ต่อรองผลประโยชน์ 'วงจรอุบาทว์' การเมืองไทย! 'ฮั้วเลือก สว.' จบแบบไหน?

ทุกครั้งที่การเมืองไทยมีประเด็นใหญ่ที่ควรได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง มักจบลงที่ "โต๊ะเจรจา" มากกว่า "กระบวนการยุติธรรม" และสุดท้ายทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างหาทางออกแบบ "วิน-วิน" ขณะที่ประชาชนกลับไม่ได้รับคำตอบอะไรเลย

กรณี "ฮั้วเลือก สว." ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) หรือ "บอร์ดคดีพิเศษ" ในวันนี้ (6 มีนาคม) เพื่อลงมติว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่นั้น กำลังถูกจับตาว่าจะเป็นเพียงอีกหนึ่งตัวอย่างของ "ดีลการเมือง" ที่ใช้ "กฎหมาย" เป็นเครื่องมือหรือจะมีการดำเนินคดีอย่างจริงจัง

หากพิจารณาตามตัวบทกฎหมายแล้ว คดีนี้ไม่ได้มีความซับซ้อนแต่อย่างใด เพราะการตรวจสอบความสุจริตและเที่ยงธรรมในการได้มาซึ่ง สว.เป็นอำนาจโดยตรงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

แม้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จะใช้ช่องทางแยกข้อกล่าวหา "อั้งยี่-ซ่องโจร" ออกมาเป็นคดีอาญา เพื่อผลักดันให้คดีนี้เข้าสู่การพิจารณาในฐานะ “คดีพิเศษ” แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากกระบวนการเลือกสว.ที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมตั้งแต่ต้น ดังนั้นการดำเนินคดีในประเด็นนี้จึงยังอยู่ในขอบเขตอำนาจของ กกต. ไม่ใช่หน้าที่ของ DSI

ปัญหานี้มีจุดเริ่มต้นจากความล่าช้าในการดำเนินการของ กกต. ซึ่งอาจเกิดจากข้อจำกัดด้านบุคลากรและทรัพยากร ทำให้การตรวจสอบกรณีร้องเรียนต่างๆ ไม่สามารถเดินหน้าได้ทันสถานการณ์

ทั้งที่โดยปกติ กกต. เป็นผู้รับผิดชอบดูแลการเลือก สว. แต่เมื่อการตรวจสอบล่าช้าและไร้ความคืบหน้า ฝ่ายที่ต้องการให้เกิดการพิจารณาคดีจึงต้องหันไปพึ่งพา DSI ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม-องค์กรที่มีความเชื่อมโยงทางการเมืองอยู่แล้ว

มีข่าวลือหนาหูว่า ผู้บริหารระดับสูงของ DSI เองไม่ต้องการรับคดีนี้ตั้งแต่ต้น เพราะแม้จะสามารถแยกฐานความผิดทางอาญาออกมาได้ แต่โครงสร้างของคดีนี้ควรเป็นหน้าที่ของ กกต. เท่านั้น

ทว่าภายใต้แรงกดดันจากพรรคการเมือง โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย DSI จึงต้องเข้ามามีบทบาทในการพิจารณาคดีและผลักดันให้เรื่องนี้ได้รับการพิจารณาเป็น "คดีพิเศษ" โดยเสนอต่อ "บอร์ดคดีพิเศษ" ที่มี "ภูมิธรรม เวชยชัย" นั่งหัวโต๊ะและ "ทวี สอดส่อง" นั่งข้าง ซึ่งเป็นที่รับรู้กันในสังคมถึงบทบาทและการเชื่อมโยงทางการเมืองของทั้งสองบุคคล

คำถามที่สำคัญคือ หากพรรคเพื่อไทยผลักดันให้คดีนี้เข้าสู่ DSI แทนที่จะปล่อยให้ กกต. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญดำเนินการด้วยตนเอง เป้าหมายที่แท้จริงของพรรคเพื่อไทยคืออะไร?

การตอบคำถามนี้ไม่ยากนัก หนึ่งในเป้าหมายหลักของพรรคเพื่อไทยคือการสลายฐานอำนาจของ "สว. สีน้ำเงิน" ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สนับสนุนพรรคภูมิใจไทย และอาจกล่าวได้ว่าเป็นการยึดครองเสถียรภาพของระบบอำนาจในรัฐสภา

การสลาย-ควบคุมสว. สีน้ำเงิน จึงเป็นอีกหนึ่งหมากสำคัญในการกระชับอำนาจ และหากสำเร็จ ก็จะช่วยเสริมสร้างฐานอำนาจทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในอนาคต

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการใช้คดีนี้เป็นเครื่องมือกดดันโดยตรงต่อพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ถือโควตากระทรวงสำคัญหลายกระทรวง และมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลและสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ "แพทองธาร ชินวัตร"

