'อดีตผู้พิพากษา' ชี้โทษจำคุกไร้ความหมาย หลังราชทัณฑ์ออกระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ

13 ธ.ค.2566 - นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา แสดงความคิดเห็นต่อกรณีระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 โดยสาระสำคัญของระเบียบฉบับนี้เป็นการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ

โดยนายชูชาติ ศรีแสง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng มีใจความสรุปว่า ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบกำหนดให้กรมราชทัณฑ์มีอำนาจส่งตัวจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไปคุมขังในสถานที่อื่นๆ นอกเรือนจำได้ เช่น บ้าน เป็นต้น คำพิพากษาของศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยแทนที่จำเลยจะถูกคุมขังในเรือนจำ แต่กรมราชทัณฑ์สามารถส่งตัวไปคุมขังในบ้านก็ได้ ดังนั้นคำพิพากษาของศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยจึงไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไป รวมทั้งบุคคลที่ช่วยกันทำงานนับสิบนับร้อยคนเพื่อให้ผู้กระความผิดได้รับการลงโทษก็ต้องเหนื่อยเปล่าโดยไม่มีผลใดๆ เลย

เนื้อหาทั้งหมดมีดังนี้ เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น เจ้าพนักงานตำรวจต้องทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิด.....เมื่อได้ตัวผู้กระความผิดมาแล้ว พนักงานสอบสวนต้องสอบปากคำพยานบุคคล แสวงหารวบรวมพยานเอกสาร พยานวัตถุ ประกอบสำนวนสอบสวน หากฟังได้ว่า เป็นผู้กระทำความผิดจริง ก็สั่งฟ้องแล้วส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนสอบสวนส่งไปให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาต่อไป

.....เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนแล้ว ก็ต้องพิจารณาอ่านสำนวนการสอบสวนพร้อมตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมด หากเห็นด้วยกับพนักงานสอบสวน ก็ฟ้องคดีต่อศาล

.....เมื่อคดีถึงศาลแล้ว ศาลชั้นต้น ต้องทำการสืบพยาน โจทก์ จำเลย ถ้าเป็นคดีที่ประชาชนเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และขออ้างพยานเพิ่มเติมจากพยานโจทก์ ก็ต้องสืบพยานโจทก์ร่วมด้วย แล้วจึงนัดฟังคำพิพากษา

.....ศาลต้องอ่านคำพยานของโจทก์ โจทก์ร่วม(หากมี) และจำเลย ประกอบกับการตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมดที่คู่ความส่งมาซึ่งอยู่ในสำนวนอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว

.....จึงมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ หรือลงโทษจำเลย กรณีลงโทษก็ต้องพิจารณาว่า จะจำคุกหรือไม่ ถ้าจำคุกจะจำคุกกี่ปี เพื่อให้เหมาะกับพฤติการณ์ในการกระทำความผิดในคดีนั้น ทั้งสมควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่

.....เมื่อศาลชั้นมีคำพิพากษาแล้ว หากคดีไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาเสร็จก็ส่งสำนวนและคำพิพากษาคืนศาลชั้นต้นเพื่ออ่านให้คู่ความฟัง

.....ถ้าคู่ความยังไม่พอใจและคดีไม่ต้องห้ามฎีกา ก็มีสิทธิฎีกาต่อศาลฎีกาได้อีก เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกาก็ต้องอ่านคำพยาน ตรวจพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ในสำนวนอย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง ปรึกษากันในองค์แล้วจึงเขียนคำพิพากษา

.....เมื่อเจ้าหน้าที่พิมพ์เสร็จก็มีผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลฎีกาช่วยตรวจสอบความถูกต้องทั้งในเรื่องข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ถ้าเห็นด้วยกับร่างคำพิพากษา ก็เสนอท่านประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกาที่ท่านประธานศาลฎีกามอบหมายให้พิจารณาอีกครั้ง ถ้าเห็นด้วยก็มีคำสั่งเห็นชอบ แล้วจึงส่งให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะลงชื่อในคำพิพากษา จากนั้นก็ส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟัง

.....ที่กล่าวมานี้เป็นกระบวนการในการดำเนินคดีอาญาอย่างย่อๆ จะเห็นได้ว่า การที่จำเลยคนหนึ่งถูกศาลพิพากษายกฟ้องหรือลงโทษนั้น

