ศูนย์จีโนมฯ ไขข้อข้องใจ! โควิด EG.5.1 ระบาดรุนแรงแทนที่ XBB.1.16 หรือไม่

17 ก.ค. 2566 – ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โอมิครอน EG.5.1 (XBB.1.9.2.5.1) จะมีการระบาดเกิดอาการรุนแรงและเข้ามาแทนที่ XBB.1.16 หรือไม่

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีการระบาด โอมิครอน EG.5.1 ไปทั่วโลกเป็นอันดับ 3 ใน 4 อันดับหลัก คือ XBB.1.16, XBB.1.5, EG.5.1 (XBB.1.9.2.5.1), และ XBB.1.9.1

ความชุกของ โอมิครอน EG.5.1 ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันโดยตรวจจากจำนวนรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมที่ปรากฏในฐานข้อมูลโควิดโลก จีเสส (GISAID) ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาสูงที่สุดคือ ประเทศจีน 985 ราย หรือประมาณ 7.228% จากโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่พบในประเทศจีน

ในอาเซียนสูงสุดคือ ประเทศสิงคโปร์ 58 ราย หรือประมาณ 1.567% จากโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ที่พบในประเทศสิงคโปร์

ส่วนประเทศไทยพบ 6 ราย หรือประมาณ 0.336% จากโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ที่พบในประเทศไทย

ทั่วโลกพบว่าโอมิครอน EG.5.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) สูงกว่า XBB.1.16 ประมาณ 42 %

ในประเทศจีนพบว่าโอมิครอน EG.5.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 ประมาณ 45 %

ประเทศสิงคโปร์พบโอมิครอน EG.5.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 ถึง 77 %

สำหรับประเทศไทยโชคดีพบโอมิครอน EG.5.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 เพียง 1 % ทำให้โอกาสที่โอมิครอน EG.5.1 จะมาแทนที่ XBB.1.16 มีน้อย

ความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ประเมินจากสองปัจจัยหลักคือ ความสามารถในการติดต่อ (increased transmissibility) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสามารถของส่วนหนามของไวรัสเข้าจับกับผิวเซลล์ผู้ติดเชื้อ และความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน (evade immunity)

โดยมีหลายปัจจัยที่ทำให้โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยในแต่ละประเทศมีค่าความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดที่แตกต่างกัน เช่น ประเภทของสายพันธุ์ย่อยที่แพร่ระบาดในประเทศนั้นๆ อายุเฉลี่ยของประชากร อัตราผู้เข้าฉีดวัคซีนครบโดส รวมทั้งการรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น วินัยของประชาชนในการใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การตรวจ ATK ประสิทธิภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุขในการเข้าถึงประชากรทุกครัวเรือน ฯลฯ

โอมิครอน EG.5.1 แม้จะจะมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้สูงกว่า XBB.1.16 แต่ความสามารถของส่วนหนามของ EG.5.1 เข้าจับกับผิวเซลล์ผู้ติดเชื้อได้น้อยกว่า XBB.1.16 ทำให้พบว่าโอมิครอน EG.5.1 จากทั่วโลกมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดเฉลี่ยสูงกว่า XBB.1.16 ประมาณ 42 % หรือเพิ่มขึ้นเพียง 1.42-เท่า ในขณะที่ประเทศไทยพบโอมิครอน EG.5.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) สูงกว่า XBB.1.16 เพียง 1 % หรือ 1.01 เท่า

ดังนั้นจึงพอสรุปได้จากรหัสพันธุกรรมของโอมิครอน EG.5.1 ว่าจะไม่ระบาดรุนแรงแตกต่างไปจาก XBB.1.16 อย่างมีนัยสำคัญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นพดลวอนหยุดปั่นเกาะกูด ‘คำนูณ’ แนะชั่งข้อ ‘ดี-เสีย’

“นพดล” ย้ำ “เกาะกูด” เป็นของไทย เอ็มโอยู 44 ไม่ได้ทำให้เสียดินแดน วอนเลิกบิดเบือนหวังผลการเมือง “คำนูณ” ชำแหละบันทึกความตกลง เป็นคุณกับกัมพูชามากกว่า

โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’  ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้

เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป

กรมอุตุฯ เปิดศูนย์ฯติดตามพายุ ’จ่ามี’ คาดขึ้นเวียดนามไม่เข้าไทย แค่มีฝนตกเพิ่มขึ้น

พายุโซนร้อนกำลังแรง 'จ่ามี' จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันนี้ โดยพายุนี้จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะทำให้มีลมฝ่ายตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้