กกต.ขีดเส้น 20 วัน สางปม 'พิธา' ถือหุ้นไอทีวี

16 มิ.ย.2566 - ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบการถือครองหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จะประกาศผลพิจารณารับรองไปก่อนหรือไม่นั้น ว่า กรณีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการโดยกกต.ได้มีมติตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งจะดำเนินการโดยเป็นไปตามระเบียบการสืบสวนไต่สวน โดยกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการไว้ชัดเจน

ย้ำว่าต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย และต้องยึดถือกระบวนการตามขั้นตอนต่างๆอย่างเคร่งครัด ส่วนจะต้องแยกระหว่างการประกาศรับรองผลกับการสืบสวนไต่สวนหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่เกี่ยวเพราะ กกต.คำนึงถึงสาเหตุสำคัญคือการเลือกตั้งมีความสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่

ส่วนกรณีบริษัทไอทีวี ล่าสุดออกแถลงการณ์ เป็นเอกสารคำชี้แจงโดยมีทั้งเอกสารลงบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และคลิปวิดีโอการประชุมผู้ถือหุ้นที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมถึงเอกสารที่ยื่นให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้จัดการมรดกจะมีผลต่อการพิจารณาของกกต.หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตามอำนาจการตรวจสอบของคณะกรรมการการสืบสวนไต่สวน ซึ่งได้ทำหน้าที่ตามขั้นตอนจะมีการเรียกพยานหรือเอกสารได้ โดยกกต.จะไม่ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงาน

ทั้งนี้ขั้นตอนของคณะกรรมการฯมีหน้าที่ให้ดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วภายใน 20 วัน หากไม่ทันสามารถขอขยายระยะเวลาได้ครั้งละ 15 วัน ดังนั้นเรื่องนี้จะทำโดยเร็วไม่ได้เพราะจะขัดต่อกระบวนการของกฎหมายที่กำหนด

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า มีการเรียกร้องให้กกต.ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 เพื่อให้ทันต่อการโหวตนายกรัฐมนตรี นายอิทธิพร กล่าวว่า เรื่องนี้พูดตอนนี้ไม่ได้ เพราะยังไม่ผ่านขั้นตอนการพิจารณา หรือการนำเสนอของใคร ทุกอย่างกกต.ต้องตัดสินโดยมติในที่ประชุม เมื่อยังไม่มีเรื่องเข้ามาอาจจะไม่เหมาะสมถ้าหากพูดเรื่องนี้ไปก่อน

เมื่อถามย้ำว่า เรื่องนี้จะต้องให้มีผู้ร้องเรียนยิ่งเรื่องเข้ามาก่อนหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ถ้าตามกฎหมายไม่จำเป็น เมื่อถามเพิ่มเติมว่า สามารถนำข้อมูลในชั้นของคณะกรรมการสืบสวนมายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 ได้หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ตามทฤษฎีข้อมูลหลักฐานผลการตรวจสอบวินิจฉัยของคณะกรรมการสืบสวนเป็นอย่างไรจะต้องเสนอมาตามลำดับ เมื่อมาถึงกกต.จะต้องพิจารณาว่าข้อมูลเพียงพอหรือว่าจะต้องดำเนินการอะไรเพิ่มเติม หรือสามารถตัดสินได้เลย

ถามอีกว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถพิจารณาได้ทันก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีเพื่อป้องกันปัญหา ประธานกกต. กล่าวว่า คิดอย่างนั้นไม่ได้เพราะเรื่องเข้าสู่กระบวนการถ้าเทียบกับระเบียบสืบสวนไต่สวน ก็เหมือนประมวลวิธีพิจารณาความอาญา หากไปเร่งก็จะไม่เป็นธรรม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

'ช่อ' ฟาดกลับ กกต. เอาอำนาจอะไรมาห้ามรณรงค์ประชาชนสมัคร สว. บอกมาให้ชัดผิดระเบียบข้อไหน

นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศว่าไม่สามารถจูงใจหรือชี้ชวนบุคคลให้สมัครเป็น สว. ได้ ว่า เรื่องนี้ต้องแยกให้ชัดว่า กกต. กำลังทำอะไรอยู่กันแน่

เปิดระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน​กรรม​การ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ได้ลงนามในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2567