‘กระทรวงแรงงาน’ มุ่งยกระดับแรงงาน เพิ่มศักยภาพ-พัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ

เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2565 ขึ้นที่กระทรวงแรงงาน หลังจากว่างเว้นมา 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยในปีนี้  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดด้วยตัวเอง พร้อมด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน 

โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์กับแรงงานว่า รัฐบาลตระหนักถึงบทบาทของผู้ใช้แรงงานทุกคน ไม่เคยทอดทิ้งและเอาใจใส่ทุกท่านอยู่เสมอ ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นโอกาสดีที่จะกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงสิทธิ ความเสมอภาค สวัสดิการและความปลอดภัยในอาชีพ และได้รับความต้องการที่แท้จริงนำไปพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความสุขมั่นคง 

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เสมอมา ที่ผ่านมารัฐบาลเรามีความมุ่งมั่นจะผลักดันให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเต็มรูปแบบในเวทีการค้าโลก ดังนั้น การพัฒนาแรงงานเพื่อให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น  มีชีวิตที่ดีและความสุขอย่างยั่งยืน เป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต้องดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศ”

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวย้ำว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์  และ พล.อ.ประวิตร ในฐานะดูแลและกำกับกระทรวงแรงงาน ตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ถึงแม้ว่าประเทศไทยและประเทศทั่วโลกยังคงประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงแรงงานยังมุ่งมั่นส่งเสริมให้แรงงานมีงานทำ และได้รับการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงในทุกมิติสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึงให้มีความปลอดภัยในทำงาน รวมถึงการสร้างหลักประกันทางสังคมแก่​แรงงานนอกระบบ กลุ่มเปราะบาง  ยกระดับการประกันสังคมเพื่อให้แรงงานได้รับประโยชน์สูงสุด เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ปัจจุบัน และรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นำไปสู่ความมั่นคง ความมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเรียกร้องวันแรงงานในปีนี้ทั้ง 8 ข้อนั้น นายสุชาติระบุว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะของแรงงาน โดยจะนำข้อเรียกร้องมาดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน มีการหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเพื่อพัฒนาการให้บริการพี่น้องแรงงาน และได้ประสานแจ้งให้คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติทราบถึงความคืบหน้าแล้ว เพราะตระหนักดีว่าทุกข้อเสนอแนะจะนำมาซึ่งการปรับปรุงการดำเนินการของกระทรวงแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พี่น้องแรงงานมีความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศสืบไป 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินการของกระทรวงแรงงานในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่  การปฏิรูปประกันสังคมในส่วนของการขยายอายุผู้ประกันตน มาตรา 40 เพื่อให้สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุ จากเดิมไม่เกิน​ 60 ปี เป็นไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ โดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อยู่ระหว่างเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ 

ส่วนการเร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบนั้น ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ​... เพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีความปลอดภัยในการทำงาน มีหลักประกันทางสังคม มีการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กร ได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 28  ธ.ค.64 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป 

นอกจากนี้ ยังมีการรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่  87 และฉบับที่ 98 ซึ่งได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับแล้ว ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ...​ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 5 ก.พ.62 และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์​ พ.ศ.​ ... ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 29 ก.ย.63 เมื่อมีผลบังคับใช้แล้วจะนำเสนอให้รัฐบาลให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าวได้ 

ส่วนการกำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดทำแนวปฏิบัติของพนักงานตรวจแรงงาน กำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามมาตรา 11/1 อย่างเคร่งครัด และชี้แจงนายจ้างให้ปฏิบัติต่อลูกจ้างรับเหมาค่าแรงให้ถูกต้องตามกฎหมาย 

