จากท้องถึงหัว ตัดสินชะตา 'สมองเสื่อม'

9 ก.ย. 2565 – ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า จากท้องถึงหัว..ตัดสินชะตาสมองเสื่อม

หมอได้นำเรียนมาตลอดนะครับว่าคนเราเกิดมามีชะตาชีวิตกำหนดไว้แล้วด้วยรหัสพันธุกรรม และผลของชะตาจะปรากฏออกมาได้ชัดเจน เห็นได้ชัดและเกิดได้เร็วเพียงใดในช่วงชีวิต ยังมีตัวการที่สำคัญ ที่เราสามารถควบคุมได้ และผ่อนคลายทำให้มีการบรรเทาเบาบางลงไป

ทั้งนี้ โดยที่ครอบครัวของคนที่มีโรคอาจจะได้รับมรดกเหล่านี้ทางด้านสมองเสื่อมแบบต่างๆ ไปไม่มากก็น้อยแต่สามารถที่จะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเหล่านี้ได้

โรคสมองเสื่อมที่พูดในขณะนี้ไม่ว่าจะเสื่อมในด้านความจำแบบอัลไซเมอร์ และคณะ (ที่มีชื่ออื่นๆ อีก) โรคพาร์กินสันและคณะ และความเสื่อมในระบบประสาทอื่นๆ เช่นในไขสันหลัง ขณะนี้ถือว่าเกิดจากต้นตอเดียวกัน คือการที่มีโปรตีนบิดเกลียว จึงเรียกว่า misfolded protein

และเกิดจากความไม่เสถียรสมดุลของการควบคุมการสร้าง การบริหารจัดการ และการขับถ่ายหมุนเวียนโปรตีน เลยทำให้เกิดความผิดปกติของระบบ proteostasis และแน่นอนมีการอักเสบมาเป็นตัวแปรที่สำคัญทำให้โรคสมองเสื่อมทั้งหลายเหล่านี้ ถือเป็น neuroinflammatory disease

การที่เราจะปฏิเสธไม่รับมรดก คงทำไม่ได้แต่อาจจะเปิดพินัยกรรมช้าหน่อยหรือแม้ใครที่มีโรคโผล่ออกมาแล้ว ก็สามารถชะลอโรคได้จากคำกล่าวที่ว่า “เรากินอะไรก็ได้อย่างนั้น” และในปัจจุบันคงต้องควบรวมไปถึงว่า “เราหายใจอะไรเข้าไปก็ได้เช่นนั้น” นั่นคือ มลภาวะสารเคมีทั้งหลายในอาหาร ในน้ำดื่ม ในอากาศที่มีสารเคมี มีสารที่มาจากขยะปนเปื้อน ล้วนเป็นตัวร้ายที่ทำให้เกิดการอักเสบ

เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าการอยู่ในช่วงที่มีอากาศที่มีมลพิษขนาดจิ๋ว 2.5 ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อให้เกิดการสะสมตัวของโปรตีนบิดเกลียวเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและการอักเสบเป็นตัวนำให้เกิดเส้นเลือดในหัวใจและสมองตัน และมะเร็งอีกด้วย

อาหารการกินที่ก่อให้เกิดการอักเสบคือ อาหารแป้งมากน้ำตาล อาหารหวาน เนื้อแดงจากสัตว์ที่เดินบนบก ทั้งนี้เนื้อที่มีการหมักปรุงรสหรือทำให้เก็บได้นานและแม้กระทั่งเนื้อไก่ก็ยังอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย และนำไปสู่การที่ต้องเข้าใกล้มังสวิรัติที่หนักผักผลไม้ กากใยที่กินทั้งชิ้น และปลอดสารเคมี หนักถั่ว แต่ถั่วเหลืองได้ในปริมาณที่ไม่มากนัก กุ้ง ปู ปลาได้ หอยไม่ควรมากนัก บุหรี่ห้ามขาด เหล้าในปริมาณเพื่อสุขภาพ แต่ถ้าเข้าใกล้มังสวิรัติก็สามารถกินไข่แดงได้หลายลูกต่อวัน