.....เฉพาะในชั้นศาล ในศาลชั้นต้นมีองค์คณะผู้พิพากษา ๒ ท่าน ศาลอุทธรณ์มีองค์คณะ ๓ ท่าน มีผู้ช่วยผู้พิพากษาช่วยตรวจความถูกต้อง ๑ ท่าน ประธานศาลอุทธรณ์หรือรองประธานศาลอุทธรณ์ที่รับมอบหมายจากประธานศาลอุทธณ์ ๑ ท่าน ศาลฎีกามีองค์คณะ ๓ ท่าน ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลในศาลฎีกาทั้งผู้ช่วยเล็กและผู้ช่วยใหญ่รวม ๒ ท่าน และท่านประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกาที่ได้รับมอบหมาย ๑ ท่าน

.....จึงมีผู้พิพากษาที่มีส่วนในการพิจารณาพิพากษาคดีในแต่ละคดีรวม ๑๓ ท่าน

.....ถ้าคิดถึงจำนวนผู้ที่มีส่วนในดำเนินแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญา ตั้งแต่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นหรือพบเห็นการกระทำความผิด นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน พนักงานสอบสวน บุคคลที่มาให้การเป็นพยานทั้งในชั้นสอบสวนและในชั้นศาล พนักงานอัยการที่ต้องหน้าตรวจสอบสำนวนการสอบสวนและทำหน้าที่ว่าความยืนซักถามพยานโจทก์ในศาล รวมกันทั้งหมดแล้วแต่ละคดีมีไม่น้อยกว่า 30-40 คน บางคดีมีเป็นร้อยคน

.....เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแล้วและออกหมายขังส่งตัวจำเลยไปให้เรือนจำคุมขังจำเลยไว้ตามคำพิพากษาของศาล

.....ก่อนหน้านี้กรมราชทัณฑ์ใช้วิธีลดโทษให้จำเลยทุกปี โดยถ้าเป็นจำเลยที่ศาลลงโทษจำคุกในระยะยาวไม่มีจำเลยคนใดที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำครบตามกำหนดเวลาที่ศาลมีคำพิพากษาเลย

.....ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบกำหนดให้กรมราชทัณฑ์มีอำนาจส่งตัวจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไปคุมขังในสถานที่อื่นๆ นอกเรือนจำได้ เช่น บ้าน เป็นต้น

.....คำพิพากษาของศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยแทนที่จำเลยจะถูกคุมขังในเรือนจำ แต่กรมราชทัณฑ์สามารถส่งตัวไปคุมขังในบ้านก็ได้

.....ดังนั้นคำพิพากษาของศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยจึงไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไป รวมทั้งบุคคลที่ช่วยกันทำงานนับสิบนับร้อยคนเพื่อให้ผู้กระความผิดได้รับการลงโทษก็ต้องเหนื่อยเปล่าโดยไม่มีผลใดๆ เลย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แก้วสรร' แพร่บทความปอกเปลือก ทักษิโณมิคส์ บวก X กลายเป็นโครงการแจกเงินดิจิทัล

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความเรื่อง "ทักษิโณมิคส์ + X = โครงการแจกเงินดิจิตอล" มีเนื้อหาดังนี้ เมื่อคราวแรกเริ่มครองอำนาจในปี ๒๕๔๖ ของพรรคทักษิณ ที่พลิกมิติการปกครองไทยด้วยชุดนโยบายการเงินที่โหมอัดฉีดประชานิยมชนิดเข้มข้นต่างๆนานา

'ราเมศ' อัดราชทัณฑ์แจง 5 ข้อ ตอกย้ำให้เห็นกระบวนการอุ้ม 'ทักษิณ' ป่วยทิพย์

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกรมราชทัณฑ์ เผยแพร่เอกสารชี้แจง กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ต้องเข้าเรือนจและรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ว่า กรมราชทัณฑ์ต้องระลึกว่าทุกคำตอบคือหลักฐานสำคัญ

กรมคุกตอบ 5 ประเด็น ปม 'หมอวรงค์' ร้อง ป.ป.ช.เอาผิดช่วย 'ทักษิณ' ป่วยทิพย์

กรมราชทัณฑ์ เผยแพร่เอกสารชี้แจงโดยระบุว่า วันจันทร์ที่ 22 เม.ย. 2567 ตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส่งข้อมูลผู้ตรวจฯ ยื่นคณะกรรมการ​ป้องกัน​และ​ปราบปราม​การ​ทุจริต​แห่งชาติ​ (ป.ป.ช.)​ ในการช่วยเหลือนายทักษิณ ชินวัตร ไม่ต้องติดคุก โดยมีประเด็นต่างๆ เพื่อเรียกร้องคำตอบให้กับสังคม นั้น