมันถึงจะตอบโจทย์

ส่วนการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน เพราะจะมีความเกี่ยวพันกัน โดยการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ เราจะมองแค่เพียงว่าเพราะมีโรคระบาดเลยทำให้เศรษฐกิจแย่ มันไม่ใช่ แต่มันมีทั้งเรื่องของโรคระบาดที่มีการจัดการที่ไม่ดีพอ และมีทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่มันตกจริงๆ จากทั่วโลกและจากปัญหากำลังซื้อภายในประเทศ

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเราต้องเปลี่ยนจากOld Economy เป็น New Economyซึ่ง New Economyเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราจะเห็นว่าปัจจุบัน มหาเศรษฐีของโลก จะพบว่า สิบอันดับแรก ประมาณเกือบ 7-8 คนมาจากสาย Tech หมด มหาเศรษฐีในรุ่นเดิมๆที่เคยเป็นเจ้าของธนาคาร -เจ้าของอุตสาหกรรมหนัก ตกรุ่นไปหมด เราต้องยอมรับว่าวันนี้เป็นโลกของเทคโนโลยี เราต้องเปลี่ยนแปลงให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเราสามารถเป็น New Economy ได้ แต่ Old Economy เราก็ต้องรักษาให้เขาอยู่ได้ก่อนในช่วงการเปลี่ยนผ่าน

“ประธานพรรคไทยสร้างไทย”ให้ความเห็นเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจว่า  สิ่งสำคัญที่ต้องทำ เรื่องแรกก็คือ "ต้องเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ"ซึ่ง มาตรการที่รัฐบาลเคยทำมาเช่นการกู้เงินแล้วนำมาแจกประชาชนแบบเบี้ยหัวแตก มันกระจายและไม่มีพลังพอที่จะ Restart เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ ก็เหมือนคนขับรถยนต์หากน้ำมันหมด เติมน้ำมันหนึ่งลิตร สตาร์ทรถไม่ติด ต้องเติม 5-10 ลิตรถึงจะสตาร์ทรถติดได้

....เปรียบเทียบก็คือ "ต้องอัดเงินลงไปมากพอ" และต้องอัดเพื่อทำให้เกิดการหมุนของเงิน จึงควรอัดลงในไปในส่วนของ"การจ้างงาน-การสร้างรายได้"มากกว่ารวมถึงต้องเพิ่มกำลังซื้อ โดยต้องมีการนำคนมาเพิ่มทักษะ มา ReSkill – UpSkill โดยเฉพาะคนที่ตกงาน จ้างมาเรียนหนังสือเพื่อReSkill – UpSkill อย่างเคยทำงานธนาคารแล้วตกงาน ก็มาReSkill – UpSkill เพื่อให้ขายของออนไลน์ ลูกหลานเกษตรกร เรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำ ก็ให้ความรู้เขาในเรื่องการแปรรูปสินค้า ให้ต้นทุนเขา ให้เขานำภูมิปัญญาพ่อแม่เขามาพัฒนาร่วมกับภูมิปัญญาสมัยใหม่ ให้เขามีอาชีพของเขา หรือแม้แต่จ้างเกษตรกรขุดบ่อน้ำ ก็ยังได้บ่อน้ำและยังเป็นการกระจายรายได้ลงพื้นที่ หรืออย่างจ้างคนไปเรียน คนยังได้ความรู้ไปทำมาหากินในอาชีพใหม่ๆ ทั้งหมดคือการสร้างงานสร้างรายได้และจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ เป็นต้น

"ประธานพรรคไทยสร้างไทย"กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้เรื่องของ"การส่งออก"ที่หลายประเทศ เศรษฐกิจเริ่มฟื้น เขาต้องการสินค้า แต่ปรากฏว่าเมืองไทยต้นทุนสินค้าแพงกว่าที่อื่น อย่างตอนนี้ ปุ๋ย-น้ำมัน-แก๊ส-ค่าไฟ ขึ้นหมด เราต้องไปดูการลดต้นทุนตรงนี้เพื่อให้ภาคเอกชนและเกษตรกรสามารถแข่งขันส่งออกได้ หากไม่มีการลดต้นทุนให้เราแทบจะไม่มีทางเลย เราจะเสียโอกาส เพราะขณะที่ทั่วโลกกำลังต้องการอาหาร-สินค้าจากประเทศไทย แต่เมื่อเทียบราคาแล้ว สินค้าของไทยเรามีราคาแพงกว่าที่อื่น ตรงนี้ควรต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรได้ และขณะเดียวกัน เมื่อรัฐจะลดต้นการผลิต แต่ก็ต้องเพิ่มคุณภาพของสินค้า ภาครัฐต้องมีแผนเพิ่มคุณภาพสินค้าด้วย

"คุณหญิงสุดารัตน์"ยังให้ความเห็นด้วยว่า สำหรับเรื่อง"การแก้ปัญหาธุรกิจ-อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว" ที่เคยเป็นรายได้หลักของประเทศไทยแต่ตอนนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด เรื่องนี้รัฐบาลต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวได้มั่นใจว่ารัฐบาลสามารถดูแลเขาให้อยู่กับโควิดได้อย่างปลอดภัย แล้วเปิดการท่องเที่ยว โดยการสร้างความมั่นใจที่ทำได้ด้วยวิธีการคือ

1.การให้คนเข้าถึงการตรวจโควิดฟรีทั้ง RT-PCR และ  ATK  อย่างทั่วถึง เหมือนกับทุกประเทศ ที่เดินไปตรงจุดใดก็ตรวจได้ฟรีหมด ที่ใช้งบแค่หลักพันล้านบาท คุ้มยิ่งกว่าคุ้มกับเศรษฐกิจที่เสียไปเดือนละสองแสนล้านบาทถึงสามแสนล้านบาทในช่วงที่มีการปิดประเทศ

2.ต้องมีการจัดวัคซีนที่ดี มีการจัดสรรให้เพียงพอโดยเฉพาะการเตรียมการเรื่องจัดหาวัคซีนที่คุมการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดได้

3.จะต้องมีการจัดระบบสาธารณสุขกับยาเวชภัณฑ์ ที่ต้องจัดระบบให้ดีที่ทำได้ไม่ยาก

หากไม่ทำเรื่องเหล่านี้ การที่ประกาศว่าต่อไปจะประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งมันจะไม่สร้างความมั่นใจเลยถ้าไม่ได้ดำเนินการในสามข้อข้างต้น แต่หากทำเชื่อว่า ประชาชนจะยอมรับที่จะมีชีวิตอยู่กับโควิด แต่ขอให้เขามีความมั่นใจได้ว่าหากป่วยติดโควิดขึ้นมา หากโทร 1330 แล้ว ยารักษาอาการโควิดจะส่งถึงบ้านประชาชน ภายในวันเดียว ไม่ใช่ปล่อยให้จากเตียงเขียวกลายเป็นเตียงเหลือง กลายเป็นเตียงแดง กลายเป็นมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น

...โดยหากเราสร้างตรงนี้ได้ ก็จะแก้เรื่องการท่องเที่ยวได้เพราะคนจะมีความมั่นใจ และเราจะทำด้วย ถ้าเป็นไทยสร้างไทยเป็นรัฐบาล เราจะทำ เราจะบอกว่า หากมาเที่ยวมาอยู่ประเทศไทยแล้วติดโควิด จะทำประกันให้ หากติดโควิดก็รักษาฟรี ให้เขามั่นใจมาเที่ยวเมืองไทยมา Work from Thailand อันนี้คือสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้น

ต้องเดินหน้าผลักดัน การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจประเทศแบบ New Economy

"คุณหญิงสุดารัตน์-ประธานพรรคไทยสร้างไทย"กล่าวต่อไปว่า เครื่องยนต์ในระบบเศรษฐกิจที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือเรื่อง "การลงทุนจากต่างประเทศ" ซึ่งหากรัฐบาลยังคงเป็นอยู่แบบนี้คือคนยังมีความไม่เชื่อมั่นทางการเมือง ปัญหาเรื่องเสถียรภาพรัฐบาล รวมถึงเรื่องกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ในการลงทุน มันก็ทำให้เกิดการลงทุนยากมาก ที่จะเห็นได้ว่าการลงทุนในประเทศไทยเราลดลงเรื่อยๆ อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นอันตราย

..สำหรับเรื่องเศรษฐกิจกับการเปลี่ยนแปลงของโลก มีความสำคัญ โดยการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ผ่านมามีสิ่งสำคัญสองเรื่องคือ เรื่องของเทคโนโลยี ที่หากเราคว้าโอกาสได้ ก็จะพลิกจากวิกฤตเป็นโอกาส อย่างสำนักพิมพ์ก็ต้องปรับตัวเองจากกระดาษเป็นออนไลน์มากขึ้น ประเทศก็เหมือนกัน ก็ต้องปรับตัว หากเราปรับตัว เราคว้าโอกาสได้ เราก็จะสร้างโอกาสจากเทคโนโลยี ไม่ใช่ตายเพราะเทคโนโลยี

ดังนั้นวันนี้เราต้องการกล้าที่จะ jump ไปสู่ New Economy โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แค่แก้กฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แล้วก็ให้วีซ่าคนให้เข้ามาอยู่แบบ Long Stay เพื่อทำงาน Work from Thailand ได้ โดยเราต้องการกล้าประกาศเลยว่าเราจะเป็น Start-up Nation หรือเป็น Digital assets Nation หรือจะเรียกว่าเป็น cryptocurrency Nation ก็ได้

เราต้องการกล้าประกาศ เพราะโลกไปทางนี้แล้ว แต่รัฐบาลกำลังทำสวนทาง เหมือนกับน้ำที่ยังไงก็ต้องไหลลงจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เราจะไปห้ามน้ำไม่ได้ ห้ามแรงโน้มถ่วงของโลกก็ไม่ได้ แต่ทำยังไง ต้องรับมันได้ รับแล้วให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทย ก็ต้องกล้าประกาศแล้วก็แก้กฎหมาย ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณอะไร เพื่อให้ไทยเป็น Start-up Nation แล้วเรื่องภาษีแทนที่จะทำสวนทางที่จะไปเก็บภาษีคริปโต เก็บภาษี Digital assets ต่าง ๆ เราจะไม่เก็บต้นทาง แต่จะให้ไปเก็บที่ปลายทาง และเราเองต้องสนับสนุนให้คนเก่งจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้ามาลงทุนในการทำDigital assets หรือเรื่องStart-up ในเมืองไทย เรามีบีโอไอกับการลงทุนอุตสาหกรรม เราก็ควรมีสิทธิพิเศษต่อผู้ลงทุนของธุรกิจเหล่านี้ให้มาลงทุนในประเทศไทย ที่จะทำให้เราจะได้คนเก่งๆ จากทั่วโลกมาทำงานที่ประเทศไทยแล้วสอนเด็กๆ คนของเราให้เก่งด้วย คือจะได้เงินจากเขาที่เขามาLongstay มาWork from Thailand สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เราหยุดยั้งไม่ได้เช่นกันก็คือ"ภาวะโลกร้อน" ซึ่งภาวะโลกร้อนเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส ที่เป็นวิกฤตคือมีน้ำท่วมรุนแรงมาสิบปีนี้ กับแล้งรุนแรงในช่วงสิบปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เราได้รับผลกระทบ แต่เรากำลังจะได้รับผลกระทบตามมาอีก จากผลการประชุม COP26ที่ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไปประชุมมา ที่ชัดเจนว่าอีกไม่เกินสองปี จะมีกำแพงภาษีตัวใหม่ ใครผลิตสินค้าที่ทำมาจากโรงงานที่ปล่อยคาร์บอน ก็จะเจอกำแพงภาษีเวลาส่งสินค้าเข้ายุโรป-สหรัฐอเมริกา

...เรื่องแบบนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก จะเตรียมตัวเองให้ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้หรือไม่ เขาก็อาจไม่มีปัญญา ภาครัฐต้องช่วย โดยลงทุนที่จะสร้าง  Carbon Credit ของประเทศเพื่อช่วยผู้ส่งออก ที่เป็นการลงทุนซึ่งทำแล้วได้กำไร เพราะท้ายที่สุด ก็ยังสามารถขายให้ต่างประเทศได้อีก แต่ที่ผ่านมา รัฐยังไม่ได้เตรียม อันนี้คือสิ่งที่ต้องเตรียมการ

พรรคไทยสร้างไทย ตัวแทนของคนตัวเล็ก 

พรรคไทยสร้างไทย มีจุดยืนคือเป็น"ฝ่ายประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข"พรรคมีจุดยืนที่ไม่สนับสนุนเผด็จการ การยึดอำนาจ-การทำรัฐประหารในทุกรูปแบบ เราอยากให้ประชาธิปไตยมีการพัฒนาด้วยตัวเอง เราสนับสนุนให้มีกลไกองค์กรอิสระที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงในการเอาผิดกับข้าราชการหรือนักการเมืองที่โกงกินได้อย่างจริงจัง สิ่งนี้คือจุดยืนของพรรคไทยสร้างไทย

"คุณหญิงสุดารัตน์"ย้ำว่า จุดยืนของพรรคไทยสร้างไทย มีจุดยืนคือเป็น"ฝ่ายประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข"พรรคมีจุดยืนที่ไม่สนับสนุนเผด็จการ การยึดอำนาจ-การทำรัฐประหารในทุกรูปแบบ เราอยากให้ประชาธิปไตยมีการพัฒนาด้วยตัวเอง เราสนับสนุนให้มีกลไกองค์กรอิสระที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงในการเอาผิดกับข้าราชการหรือนักการเมืองที่โกงกินได้อย่างจริงจัง สิ่งนี้คือจุดยืนของพรรคไทยสร้างไทย เหตุที่พรรคสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ก็เพื่อให้จะได้ยุติความขัดแย้ง เพราะหากประชาชนเป็นคนร่วมร่างรัฐธรรมนูญและร่างออกมาแล้ว คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับสิ่งที่ร่างออกมา สุดท้าย พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหนก็ต้องยอมรับ เพื่อให้จะได้เดินไปสู่การยุติความขัดแย้ง และฟังความเห็นต่าง เพื่อมุ่งสร้างเศรษฐกิจไทย ที่คือเป้าหมายที่พรรคไทยสร้างไทยต้องการอยากจะทำ

...จากนี้พรรคไทยสร้างไทยที่เราประกาศว่าเราคือพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของ"คนตัวเล็ก" ซึ่งคนตัวเล็กของเราก็คือ คนชั้นกลาง ลงมาตั้งแต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลงมาจากถึงเกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน โดยเหตุที่พรรคไทยสร้างไทยโฟกัสคนกลุ่มนี้ก็เพราะเป็นคนกลุ่มที่เป็นฐานใหญ่ที่สุดของประเทศ เราโฟกัสคนกลุ่มนี้เพราะเป็นคนกลุ่มที่เขายังช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ คนที่รวยแล้ว ต้นทุนการประกอบธุรกิจเขาจะต่ำกว่าคนกลุ่มนี้ และเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจได้หมด

หากลองหลับตาคิดดู โดยเปรียบเทียบจากสามเหลี่ยมปิรามิด ตั้งแต่ตรางกลางปิรามิดลงไปที่เป็นฐานใหญ่ ยังยากจนอยู่แล้วประเทศจะรวยได้อย่างไร ดังนั้นเป้าหมายพรรคไทยสร้างไทยคือทำให้คนกลุ่มนี้ลุกขึ้นมาทำมาหากินได้เร็วที่สุด แข็งแรงที่สุด นี้คือเป้าหมายของเราเลย เราจึงเรียกคนกลุ่มนี้เป็นตัวแทนของคนตัวเล็ก ที่ก็คือคนธรรมดาสามัญที่ไม่ใช่เศรษฐี โดยวิธีการคือเราจะ"สร้างพลัง empower และปลดปล่อย liberate"  โดยการเพิ่มพลังให้เขาเพื่อให้เขาได้เข้าถึงแหล่งทุน การเข้าถึงแหล่งโอกาสในเรื่องการศึกษา เข้าถึงโอกาสในการทำมาค้าขาย-ทำมาหากิน 

....ส่วนการ liberate ก็คือliberate  เขาจากรัฐราชการและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคขัดขวางในการทำมาหากินของคน โดยเรื่องการกิโยตีนกฎหมาย เราจะสนับสนุนให้เดินต่อ แต่ระหว่างที่รอการกิโยตีนกฎหมาย หากพรรคไทยสร้างไทยได้เป็นรัฐบาล เราจะผลักดันให้มีการออกพระราชกำหนดหนึ่งฉบับที่ตามขั้นตอนใช้เวลาประมาณสามสัปดาห์ เพื่อพักการใช้กฎหมาย -ระเบียบ และใบอนุญาตที่ไม่จำเป็นมากนักเป็นการชั่วคราว เพราะมีกฎหมายอื่นคลุมอยู่แล้ว และเป็นกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของคนโดยจะให้พักการบังคับใช้ไว้ 3-4 ปีในช่วงรอการกิโยตีนกฎหมาย โดยจะให้ล้อไปตามการกิโยตีนกฎหมายที่มีการศึกษาไว้จากฝ่ายต่างๆ เช่นสถาบันทีดีอาร์ไอ เป็นต้น เพื่อให้คนลุกขึ้นมาทำมาหากินได้ก่อน

...ยกตัวอย่างเรื่อง"ร้านอาหาร"ที่ปัจจุบันการจะเปิดร้านอาหารได้ต้องมีใบอนุญาติ 5-7 ใบ แต่จริงๆ มีใบอนุญาตที่สำคัญแค่สองใบเท่านั้นคือ 1.ตัวสภาพอาคารต้องแข็งแรง-มีทางหนีไฟ2.มีสุขอนามัยที่สะอาด ส่วนร้านที่ต้องการใบอนุญาตจำหน่ายเหล้า-เบียร์ จะได้ยากสุด ที่เป็นช่องทางให้เกิดการรีดไถ ซึ่งมีกฎหมายอื่นคอยควบคุมอยู่แล้วเช่น ห้ามขายในพื้นที่ใกล้วัด-โรงเรียน ห้ามขายกับเด็กเยาวชนอายุต่ำกว่าเกณฑ์ ห้ามขายเกินเวลาที่กำหนด และหากใครทำผิดกฎระเบียบ ก็ปรับสองเท่า ทุกอย่างมีกฎ-ข้อห้ามอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเพิ่มต้นทุนให้เขา นี้คือการที่จะปลดปล่อยคนตัวเล็กออกจากอำนาจที่มันกดทับเขาอยู่

เสนอนโยบายตั้งกองทุน ให้คนเข้าถึงแหล่งทุน-สร้างโอกาส 

"คุณหญิงสุดารัตน์-ประธานพรรคไทยสร้างไทย"กล่าวต่อไปว่า การสร้างพลัง empower ก็คือการที่ให้เขาได้เข้าถึงแหล่งทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เข้าถึงตลาด เข้าถึงโอกาสในการพัฒนาสินค้า ทุกนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยจะแฝงหลักคิดไว้สองหลักคิดคือการ empower คนตัวเล็กกับการ liberate เพราะเราคิดว่าวันนี้ "ความเหลื่อมล้ำ"คือปัญหา คนรวยก็รวยมากๆ แต่คนชั้นกลางลงมา อยู่ในสภาพที่แย่มากๆ คนรวย-รวยขึ้นในช่วงโควิด แต่คนชั้นกลางลงมาแย่ลงในช่วงโควิด ซึ่งการแก้ปัญหา บางคนอาจต้องการอยากแก้ปัญหาแบบ"รื้อโครงสร้าง"โดยรื้อลงมาให้คนที่อยู่สูงกว่าเรา ต้องลงมาอยู่เท่ากับเรา แต่พรรคไทยสร้างไทยไม่ได้มองแบบนั้นเพราะการที่จะไปรื้อโครงสร้างให้คนที่รวยกว่าเราลงมาเท่าเรา มันจะเกิดปัญหาความขัดแย้ง จะตีกันแน่นอน แต่เราเลือกที่จะสร้างคนตัวเล็กให้แข็งแรงขึ้น โดยการ empower เขาให้ได้เข้าถึงแหล่งทุน-ได้เข้าถึงแหล่งโอกาส แล้วก็ปลดปล่อยเขาจากสิ่งที่ถูกกดทับ

"เราเลือกที่จะสร้างคนตัวเล็กให้แข็งแรงมากกว่าที่จะเลือกการไปรื้อโครงสร้าง เราคิดว่าการไปรื้อโครงสร้าง มันไม่ก่อให้ผลสำเร็จและจะทำให้เกิดความวุ่นวาย แล้วเศรษฐกิจประเทศก็จะเดินไม่ได้"คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวย้ำหนักแน่น 

และกล่าวต่อไปว่า ..เราจึงเลือกที่จะempowerคนตัวเล็กให้แข็งแรงขึ้น รวยขึ้น โดยหากคนกลุ่มนี้ที่เราเรียกว่าคนตัวเล็ก ที่เป็นคนกลุ่มชนชั้นกลางลงมา เขารวยขึ้น ประเทศก็รวยขึ้น เก็บภาษีได้ ซึ่งการ Empower-Liberate ที่บอกไว้ อยากขอยกตัวอย่างให้เห็น อย่างเรื่องการ"เข้าถึงแหล่งทุน" พบว่าวันนี้คนรวยเสียดอกเบี้ยเพียง 2-3 เปอร์เซนต์ต่อปี แต่คนจนต้องเสียดอกเบี้ย หากกู้นอกระบบต้องเสียร้อยละ 17-18 ต่อเดือน แล้วคนตัวเล็กจะสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างไร

ดังนั้นวันนี้เราจึงให้โอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน เราจะมีกองทุน 4-5 กองทุน เช่น"กองทุนเอสเอ็มอี" ปัจจุบันเรามีเอสเอ็มอีอยู่ประมาณสามล้านกว่าราย ซึ่งจ้างงานอยู่ร่วม 15 ล้านคน หากว่าหนึ่งคนในสิบห้าล้านคนทั้งหมด ดูแลครอบครัวตัวเองสักหนึ่งคน ก็เท่ากับสามสิบล้านคน ซึ่งเชื่อไหมว่า เอ็สเอ็มอีสามล้านกว่าราย สามารถเข้าไปในระบบคือขอสินเชื่อกู้เงินจากธนาคารได้แค่สี่แสนรายเท่านั้น

...เมื่อเขาเข้าไม่ถึงระบบ ก็ต้องไปกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง ก็ทำให้ธุรกิจอาจไปไม่รอด แล้วยิ่งมาเจอภาวะโควิดยิ่งไปไม่ได้ เราต้องเติมทุนให้เขา โดยกองทุนเอ็สเอ็มอีดังกล่าว แหล่งทุนก็นำมาจากsoft loanของรัฐที่ปล่อยเท่าไหร่ก็ปล่อยไม่หมด ก็มาตั้งเป็นกองทุนเอสเอ็มอีกับกองทุนฟื้นฟูการท่องเที่ยว ให้พวกธุรกิจที่อยู่ในภาคท่องเที่ยวเช่นร้านอาหาร โรงแรมขนาดเล็ก ได้เข้าถึงแหล่งทุน ที่ต้องรีบอัดเงินให้และต้องพักชำระหนี้ให้อย่างน้อยสักสองปี เพื่อให้คนเหล่านี้ลุกขึ้นมาฟื้นเศรษฐกิจได้ วันนี้ลองไปดูแถวประตูน้้ำ หรือแถวโบ๊เบ๊เริ่มเจ๊งหมด เราต้องพักหนี้และเติมทุน เปิดประเทศให้คนเข้ามาเที่ยว ถึงจะฟื้นได้

...กองทุนที่สองคือ"กองทุนสตาร์ทอัพ"ที่จำเป็นมากเพราะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้สร้าง New Economyให้กับประเทศ เพราะเมื่อเรารู้แล้วว่าทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกไปในทาง New Economy เราก็ต้องส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงทุน เข้าถึงความรู้ เข้าถึงโอกาส ศูนย์บ่มเพาะต่างๆ ต้องมี เพื่อให้เขาได้ใช้องค์ความรู้ในโลกยุคใหม่ในการสร้าง New Economyให้กับเรา เราต้องส่งเสริมเขาให้เต็มที่

กองทุนที่สามคือ"กองทุนวิสาหกิจชุมชน" โดยกองทุนดังกล่าวอยากให้มองเห็นภาพของ"ญี่ปุ่นโมเดล" โดยที่ญี่ปุ่น เกษตรกรเขาทั้งปลูกและแปรรูปเองรวมถึงขายเองด้วย โดยไม่ต้องเป็นทาสนายทุน ทำให้ญี่ปุ่นมีสภาพทางเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งวันนี้เด็กรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานของเกษตรกรไทย เขามีความรู้เรื่องเทคโนโลยี แล้วก็สามารถไปบวกกับภูมิปัญญาของพ่อแม่ ภูมิปัญญาชาวบ้าน เราก็จะให้กองทุนวิสาหกิจชุมชน ไปให้เขารวมตัวกันไปให้เขาเป็นผู้ผลิต ผู้แปรรูป และผู้จำหน่ายสินค้าไปทั่วโลกได้ด้วยกองทุนวิสาหกิจชุมชน

และกองทุนสุดท้ายคือ"กองทุนเครดิตประชาชนเพื่อคนตัวเล็ก"หรือเรียกสั้นๆว่า "กองทุนคนตัวเล็ก" ที่เป็นกองทุนเพื่อคนฐานราก อย่างที่เราจะพบเห็นคนขายของต่างๆ เช่น รถเข็นขายส้มตำ-ไก่ย่าง หรือคนขี่วินมอเตอร์ไซด์  คนเหล่านี้ต่างก็อยากสร้างเนื้อสร้างตัว อยากมีรายได้ แต่เขาไม่มีทุน แล้ว cost ในการที่เขาจะหาเงิน ทุนแพงมากขณะที่เศรษฐีสามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2-3 ต่อปี แต่พวกเขาต้องกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 17-20 ต่อเดือน ทำให้หากินได้เท่าไหร่ก็ต้องส่งเจ้าหนี้หมด เดือนไหนหากินไม่ได้เช่นเจอโควิด เจ้าหนี้ก็มาตามทวงเงินแสนโหด ยึดอุปกรณ์ทำมาหากิน

"ประธานพรรคไทยสร้างไทย"ย้ำว่าดังนั้น กองทุนคนตัวเล็ก จึงต้องเกิดซึ่งใช้เงินไม่ได้เยอะ เพราะคนตัวเล็กไม่ได้กู้เยอะ และต้องเป็นกองทุนที่ให้คนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อแก้ไขปัญหายามฉุกเฉินในชีวิต และให้คนสามารถตั้งตัวได้โดยเฉพาะคนที่อยู่ฐานราก ที่เป็นรากหญ้าจริงๆ ตั้งตัวได้ ทำมาหากินได้

...โดยกองทุนจะให้กู้ได้ตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยประมาณ 0.75 เปอร์เซนต์ หรือไม่เกิน 1 เปอร์เซนต์ต่อเดือน ซึ่งแตกต่างกันมากจากที่เขาต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ 20 เปอร์เซนต์ต่อเดือน มาเหลือไม่เกิน 1 เปอร์เซนต์ต่อเดือน โดยต้องเริ่มกู้ที่ 5,000 บาท ระยะเวลาผ่อนหกเดือน เขาผ่อนและรักษาเครดิตได้ดี  ก็สามารถกู้เพิ่มได้ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่เอาการสร้างเครดิตของตัวเองค้ำประกัน โดยอาจจะกู้เพิ่มเป็น 8,000 บาท 10,000 บาทหรือกู้เพิ่มเป็น  30,000 บาท โดยเมื่อกู้ 30,000 บาทขึ้นไป จะให้ผ่อนภายในสามปี เพื่อให้เขาตั้งตัวได้ ให้เขามีเงินในกระเป๋า