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มักจะเห็นการต่อรองผลประโยชน์ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองผู้มีอำนาจ แต่สุดท้ายก็จบลงด้วย "ดีลการเมือง" ที่ทั้งสองฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ในขณะที่ประชาชนยังคงไม่มีคำตอบหรือความชัดเจนใดๆ

สิ่งที่ทำให้กรณีนี้น่าสนใจมากขึ้น คือการพบปะกันระหว่างแกนนำพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย เช่น ทักษิณ ชินวัตร แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย และ อนุทิน ชาญวีรกูล เนวิน ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจไทย แม้ยังไม่มีการยืนยันว่า การหารือนี้เกี่ยวข้องกับคดีฮั้วเลือก สว. หรือไม่

แต่จากโครงสร้างของการเมืองไทยที่ผ่านมา การเจรจาเช่นนี้มักนำไปสู่ "ข้อตกลงลับ" ที่ทำให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

หากแนวโน้มนี้เกิดขึ้นจริง ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้คือการ "ปิดดีล" ที่ช่วยให้พรรคภูมิใจไทยลดแรงกดดันทางการเมือง ขณะที่พรรคเพื่อไทยสามารถโกยคะแนนจากการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ แพทองธาร ชินวัตรในวันที่ 24 มีนาคมนี้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ การกระทำของพรรคเพื่อไทยที่ผลักดันให้คดีฮั้วเลือกสว. เข้าสู่การพิจารณาของ DSI ตั้งแต่ต้น แทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ กกต. ยังคงสะท้อนถึงการเมืองที่เต็มไปด้วยการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ใช่เพื่อความยุติธรรมที่แท้จริง

การใช้กฎหมายในลักษณะนี้จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่เป็นการต่อรองผลประโยชน์ในสนามการเมืองที่ลุ่มหลงไปกับเกมแห่งอำนาจ

ท้ายที่สุดหากคดี "ฮั้วเลือก สว." ไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง ทั้งจาก กกต. และ DSI ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า "วงจรอุบาทว์" ของการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองยังคงอยู่ ฝ่ายการเมืองสามารถหาข้อตกลงที่ลงตัวสำหรับทุกฝ่าย ขณะที่ประชาชนยังคงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ที่แทบไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ กับโครงสร้างอำนาจที่ดำรงอยู่

ปัญหาความโปร่งใสและความยุติธรรมจึงไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง แต่กลับถูกกลบฝังภายใต้กลไกทางกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในเกมแห่งอำนาจ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พบชื่อวิศวกร 51 ราย คุมงานตึก สตง.ถล่ม หลังดีเอสไอตรวจยึดหลักฐาน

กรณีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอศาลอาญา รัชดาภิเษก ออกหมายค้นพื้นที่เป้าหมาย 4 จุด ได้แก่ 1.สำนักงานใหญ่ของนายบินลิง วู 2.บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด 3.บริษัท

'ดีเอสไอ' คุมตัวฝากขัง 'โบรกเกอร์สาว' คดีหมอบุญฉ้อโกงประชาชน

"ดีเอสไอ" คุมตัว "กชพร“ โบรกเกอร์สาว มือจัดหาเงินทุน "คดีหมอบุญ" ฝากขังศาลอาญารัชดา เจ้าตัวให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ขอสู้คดีในชั้นศาล

'ดีเอสไอ' ตรวจเข้มสัญญา 4 ฉบับ สางคดีนอมินีบริษัทจีนสร้างตึกสตง.ถล่ม

จากกรณีที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีนอมินี หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

ดร.ณัฏฐ์ ชี้ ‘ภูมิธรรม-ทวี’ มีโอกาสตกเก้าอี้สูง!

นักกฎหมายมหาชน อ่านเกมการเมือง ปม กลเกมต่อรองอำนาจ ปม “สว.สีน้ำเงิน” ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ” บิ๊กอ้วน ภูมิธรรม-ทวี สอดส่อง“ ใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษดีเป็นเครื่องมือ โอกาสตกเก้าอี้สูง

สอบ 'วิศวกร' ถูกปลอมลายเซ็นคุมงาน สตง. รื้อข้อเท็จจริง ถูกแอบอ้างชื่อนาน 5 ปี

“ทวี” นั่งหัวโต๊ะ “ดีเอสไอ" ติดตามคืบหน้าคดีตึก สตง.ถล่ม ขณะที่ ”รองอธิบดีดีเอสไอ-ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค” นัดสอบปากคำพยาน “สมเกียรติ” วิศวกรถูกปลอมลายเซ็นคุมงาน สตง. รื้อข้อเท็จจริง กรณีถูกแอบอ้างชื่อนาน 5 ปี

ประธานกกต. ยันคืบหน้ามาก คดียุบเพื่อไทย-พรรคร่วม ปมทักษิณชี้นำ ครอบงำ

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคำร้องยื่นยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาล ที่ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีครอบงำพรรคว่า เลขาธิการ กกต.