ขณะที่ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้ายนั้น กระทรวงแรงงานได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง​ พิจารณาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยและงดจ่ายภาษีกรณีเงินออกจากงาน และขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ หากมีการแก้ไขจะมีผลบังคับใช้ทั้งลูกจ้างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งได้ดำเนินการจัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่งตั้งคณะทำงานที่เป็นคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมาศึกษาปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังเปิดเผยด้วยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงแรงงานได้มีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ดังนี้ โครงการเยียวยา​นายจ้าง​และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40​ ในพื้นที่ 29 จังหวัด ซึ่งมีการเยียวยานายจ้าง​จำนวน 192,911 ราย​ และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 ​รวม​ 12.33 ล้านราย​ รวมเป็นเงิน​ 103,738.55 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีโครงการเยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิง และผู้ประกอบอาชีพอิสระ​ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ​ ผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40​ ในพื้นที่ทั่วประเทศ​ รายละ 5,000​ บาท​ จำนวน​ ​147,714 ราย​ เป็นเงิน​ 738.57  ล้านบาท 

ในส่วนของธุรกิจ SMEs ได้มีโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs​ โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน​ 394,703 แห่ง​  สามารถรักษาการจ้างงานให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้กว่า​ 4,032,948 ราย​ เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 37,521.69 ล้านบาท​ โดยรัฐบาลอุดหนุนนายจ้างจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อเดือน 3 เดือนเพื่อรักษาการจ้างงาน

และเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบ กระทรวงแรงงานได้ลดเงินสมทบ​ 3 เดือนให้แก่นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ผู้ประกันตนตามมาตรา 39​ ​และลดเงินประกันสังคมมาตรา 40​ จำนวน​ ​6 เดือน รวมแล้วได้มีการลดอัตราเงินสมทบจำนวน​ 6 ครั้ง​ สามารถลดค่าครองชีพผู้ประกันตนกว่า 23.92 ล้านคน​ นายจ้าง 488,276 ราย​ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 146,488 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีการเปิดจุดตรวจโควิด​ ในโครงการ “แรงงาน..เราสู้ด้วยกัน”​  โดยเป็นการตรวจโควิดฟรีที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง  กรุงเทพฯ และมีการเปิดจุดตรวจโควิด-19 ทั้งประจำและเชิงรุก​ ในโรงงานในพื้นที่ 23 จังหวัด​ โดยให้บริการผู้ใช้แรงงานไปทั้งสิ้น​ 409,972 คน​ รอดำเนินการจัดหาเตียงในลักษณะ Hospitel กว่า​ 48,000 เตียง​ เพื่อรองรับผู้ใช้แรงงานที่ป่วยจากโควิด-19​ พร้อมทั้งมีการผลักดันโควตาวัคซีนโควิด-19 ​สำหรับผู้ใช้แรงงาน โดยปัจจุบันมีการดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วกว่า​ ​4​ ล้านโดส

กระทรวงแรงงานยังได้ทำโครงการ Factory Sandbox  เพื่อป้องกันการระบาดในโรงงาน โดยมีโรงงานเข้าร่วมโครงการ​ ​730 แห่ง​ มีผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมกว่า​ 4  แสน​คน​ ทำให้โรงงานไม่ต้องปิดตัวลง​ ส่งผลให้การส่งออกปี​ 2564 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี​ มูลค่ารวมกว่า​ 2.71  แสนล้านเหรียญสหรัฐ​ฯ​

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวด้วยว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งธนาคารแรงงาน​เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคง​ โดยตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธนาคารประกันสังคม ได้มีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคมแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โลกเดือด !!! “พิพัฒน์” ห่วงใย “ผู้ใช้แรงงาน” แนะ 6 ข้อ ช่วงอากาศร้อนจัด 40-43 องศา

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ประจำปี พ.ศ.2567 ภายใต้หัวข้อ

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

นายกฯ ร่วมผู้นำ 17 ประเทศ แถลงเรียกร้องปล่อยตัวประกันในกาซา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "วันนี้ ผมร่วมกับผู้นำ 17 ประเทศที่มีตัวประกันที่ยังอยู่ในกาซา ออกถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด