ดร.ณัฎฐ์ กางข้อบังคับพรรคก้าวไกล มัด 'พิธา-ถือหุ้นสื่อ' เซ็นส่งสมัครส.ส.เป็นโมฆะ!


ดร.ณัฎฐ์-นักกฎหมายมหาชน มองต่างมุม 'วิษณุ-นายกสมาคมทนาย' ปม “พิธา-ถือหุ้นสื่อ” ลงนามในหนังสือส่งสมัคร ส.ส.เป็นโมฆะหรือไม่ พร้อมกางข้อบังคับพรรคก้าวไกลมัดซ้ำ ฟันเปรี้ยงล้มกระดาน!

2 มิ.ย.2566 - จากกรณี ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ระบุว่าหากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาการถือครองหุ้นสื่อไอทีวี ขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ส. ส่งผลให้ขาดความเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ แต่อาจเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ โดยการลงนามในหนังสือส่งสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ย่อมตกเป็นโมฆะ จะทำให้มีการเลือกตั้งซ่อมใหม่ทั่วประเทศ

และต่อมา นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ในความเห็นตรงกันข้าม ว่ากรณีนายพิธา ถือหุ้นสื่อ มีผลเฉพาะตัว กิจการที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้กระทำในฐานะเป็นหัวหน้าพรรค ไม่ถูกกระทบเพราะการขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ไม่ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมใหม่ นั้น

ล่าสุด ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชน แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่าก่อนอื่นเป็นการให้วิทยาทานในความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชน เป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยหลักการขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อมไม่มีผลย้อนหลังเฉพาะตำแหน่ง หมายความว่า การทำหน้าที่ ส.ส.สิ่งใดที่ปฎิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ให้ถือว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายมหาชน เหตุเป็นเช่นนี้เพราะกิจการในราชการมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่มีผลลบล้างสิ่งที่บุคคลที่กระทำในตำแหน่งเช่นนั้นให้โมฆะสูญเปล่า

ดร.ณัฐวุฒิ อธิบายว่า จะเห็นได้จาก รัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง ส.ส.หยุดปฎิบัติหน้าที่ ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง ส่วนพรรคการเมืองในประเทศไทย จะต้องปฎิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และระเบียบ กกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจะต้องปฎิบัติตามข้อบังคับของพรรคการเมืองนั้น หากกิจการนั้นกระทำไป ต่อมาภายหลัง กก.บห.ขาดคุณสมบัติมาแต่แรก หาก กก.บห.บุคคลนั้น รู้แต่แรก แต่ยังฝ่าฝืน การดำเนินกิจการนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าที่ผ่านมา 17 ปี นับแต่บิดาถึงแก่กรรม นายพิธาได้รับหนังสือผลประกอบการรายปีที่ บมจ.ไอทีวีแจ้งให้ทราบแต่ละปีหรือไม่ ตรงนี้เป็นคำตอบ นอกเหนือจากใบหุ้น หากรู้แล้วไม่แจ้ง แต่ปกปิด ย่อมมีผลเท่ากัน กิจการที่กระทำไปนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายมหาชน จะเทียบเคียงกับนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนไม่ได้ จะเห็นได้จากข้อบังคับพรรคก้าวไกล นอกจากสมาชิกจะเสียค่าบำรุงพรรครายปีหรือตลอดชีพ และต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ในการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลด้วย

"จะเห็นได้จาก ข้อบังคับพรรคก้าวไกลล่าสุด ได้กำหนดไว้ในข้อ 12 กำหนดถึงการเป็นสมาชิกต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาเป็นสมาชิกพรรค โดยระบุในข้อ 21 ถึงการสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรค เมื่อขาดคุณสมบัติ ข้อ 11 หรือข้อ 12 โดยในข้อ 37 ระบุว่า กก.บห.สิ้นสุดลง เฉพาะตัวเมื่อพ้นจากสมาชิกภาพ จะเห็นได้ว่า ข้อบังคับพรรคก้าวไกล การถือครองหุ้นสื่อ ได้นำไปเขียนไว้เป็นสาระสำคัญในการเป็นสมาชิกพรรค โดย กก.บห.จะต้องเป็นสมาชิกพรรค หากกิจการที่ได้กระทำไปแล้วในนามนิติบุคคลตามกฎหมายพรรคการเมือง โดยตนรู้ดีอยู่แล้ว ยังฝ่าฝืนผลทางกฎหมายย่อมไม่สมบูรณ์มาแต่แรก หรือที่เรียกว่าเป็นโมฆะ สูญเปล่า มีผลลบล้างสิ่งที่ตนกระทำลงไปในกิจการ ดังนั้น จุดตัด จุดต่าง ที่จะล้มกระดานการลงนามส่งสมัคร ส.ส.อยู่ตรงนี้" ดร.ณัฐวุฒิ ระบุ

