ตุรกีโหวตตัดสินชะตา‘แอร์โดอัน’

ชาวตุรกีออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันอาทิตย์ ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ที่ครองอำนาจมา 21 ปี อาจพ่ายแพ้การเลือกตั้ง โดยคู่แข่งคนสำคัญของเขาคือ เคมาล คิลิชดาโรกลู ที่เป็นหัวหน้าพันธมิตรพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค

สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า ตุรกีจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของตุรกีในรอบ 100 ปี

การเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกีครั้งนี้เป็นการชิงชัยกันระหว่างประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน วัย 69 ปี ที่ครองอำนาจมายาวนานถึง 21 ปี กับเคมาล คิลิชดาโรกลู วัย 74 ปี หัวหน้าพันธมิตรพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค จากโพลหลายสำนักสอบถามความคิดเห็นประชาชนก่อนการเลือกตั้งพบว่า คิลิชดาโรกลูมีคะแนนนำแอร์โดอันอยู่เล็กน้อย แต่ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาทั้งคู่ไม่มีใครได้คะแนนเกิน 50% จะต้องมีการเลือกตั้งในรอบชี้ขาดในวันที่ 28 พฤษภาคม

นอกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว ในวันเดียวกันชาวตุรกีจะเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ซึ่งเป็นการแข่งขันที่เข้มเข้นระหว่างแนวร่วมพรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรประชาชน” ประกอบด้วยพรรคเอเคพีของแอร์โดอัน ซึ่งมีรากฐานแนวคิดอิสลามอนุรักษนิยมกับพรรคเอ็มเอชพีที่เป็นพรรคชาตินิยมและพรรคเล็กๆ อีกหลายพรรค กับแนวร่วมพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรแห่งชาติ” เป็นการรวมกันของพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค รวมถึงพรรคสาธารณรัฐประชาชน (ซีเอชพี) ของคิลิชดาโรกลู พรรคนี้ก่อตั้งโดยมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี

หน่วยเลือกตั้งตุรกีเปิดให้ประชาชนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในเวลา 08.00 น. หรือ 12.00 น.ตามเวลาประเทศไทย โดยจะเปิดให้ใช้สิทธิ์ถึงเวลา 17.00 น. หรือ 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ตามกฎหมายตุรกีห้ามรายงานผลการเลือกตั้งใดๆ จนถึงเวลา 21.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

ประชาชนในหลายจังหวัดของตุรกีที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศมากกว่า 50,000 ราย แสดงความโกรธเคืองต่อการตอบสนองของรัฐบาลในช่วงแรกที่เชื่องช้า แต่ยังมีหลักฐานไม่มากว่าพวกเขาจะหันไปลงคะแนนให้ฝ่ายค้านหรือไม่

คิลิชดาโรกลู ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการพลเรือนให้คำมั่นระหว่างหาเสียงว่า ถ้าชนะเลือกตั้งเขาจะกลับไปใช้นโยบายเศรษฐกิจกระแสหลัก ต่างจากนโยบายเศรษฐกิจของแอร์โดอัน ซึ่งใช้วิธีจัดการแบบเข้มงวด

คิลิชดาโรกลูให้สัญญาระหว่างหาเสียงว่า เขาจะนำประเทศกลับสู่ระบบการปกครองแบบรัฐสภา โดยเปลี่ยนจากการบริหารประเทศระบบประธานาธิบดีของแอร์โดอันที่ผ่านการลงประชามติในปี 2560 และสัญญาว่าจะฟื้นฟูความเป็นอิสระของระบบศาลยุติธรรมที่นักวิจารณ์กล่าวหาแอร์โดอันว่าใช้ในการปราบปรามผู้ที่เห็นต่างจากเขา

ในการหาเสียงช่วงใกล้วันเลือกตั้ง แอร์โดอันตราหน้าฝ่ายค้านว่าเป็นพวกล็อบบี้ที่สนับสนุนกลุ่มแอลจีบีที และได้รับคำสั่งจากกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดนอกกฎหมายและเป็นพวกที่ถูกชาติตะวันตกควบคุม

ส่วนรัฐมนตรีในรัฐบาลของแอร์โดอันและสื่อที่สนับสนุนรัฐบาลกล่าวหาชาติตะวันตกว่าวางแผนรัฐประหารทางการเมืองในตุรกี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนไทยดับ 2 ราย อุบัติเหตุรถบัสนำเที่ยวในตุรกี สถานทูตส่งจนท.ดูแลคนเจ็บในรพ.

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงเหตุการณ์รถบัสนำเที่ยวที่มีคนชาวไทย 26 คนโดยสาร ประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำในประเทศตุรกี ว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี รายงานว่ามีรถโดยสารนำเที่ยวที่มีคนไทยเดินทางท่องเที่ยว 26 คน