ประธานาธิบดีตุรกีสั่งตะเพิดทูตตะวันตก 10 ชาติ จุ้นเรื่องภายใน

ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกีสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศเนรเทศเอกอัครราชทูตสหรัฐและอีก 9 ชาติตะวันตก ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัว "ออสมาน คาวาลา" นักเคลื่อนไหวที่ถูกกล่าวหาว่าให้ทุนสนับสนุนการประท้วงและการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลว

ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน (Photo by Murat Kula/Anadolu Agency via Getty Images)

ข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม 2564 กล่าวว่า คาวาลา นักเคลื่อนไหววัย 64 ปี ซึ่งเป็นผู้บริจาคช่วยเหลือกลุ่มประชาสังคมหลายกลุ่ม โดนคุมขังโดยยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิดมาตั้งแต่ปี 2560 ด้วยข้อหาว่าให้เงินสนับสนุนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทั่วประเทศเมื่อปี 2556 และเกี่ยวข้องกับการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อปี 2559 เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา

เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม เอกอัครราชทูต 10 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, ฟินแลนด์, นิวซีแลนด์ และสหรัฐ ออกแถลงการณ์ร่วมกันเรียกร้องให้ตุรกีปล่อยตัวเขาอย่างเร่งด่วน และหาทางออกของคดีนี้อย่างยุติธรรมและรวดเร็ว ทำให้ต่อมากระทรวงการต่างประเทศตุรกีเรียกทูตเหล่านี้เข้าพบ โดยกล่าวว่าเป็นแถลงการณ์ที่ขาดความรับผิดชอบ

ในคำปราศรัยที่เมืองเอสกีเชฮีร์เมื่อวันเสาร์ ประธานาธิบดีแอร์โดอันกล่าวว่า เขาได้ออกคำสั่งที่จำเป็นต่อรัฐมนตรีต่างประเทศว่าจะต้องทำอะไร เอกอัครราชทูต 10 คนนี้ต้องถูกประกาศว่าเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาทันที "พวกเขาจะรู้และเข้าใจตุรกี วันที่พวกเขาไม่รู้และไม่เข้าใจตุรกี พวกเขาจะจากไป" แอร์โดอันกล่าวเรียกเสียงโห่ร้องจากฝูงชน

สถานทูตสหรัฐและฝรั่งเศส รวมถึงทำเนียบขาว ยังไม่มีทัศนะตอบเรื่องนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า ได้รับทราบรายงานข่าวและกำลังขอความชัดเจนจากกระทรวงการต่างประเทศตุรกี

รัฐบาลตะวันตกหลายประเทศกล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า ยังไม่ได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการจากตุรกี กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีเผยว่า กำลังปรึกษาหารือกับอีก 9 ประเทศ ส่วนกระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ยืนกรานว่าไม่ได้ทำสิ่งใดผิด และนอร์เวย์จะกดดันตุรกีเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยต่อไป เจ้าหน้าที่ของเดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์ก็มีท่าทีแบบเดียวกัน

กระทรวงการต่างประเทศของนิวซีแลนด์กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า จะไม่ให้ทัศนะจนกว่าจะได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการผ่านช่องทางที่เป็นทางการ

ผู้สนับสนุนคาวาลีมองว่าเขาเป็นสัญลักษณ์ของการปราบปรามอย่างกว้างขวางของแอร์โดอัน ซึ่งครองอำนาจมานาน 19 ปีและรอดจากความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปี 2559 มาได้

เมื่อวันเสาร์ แอร์โดอันกล่าวโจมตีคาวาลาว่าเขาเป็น "ตัวแทนในตุรกี" ของจอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่เกิดในฮังการี ผู้มักตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายขวาและทฤษฎีสมคบคิดต่อต้านยิว

คาวาลากล่าวกับเอเอฟพีจากห้องขังของเขาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า แอร์โดอันกำลังพยายามกล่าวโทษการสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติเพื่อต่อต้านรัฐบาลของเขา โดยเฉพาะการประท้วงทั่วประเทศเมื่อปี 2556

ปีที่แล้วศาลตุรกีตัดสินว่าเขาไม่มีความผิดในข้อกล่าวหาเกี่ยวข้องกับการประท้วงครั้งนั้น แต่ศาลกลับคำตัดสินในปีนี้ และยังรวมข้อหาที่เกี่ยวข้องกับความพยายามก่อรัฐประหารเข้าไว้ด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนไทยดับ 2 ราย อุบัติเหตุรถบัสนำเที่ยวในตุรกี สถานทูตส่งจนท.ดูแลคนเจ็บในรพ.

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงเหตุการณ์รถบัสนำเที่ยวที่มีคนชาวไทย 26 คนโดยสาร ประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำในประเทศตุรกี ว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี รายงานว่ามีรถโดยสารนำเที่ยวที่มีคนไทยเดินทางท่องเที่ยว 26 คน