นักกฎหมายผู้นี้ กล่าวต่อไปว่าประเด็นรู้อยู่แล้วในช่วงดำรงตำแหน่ง ส.ส.เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ปปช.เพิ่มเติม ระหว่าง ปี 2562-2566 ส่อแสดงให้เห็นว่า ตนรู้อยู่แล้ว ว่ามีหุ้นสื่อถือครอง กิจการที่กระทำในนามหัวหน้าพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายมหาชน ย่อมส่งผลถึงกิจการที่ทำในนามพรรคก้าวไกลย่อมตกเป็นโมฆะ สูญเปล่ามาแต่แรก ล้มทั้งกระดานของพรรค ทั้งมีความผิดฐานจงใจปกปิดคุณสมบัติฯ ตามกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษทางอาญา หากพิสูจน์ว่า ตนเองไม่ทราบมาก่อน แต่ไปลงนามในหนังสือส่งผู้สมัคร ส.ส. การทำกิจการดังกล่าว ย่อมไม่มีผลย้อนหลังเช่นกัน ดังนั้น ต้องดูเจตนาตรงจุดนี้ด้วย

"ดังนั้น การที่ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้ความเห็นทางกฎหมาย ท่านอาจพูดไม่ครบถ้วน แต่พูดตามเท่าที่สื่อมวลชนสอบถาม ส่วนที่ว่า เป็นโมฆะอย่างไร ส่งผลให้มีการเลือกตั้งซ่อมใหม่ ท่านไม่ได้อธิบายไว้ ส่วนนายนรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ที่ได้แถลงการณ์ไว้ ระบุข้อเท็จจริง ไม่ครบถ้วน แค่มุมเดียว ฐานคติลำเอียง หากเป็นหนัง ก็แค่หนึ่งครึ่งม้วน"

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นที่ รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊กโดยยกรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ทำนองว่าถ้านายพิธา พ้นหัวหน้าพรรคก้าวไกล แต่การออกหนังสือรับรอง ส.ส.ไม่เป็นโมฆะนั้น ตนมองว่า เป็นการยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนบางมาตรามาเปรียบเทียบ แต่ไม่ได้พิจารณาถึงกฎหมายพรรคการเมืองและข้อบังคับพรรคก้าวไกล กิจการนั้น สมบูรณ์มีผลย้อนหลังหรือไม่ เป็นมุมมองสำหรับนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน หากนายพิธารู้อยู่แล้วว่าตนขาดคุณสมบัติแต่ขืนไปลงนาม กิจการนั้นย่อมเสียไป ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายมหาชน ถือว่าเป็นโมฆะ ล้มทั้งกระดานพรรค

"หาก กกต.รับรอง ส.ส.อำนาจวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ โดย กกต.อาศัยช่องทาง มาตรา 82 วรรคท้าย หากผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติเชื่อมโยงไปถึงประเด็นการลงนามในกิจการในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลของนายพิธา ด้วยจะตกเป็นโมฆะหรือไม่ ส่งผลโดยตรงให้ กกต.จัดการเลือกตั้งซ่อมทั้งประเทศหรือไม่ อย่างไร"

ส่วนที่ถามว่า หากนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขาดคุณสมบัติสมัครเป็น ส.ส.เพราะการถือครองหุ้นสื่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ประกอบกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 42(3) สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกได้หรือไม่ สำหรับตนมองว่า นายกรัฐมนตรีคนนอก จะเสนอบุคคลที่อยู่บัญชีตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้ บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 วรรคสอง แต่คุณสมบัติต้องไม่ขัดกับความเป็นรัฐมนตรีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 160 โดยกำหนดไว้ข้อห้ามไว้ใน (6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98

"ดังนั้น หากนายพิธา ถูกศาลรัฐธรรมนูญเชือดเพราะการถือครองหุ้นสื่อ แม้จะเข้ามาในช่องนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือในบัญชีมาตรา 88 ย่อมต้องห้ามตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 160 เพราะขาดคุณสมบัติที่เป็นนายกรัฐมนตรี ที่อาจารย์วิษณุให้สัมภาษณ์ไว้ ว่า นายพิธา อาจเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกได้อีก เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในตัวบทกฎหมาย"

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

'ช่อ' ฟาดกลับ กกต. เอาอำนาจอะไรมาห้ามรณรงค์ประชาชนสมัคร สว. บอกมาให้ชัดผิดระเบียบข้อไหน

นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศว่าไม่สามารถจูงใจหรือชี้ชวนบุคคลให้สมัครเป็น สว. ได้ ว่า เรื่องนี้ต้องแยกให้ชัดว่า กกต. กำลังทำอะไรอยู่กันแน่

เปิดระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน​กรรม​การ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ได้ลงนามในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2567