....เมื่อพวกเขามีรายได้ รัฐก็จะเก็บภาษีจากเขาได้ เพราะหากปล่อยให้เขาจนแบบนี้ รัฐก็ต้องไปแจกเงินแบบนี้ต่อไปอีก แจกทุกปี  แล้วเงินที่แจกก็ใช้มากกว่าที่จะใช้เพื่อให้เขาตั้งตัว สามารถยืนอยู่บนขาตัวเองได้ ดังนั้นเราจะไม่แจกบัตรคนจน แต่เราจะแจก"บัตรเครดิตประชาชน" โดยหากเขาสามารถรักษาเครดิตได้ เขาจะอยู่ในระบบนี้ได้ตลอดไป มันจะเหมือนกับหลักประกันด้านสุขภาพ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่อันนี้คือหลักประกันได้การเงินที่ทำให้เขาสามารถอยู่ได้ในระบบนี้ โดยเมื่อเขาต้องการทุน ก็สามารถใช้ทุนตรงนี้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งต่อไปหากธุรกิจเขาดีขึ้น ต้องการกู้เงินมากกว่าห้าหมื่นบาท ก็ไปเข้ากองทุนเอสเอ็มอี ที่จะเป็นคนละเงื่อนไขกับกองทุนวิสาหกิจชุมชน แต่ทำให้คนตั้งตัวได้   โดยเราได้คำนวณแล้วว่าอาจจะมีคนไม่ดี ตั้งใจจะโกงในห้าพันบาทแรก กี่คนยังไง เรามีการศึกษามาแล้ว เราคิดแบบ worst case scenario แล้ว จะพบว่ากองทุนคนตัวเล็กในปีที่สี่ จะเริ่มมีกำไร    

ต้องดูแลประชาชน ตั้งแต่เกิดจนแก่ เพิ่มคุณภาพการเรียน -ปรับเปลี่ยนวิชาเรียน

"คุณหญิงสุดารัตน์-ประธานพรรคไทยสร้างไทย"ย้ำไว้ว่า นโยบายของพรรคไทยสร้างไทยในเรื่องการ Empower - Liberateจะอยู่ในทุกนโยบายในหลักคิดนี้ ซึ่งนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยจะขอดูแลประชาชน ตั้งแต่"เกิดจนแก่" แต่ไม่ใช่ดูแลแบบประชารัฐ ประชานิยมที่คิดแต่จะแจกเงินอย่างเดียว แต่เราต้องดูแลคนเพื่อให้ผลตอบแทนกลับคืนมาทางเศรษฐกิจ ทุกนโยบายของพรรคไทยสร้างไทย ในการดูแลตั้งแต่เกิดจนแก่ จะมีผลตอบแทนทางการเงินกลับคืนมาทั้งสิ้น 

อย่าง"การเกิด"เราจะดูแลเรื่องหญิงมีครรภ์ -เด็กตั้งแต่ในท้อง โดยเรื่องนี้ไม่ต้องลงทุนเยอะ เราเคยเป็นอดีตรมว.สาธารณสุขมาก่อนรู้เรื่องนี้ดี และเคยทำมาแล้วแต่ไม่มีคนทำต่อ ก็คือพัฒนาการของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงประมาณช่วงอายุ 10 ขวบ คือช่วงที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเด็ก เราต้องสร้างให้เด็กไทยมีไอคิวและอีคิวที่ดี  ก็จะมีโครงการฝากครรภ์ และบำรุงแม่จนถึงคลอด และดูแลลูกในด้านการพัฒนาด้านสมองในวัยเด็กอย่างเต็มที่ เราจะทุ่มเงินงบประมาณไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งวันนี้เหมือนสถานรับเลี้ยงเด็กแล้วเลี้ยงกันแบบไปที เพราะให้งบน้อยมาก แต่เราจะทุ่มงบตรงนี้เพื่อสร้างคน เราต้องสร้างคน สร้างเด็กไทยให้มีคุณภาพ เพราะเขาคือคนที่จะสร้างรายได้และดูแลประเทศนี้ต่อไป เราจะไม่ใช้งบประมาณไปในสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่จะนำงบมาใช้ในสิ่งนี้ที่คุ้มกว่าและใช้เงินน้อยมาก

และเมื่อเด็กโตขึ้น เรามีนโยบายให้เรียนฟรีจนจบปริญญาตรีอย่างมีคุณภาพ โดยเรื่องการเรียนเราจะเปลี่ยนหลักสูตร ที่เขาสามารถนำไปหากินได้ในโลกยุคใหม่ เช่น"สอนการค้าขายออนไลน์"ทำโปรเจคต์ให้กันขายออนไลน์โดยหาสินค้าให้ขายกันจริงๆ สอนให้เขาขายออนไลน์เป็น สอนให้เขามี Creative Thinking ความคิดสร้างสรรค์ สอนให้เขาเล่าเรื่องเป็น Storytelling หรือแม้แต่เด็กที่ชอบเล่นเกมส์ ซึ่งปัจจุบันเกมส์ก็นำมาทำมาหากินได้ แคสเกม -การวาดรูป NFT สิ่งเหล่านี้คือการสอนวิชาที่เขาสามารถนำไปทำมาหากินได้ในโลกยุคใหม่

"คุณหญิงสุดารัตน์-ประธานพรรคไทยสร้างไทย"กล่าวมาถึงเรื่องนี้ จากนั้นได้เล่าพลางนำรูปส.ค.ส.ที่วาดด้วยคอมพิวเตอร์ที่พบว่ามีไอเดียสร้างสรรค์และวาดภาพออกมาได้สวยงาม โดย”คุณหญิงสุดารัตน์” เล่าให้ฟังว่า ในช่วงปีใหม่ 2565 ที่ผ่านมา ได้ให้เด็กลองส่งประกวดการวาดภาพด้วยคอมพิวเตอร์ ทำเป็นส.ค.ส.ที่ก็มีเด็กที่อายุอยู่ในช่วงประมาณ 14-16 ปี ส่งภาพมาให้หลายคน เป็นเด็กที่เล่นเกมส์แล้ววาดรูปออกมา เชื่อไหม เราส่งผลงานของพวกเขาที่ส่งมาให้ ส่งไปให้บริษัทเกมส์ พบว่าก็มีเด็กบางคนทำรายได้เดือนละ 30,000-40,000 บาท บางคนทำรายได้ถึงหลักแสนบาทจากที่ส่งภาพไปยังบริษัทผลิตเกมส์ทั่วโลก เราต้องสอนวิชาเหล่านี้ให้เด็กได้ทำมาหากิน และแน่นอน ต้องสอนให้เด็กเป็นคนดีของประเทศ รู้จักหน้าที่ต่อตนเอง ต่อประเทศชาติ รักษา"ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์"ที่ต้องมี รักษาสถาบันฯ วันนี้เราเอง ต้องส่งเสริมเด็กแบบนี้

...ดังนั้นหลักสูตรต้องถูกเปลี่ยน ขณะเดียวกัน เราจะลดวิชาเรียน ระดับมัธยมต้นลดหนึ่งปี มัธยมปลายลดหนึ่งปี แต่ต้องเรียนแบบมีคุณภาพ โดยเด็กนักเรียนในภาคบังคับ จะต้องได้เรียนกับครูที่เก่งๆ เหมือนกันหมด ไม่ว่าเขาจะอยู่บนดอยไหน อยู่ในป่าเขาไหน เพราะเรามีอินเตอร์เน็ตหมดแล้ว ครูเก่งๆ ที่อยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สามารถสอนขึ้นไปที่เด็กที่อยู่บนยอดดอย โดยใช้อินเตอร์เน็ต ใช้ metaverse เด็กจะเห็นครูเขียนกระดานเหมือนกัน แล้วก็จะช่วยพัฒนาครูในพื้นที่ให้เก่งขึ้นด้วยในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็คือเด็กจะต้องมีโอกาสในการได้เรียนแบบทัดเทียมกัน เรียนในวิชาที่เขานำไปทำมาหากินได้ และให้มีการ"เปลี่ยนอำนาจการซื้อ"จากเดิมที่เราให้เด็กเรียนฟรี 12 ปี ที่ให้งบไปที่โรงเรียน แต่นโยบายพรรคไทยสร้างไทยจะให้งบไปที่เด็ก เป็น"คูปองการศึกษา"ให้เด็กเลือกเรียน เลือกที่เรียนได้ เพื่อแต่ละโรงเรียนจะได้พัฒนาหลักสูตรของตัวเอง แล้วก็ลดภาระของครู เลิกทำวิชาการ เลิกทำเปเปอร์ เพราะครูมีหน้าที่วัดผลจากการสอนเด็ก ไม่ใช่วัดผลจากการทำงานวิชาการ แต่วัดจากผลการผลิตเด็กให้มีคุณภาพ

....จึงต้อง"ลดภาระครู -เพิ่มคุณภาพการเรียน -ปรับเปลี่ยนวิชาเรียน"โดยนอกจากการให้ลดจำนวนปีเรียนของมัธยมต้นหนึ่งปีและมัธยมปลายหนึ่งปีแล้ว ในส่วนของการเรียนในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยก็จะให้ลดหน่วยกิตลง ให้เหลือการเรียนแค่สามปี เพื่อให้เด็กจบเร็วขึ้น

โดยในช่วงตอนสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนเข้ามหาวิทยาลัย ความเป็นคณะมีหมด แต่เหมือนเด็กตอนเข้ามหาวิทยาลัย ถือตระกร้าช้อปปิ้งเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตให้อารมณ์เป็นประมาณนั้นเช่น บางคนอยากเป็นแม่ค้า เพราะชอบขายของ ก็อยากเรียนบัญชี เพื่อให้ดูบัญชีเป็นว่า กำไรหรือขาดทุน รวมถึงอยากเรียนการตลาดจากคณะบัญชี แต่ขณะเดียวกัน เขาก็อาจอยากทำเว็บไซด์เป็น นักศึกษาคนนั้น ก็สามารถไปลงเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ ขณะเดียวกัน อยากรู้เรื่องกฎหมายด้วย ก็สามารถไปลงเรียนวิชากฎหมายเกี่ยวกับการค้าขายที่คณะนิติศาสตร์ได้ หรืออยากเขียน storytelling เป็น ก็ไปเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ได้ 

...สิ่งเหล่านี้คือการทำให้เด็กสามารถดีไซน์การเรียนของตัวเองได้เพื่อจะได้นำไปประกอบอาชีพอะไรต่างๆเพื่อให้เด็กสร้างอนาคตของเขาเองได้ ให้เด็กดีไซน์วิชาการเรียนเองได้และให้เรียนแค่สามปี ยกเว้นบางคณะเช่น การเรียนด้านการแพทย์-ทันตแพทย์-วิศวะฯ -สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย เกี่ยวกับชีวิตของคน ก็ต้องเรียนเต็มที่

...นโยบายที่บอกจะทำให้เด็กส่วนใหญ่เรียนจบเร็วขึ้น เท่ากับว่าการลดเวลาเรียน ทั้งระดับมัธยมต้น-มัธยมปลายและปริญญาตรี จะทำให้เด็กเรียนจบเร็วขึ้นสามปี โดยเราจะลงทุนกับคน ลงทุนกับการเรียน สอนเด็กไทยให้เก่งให้เป็นพลเมืองโลกหรือ GLOBAL CITIZENให้ได้ เท่ากับเด็กจะออกมาทำงานเร็วขึ้นสามปี

..สิ่งนี้คือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีเด็กเข้าสู่ระบบการทำงานน้อยลง แต่ถ้าเราทำให้คนที่จบการศึกษาเข้ามาทำงานเร็วขึ้น เขาก็จะสร้างรายได้ให้ตัวเองเร็วขึ้นสามปี  พ่อแม่ก็จะหมดห่วงเพราะได้เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี แล้วเราจะไปโปรโมตนักเรียนสายช่าง-สายเทคนิค ให้เป็นช่างด้านเทคนิคและด้านดิจิตอล มันถึงจะตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ไม่ใช่เรียนแล้วตกงาน

"บำนาญประชาชน 3,000 บาท" ตอบโจทย์รองรับสังคมผู้สูงวัย

นโยบาย 3,000 บาทบำนาญประชาชนจะมาตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา การรองรับสังคมผู้สูงวัย...โดยเราจะให้สามพันบาทกับผู้สูงวัยที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ไม่ใช่ว่าแจกทุกคน แต่แจกกับคนที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ..นโยบาย3,000 บาท บำนาญประชาชน ทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ เป็นการรองรับสังคมผู้สูงวัย

"คุณหญิงสุดารัตน์"กล่าวถึงนโยบายสำคัญของพรรคไทยสร้างไทยที่สร้างกระแสตอบรับและถูกพูดถึงอย่างมากอย่าง นั่นก็คือ "บำนาญประชาชน 3,000 บาท"โดยกล่าวว่า เรื่องการดูแลผู้สูงวัย นโยบายบำนาญประชาชน 3,000 บาท เรายืนยืนนโยบายนี้ ใครก็ได้มาดีเบตกันได้ ยืนยันว่า นโยบายดังกล่าว ไม่ใช่ประชารัฐ ประชานิยม แต่เป็นนโยบายที่เป็นหลักคิดในการต่อยอดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะวันนี้เราต้องสร้างสังคม สร้างประเทศที่จะรองรับสังคมผู้สูงวัย เราเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกในโลก ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มขั้น เรามีประชากรผู้สูงวัย 20 เปอร์เซนต์ของประชากรของประเทศ มีอยู่ประมาณ 11 ล้านกว่าคน ซึ่งผู้สูงวัยของประเทศไทย "แก่ก่อนรวย" คือยากจน พอยากจนเป็นส่วนใหญ่ ร่างกายก็อ่อนแอด้วย เมื่อทั้งยากจนและอ่อนแอ ถ้าเราไม่แก้ตรงนี้ ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีแต่คนแก่ที่ยากจนและอ่อนแอ เศรษฐกิจจะเดินไปได้ไหม ก็ไม่มีทางเดินไปได้ เราจะไม่มีใครสร้างรายได้หรือสร้าง Productivityให้กับประเทศ รวมถึงรัฐต้องควักเงินมารักษาฟรีมากขึ้น และขณะเดียวกัน ครอบครัวเอง แม้รัฐจะรักษาให้ฟรี แต่คนในครอบครัวก็ต้องมาดูแลคนเจ็บคนป่วย ก็ต้องเสียเงินอีก รายจ่ายก็ต้องเพิ่มขึ้นแต่รายได้ไม่มี เพราะคนแก่ยากจนและไม่แข็งแรง

"วันนี้นโยบาย 3,000 บาทบำนาญประชาชนจะมาตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา การรองรับสังคมผู้สูงวัย"

..โดยเราจะให้สามพันบาทกับผู้สูงวัยที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ไม่ใช่ว่าแจกทุกคน แต่แจกกับคนที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ที่อย่างน้อยก็ได้ตอบแทนพระคุณผู้สูงวัยที่ทำงานมาตลอดชีวิต แล้วเมื่อเขามีอายุมากแล้วเขาไม่มีรายได้เพียงพอ ก็ให้รัฐดูแล อย่างน้อยให้เขาวันละหนึ่งร้อยบาท เขาก็พออยู่ได้สามมื้อ ไม่ใช่ว่าเขาอายุ 60 ปีได้ 600 บาท ได้แค่ 20 บาทต่อวัน ที่ซื้ออะไรรับประทานแทบไม่ได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้

"ประธานพรรคไทยสร้างไทย"ย้ำว่า นโยบาย3,000 บาท บำนาญประชาชน ทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ เป็นการรองรับสังคมผู้สูงวัย ต้องสร้างให้คนสูงวัยเมื่อมีรายได้แล้วต้องมีหน้าที่ โดยเมื่อรับเงินสามพันบาทแล้ว ต้องเข้าสองโปรแกรม คือโปรแกรมสร้างสุขภาพ โดยจะให้มีทุกหมู่บ้าน โดยใช้ศาลาประชาคม แล้วใส่ระบบเข้าไป โดยเราได้คุยกับทางหมอเรียบร้อยแล้ว เขาจะมีการออกแบบเกมให้เล่น เพื่อฝึกสมองไม่ให้ฝ่อ ไม่ให้เป็นอัลไซเมอร์

.... อันที่สอง เราอาจจะลงทุนกับเครื่องออกกำลังกาย เพื่อให้เขายังมีร่างกายแข็งแรง ให้ขา-แขน-กล้ามเนื้อยังแข็งแรง ไม่ปวดเข่า และให้เขาได้มีสันทนาการกัน เช่น มาทำกิจกรรมแล้วก็เลี้ยงอาหารเขาหนึ่งมื้อ ได้ร้องรำทำเพลง หัวใจเขาก็จะแข็งแรงขึ้น เมื่อจิตใจเข้มแข็ง ร่างกายแข็งแรง เขาจะกลับมาทำงานได้เช่นช่วยครอบครัว เลี้ยงหลาน ช่วยขายของ หรือตัวเองจะออกไปทำงานเอง โดยหากมีบริษัทใดจ้างผู้สูงวัยทำงาน จะมีการลดภาษีให้ หรือหากเขาอยากไปทำงานเป็นอาสาสมัครเช่นไปทำงานช่วยโรงพยาบาล เขาก็ได้ทำประโยชน์ให้สังคม

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเป้า KPI ผู้สูงวัยด้วย โดยต้องลดความดัน-ไขมัน-เบาหวาน ลงให้ได้ แต่หากรับเงินบำนาญดังกล่าวไปแล้ว แต่ไปใช้ชีวิตแบบกินเหล้าสูบบุหรี่ เล่นไพ่ เราก็ไม่ให้ เพราะเราต้องการให้เมื่อรับไปสามพันบาทแล้วต้องรักษาสุขภาพ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย ถ้าเราไม่ทำแบบนี้เราจะมีแต่คนแก่ที่อ่อนแอและยากจนทั้งประเทศ เราต้องให้คนแก่ของเราพอมีรายได้และแข็งแรงพอกลับมาทำงานได้ เพื่อสร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เมื่อคนสูงวัยร่างกายแข็งแรงขึ้น

นอกจากนี้เขายังต้องเข้า"โปรแกรม ReSkill - UpSkill"ตัวเอง อย่างการสอนผู้สูงอายุให้ใช้ออนไลน์ ไม่ใช่แค่ให้ทักทาย good moring สวัสดีวันจันทร์ แต่เขาจะสามารถเรียนรู้การใช้ออนไลน์เพื่อประโยชน์ของตัวเขาเอง เช่นติดต่อหมอทางออนไลน์ หรือทำมาหากินบนออนไลน์ได้ ช่วยลูกหลานได้ ถือเป็นการลงทุนที่ถูกมาก เพราะการลงทุนกับคนเป็นเรื่องสำคัญ

...นอกจากนี้นโยบาย  บำนาญประชาชนเดือนละ 3000 บาท ยังช่วยลดภาระคนหนุ่มสาว เพราะปัจจุบันคนหนุ่มสาววัยทำงาน หาเงินได้ก็ต้องส่งเงินไปให้พ่อแม่ โดยที่บางคนแค่ตัวเองก็มีรายได้ไม่พออยู่แล้ว ก็ทำให้บางคนอาจสร้างตัวเองไม่ได้ นโยบายนี้ก็จะช่วยลดภาระคนหนุ่มสาว

และประการสุดท้าย สำคัญที่สุด นโยบายดังกล่าว จะทำให้เกิดการ"กระตุ้นเศรษฐกิจ" อย่างมหาศาล เงิน 300,000-400,000 ล้านบาท ถ้าจะนำมาใช้แบบเต็มที่ตรงนี้แล้ว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างเต็มที่

"คุณหญิงสุดารัตน์"ให้ข้อมูลว่า เพราะแต่ละหมู่บ้าน จะมีคนแก่ไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยคน เท่ากับ หนึ่งร้อยคนได้สามพันบาท ก็เท่ากับ หนึ่งหมู่บ้านมีเงินหมุนเวียนสามแสนบาทต่อเดือน ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านส้มตำ ร้านขายผัก-ปลา จะขายดีขึ้นมาหมด ตลาดจะมีความคึกคักจากคนแก่ที่ได้เงินสามพันบาท ผู้สูงอายุพอได้เงินมาแล้ว เขาจนเขาต้องใช้-ต้องกิน ไม่มีใครเอาไปหยอดกระปุกเพราะเราไม่ได้ให้คนสูงอายุรวย แต่ให้คนสูงอายุที่จน เขาจะนำเงินมาใช้ ก็จะเป็นกำลังซื้อมหาศาล เอาแค่หมุนสามรอบ ใช้เงินเต็มที่สี่แสนล้านบาท เอาสี่แสนล้านบาทคูณสาม หมุนสามรอบ เท่ากับเราจะเก็บภาษีจากการซื้อ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีบุคคลธรรมดา จากฐานภาษีจากเงินที่ลงไป1.2 ล้านล้านบาท  จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากฟื้นขึ้นมาเลย เมื่อเศรษฐกิจฐานรากฟื้น ร้านในชุมชน ร้านในตลาด ตามตำบลตามหมู่บ้าน-อำเภอขายดี ร้านขายส่งขายดี โรงงานขายดี เศรษฐกิจมันจะขึ้นมาหมดเลย เอสเอ็มอีจะโตขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้มีการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศที่จะได้ผลมากที่สุด แล้วภาครัฐก็จะไปเก็บภาษีคืนมาได้

"ทุกนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยไม่ใช่ว่าแจกเงินแบบไม่มีผลตอบแทนทางการเงินกลับมาสู่ประเทศ แต่ทุกนโยบายเราคิดถึงผลตอบแทนและความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณทั้งหมด"

..ซึ่งนโยบาย  บำนาญประชาชนเดือนละ 3000 บาท เรื่องงบประมาณในการทำโครงการ ยืนยันได้ว่าไม่มีปัญหาเพราะได้มีการเตรียมไว้หมดแล้วว่าจะนำงบจากตรงไหนมาทำนโยบายนี้ได้ โดยเมื่อถึงตอนช่วงดีเบต เราจะนำมาโชว์ มาคลี่ให้ดูว่าจะนำงบจากส่วนใดมาทำ มีคนถามว่าจะทำได้จริงหรือ ก็อยากบอกว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ยากกว่า บำนาญประชาชนเดือนละ 3000 บาทเป็นพันเท่า สุดารัตน์ ทำสำเร็จมาแล้ว บำนาญ 3,000 บาท ง่ายกว่าเยอะมาก ทำสำเร็จได้แน่นอน

พรรคไทยสร้างไทย ทางเลือกใหม่ ทางรอดของประเทศ

...พรรคไทยสร้างไทย ใจเราสู้เต็มร้อย เป็นภารกิจครั้งสุดท้ายที่จะสร้างพรรคการเมือง พรรคนี้ให้เป็นเครื่องมือการทำงานที่ดีที่สุดให้กับประเทศ เราหวังว่าพรรคไทยสร้างไทยจะสามารถทำให้เป็น"ทางเลือกใหม่ เป็นทางรอดของประเทศ" ที่จะยุติทุกความขัดแย้ง รับฟังทุกความเห็นต่าง และมุ่งสร้างเศรษฐกิจไทยให้ได้

-ได้วางเข็มทิศ หลักไมล์ทางการเมืองของพรรคไทยสร้างไทย หลังจากนี้ไว้อย่างไรบ้าง?

เราวางไว้ว่าเราเป็นพรรคฝ่ายระบอบประชาธิปไตยที่มี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฯ เรามุ่งไม่สร้างปัญหาให้กับประเทศ โดยที่เราก็ต้องรักษาสิทธิและโอกาสของประชาชน และสามสถาบันหลักของประเทศเอาไว้ โดยให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทุกนโยบายต้องตอบโจทย์กับประชาชน ประชาชนต้องเป็นศูนย์กลาง

ไทยสร้างไทย เราเป็นพรรคใหม่ เราอาจจะเสียเปรียบ แต่ว่าใจเราสู้เต็มร้อย มันเป็นภารกิจครั้งสุดท้ายที่จะสร้างพรรคการเมืองนี้ให้เป็นเครื่องมือการทำงานที่ดีที่สุดให้กับประเทศสำหรับเรา เราหวังว่าพรรคไทยสร้างไทยจะสามารถทำให้เป็น"ทางเลือกใหม่ เป็นทางรอดของประเทศ" ที่จะยุติทุกความขัดแย้ง รับฟังทุกความเห็นต่าง และมุ่งสร้างเศรษฐกิจไทยให้ได้

เราหวังว่าพรรคไทยสร้างไทย จะสามารถทำให้อย่างน้อยคนไทยฐานราก ได้หายจน หมดหนี้ มีรายได้อย่างยั่่งยืน สามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ ทุกนโยบายเราจะมุ่งเน้นไปที่ตัวประชาชน สร้างให้ประชาชนตั้งหลักตั้งฐานของตัวเองได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นคนรุ่นใหม่ -อยู่บนธุรกิจแบบเก่า ก็ให้เขาตั้งหลักตั้งฐาน ให้ทุกคนมีรายได้ดีขึ้น โดยขจัดอุปสรรคที่ขวางกั้น และสร้างพลังให้กับเขา

ไทยสร้างไทยเราเสนอตัวแล้ว เราก็ต้องการที่จะชนะการเลือกตั้ง เราก็ทำเต็มที่แม้จะรู้ว่าอาจจะเสียเปรียบ กับการเป็นพรรคการเมืองใหม่แต่เราทำเต็มที่สุดกำลัง เราสร้างประเทศนี้คนเดียวไม่ได้ ถ้าคนเห็นด้วยว่าควรต้องมาสร้างประเทศนี้กันใหม่ ทุกคนต้องมาช่วยกันร่วมสร้าง

สิ่งที่เราอยากทำตอนนี้ก็คืออยากฝากผลงานและประสบการณ์การเมืองสามสิบปีมาสร้างพรรคการเมืองดีๆให้เกิดขึ้นให้ได้ ตามความใฝ่ฝันของเราสักพรรคการเมืองหนึ่ง และให้พรรคไทยสร้างไทยเป็นเครื่องมือในการทำงาน และให้คนรุ่นต่อไปมารับลูกต่อไป

-ความพร้อมของพรรคไทยสร้างไทย หากมีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีมีการยุบสภากลางปี  หรือว่าสภาอยู่ครบสี่ปี ต้องมีการเลือกตั้งหลังมีนาคม 2566 ?

ก็พร้อม จะแค่ไหนก็ต้องพร้อม เราอาจจะเสียเปรียบ แต่ใจสู้ จะทำสำเร็จหรือทำไม่สำเร็จไม่รู้ แต่ขอประชาชนช่วยกันสำเร็จแน่ คิดว่าพรรคไทยสร้างไทยจะเป็นทางเลือกใหม่ที่ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง แล้วก็จะเป็นทางเลือกที่จะทำให้ทั้งประชาชน และสถาบันหลักของประเทศได้รับการดูแลอย่างดี เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจไทยต่อไป   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.ป้ายแดง ไม่กดดันพิจารณาคดีร้อนยุบพรรค

นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้ารับตำแหน่งกกต. ว่า ก่อนหน้านี้กกต.ทำงานได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้ามองจากข้างนอกก็มีอุปสรรคปัญหาที่สะท้อนกลับมาในบางเรื่อง ซึ่งเป็นภาพรวมที่ว่ากกต.ทำอะไรกันอยู่ กกต.ทำอะไรถึงไหนแล้ว พอตนเข้ามานั่งอยู่ในตำแหน่งกกต. สิ่งหนึ่งที่อยากพัฒนาก็คือความสามารถ

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

'อุ๊งอิ๊ง-รัฐมนตรีเพื่อไทย' แห่รับ 'ทักษิณ' ​เข้าพรรค

ผู้สื่อข่าวรายงานจากตึก OAI ซึ่งเป็นที่ตั้งของพรรคเพื่อไทย ว่าในวันนี้ (26 มี.ค.) ที่มีกำหนดการว่านายทักษิณ​ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางเข้าพรรค ทำให้บรรยากาศที่พรรคเพื่อไทยเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้สนับสนุนเดินทางมารอรับนายทักษิณตั้งแต่ช่วงเช้า เช่นเดียวกับบรรดาสส.

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 3)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'เสรี' เผยมี 27 สว. อภิปรายรัฐบาล รับอาจไม่ดุเดือดเพราะไม่มีการลงมติ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงการเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ของ ส.ว. ในวันที่ 25 มี.ค.ว่า จะมีผู้อภิปราย 27 คน ส่วนประเด็นที่จะอภิปราย จะยึดตามกรอบญัตติที่เคยยื่นไป