อาหารเหล่านี้ที่ต้องห้าม ถูกปรับเปลี่ยนโดยแบคทีเรียในลำไส้ ก่อให้เกิดการอักเสบเข้าไปในกระแสเลือดและซึมผ่านเข้าเส้นเลือดสมองและเข้าในเซลล์สมอง เกิดการปะทุอักเสบครั้งที่สองในเซลล์สมองและกระตุ้นให้มีการสร้างโปรตีนบิดเกลียวเหล่านี้มากขึ้นไปอีก

นอกจากนั้นการอักเสบ ยังกระตุ้นเซลล์ในลำไส้ ให้มีการสร้างโปรตีนบิดเกลียวเหล่านี้ขึ้นไปตามเส้นประสาท เบอร์ 10 และเข้าสู่สมอง และมลพิษในอากาศอาจจะเป็นเครื่องอธิบายที่พบโปรตีนผิดปกติเหล่านี้ในเส้นประสาทสมองเส้นที่หนึ่ง ที่กระจายในเนื้อเยื่อของโพรงจมูก และในที่สุดก็ขึ้นไปในสมองในที่สุด

เมื่อโรคปรากฏตัวขึ้นแล้ว ส่วนประกอบในอาหารที่มีประโยชน์ เช่น น้ำมันปลา ที่มี EPA DHA จะเริ่มหมดสภาพ ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำมันปลาที่ได้จากอาหารจะต้องถูกเปลี่ยนโดยตับ เป็นน้ำมันปลาจิ๋ว ที่เรียกว่า plasmalogen และจากนั้นน้ำมันจิ๋วนี้จะส่งผ่านเข้าเส้นเลือดในสมองเข้าไปในเนื้อสมองและเข้าไปที่ผิวเซลล์และในเซลล์ชนิดต่างๆในสมอง แต่เมื่อโรคปรากฏให้เห็นแล้ว กระบวนการทำให้เป็นตัวจิ๋วและกระบวนการนำส่งผ่านต่างๆ เหล่านี้ชำรุดทั้งหมด ทำให้เป็นเครื่องอธิบายได้ว่า น้ำมันปลาจะช่วยป้องกันได้ในระยะเริ่มแรกที่ยังไม่แสดงอาการ

ทั้งนี้โรคสมองเสื่อมทั้งหลายจะมีระยะเพาะบ่มตัวเองอยู่อย่างน้อย 10 ถึง 15 ปีก่อนที่จะแสดงอาการ

ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในวันที่ 20 ตุลาคม 2020 ในวารสาร cellPress Cell Reports Me-dicine ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญถึงการมองภาพสมองเสื่อม ไม่ใช่ดูที่สมองอย่างเดียวแต่จะเป็นการมองภาพรวม

เนื่องจากฮอร์โมนในเลือดที่มาจากลำไส้ที่เรียกว่า gut hormones เช่น ตัวที่ชื่อ เกรลิน (ghrelin) มีบทบาทในการควบคุมการสร้างเซลล์ใหม่หรือเซลล์ต้นกำเนิดในสมองมนุษย์ที่แม้โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และแม้ว่าจะมีอายุมากแล้วก็ตามที่เรียกว่า neurogenesis

ฮอร์โมนดังกล่าวมีสองฟอร์ม คือ acyl-ghrelin (AG) และ unacylated-ghrelin (UAG) โดยที่พบว่าตัว UAG กลับเป็นตัวร้ายลดหรือขัดขวางการสร้างเซลล์ใหม่และพิสูจน์แล้วว่าทำให้ความจำปัจจุบันหรือการเก็บความจำระยะสั้นผิดปกติและการทำงานเชื่อมโยงประสานกันของเซลล์ประสาทในระบบเดียวกันและต่างระบบ (neuroplasti-city) ไม่ปกติ

โดยเฉพาะในคนป่วยที่มีอาการของโรคพาร์กินสัน ร่วมกับความจำเสื่อม พบมีความผิดปกติของสัดส่วนระหว่าง AG และ UAG นี้ และยืนยันโดยไม่ว่าจะทำการทดสอบในหลอดทดลองหรือในสัตว์ทดลองที่ปรับแต่งพันธุกรรมให้ไม่มี ghrelin-O-acyltransferase และทำให้ไม่มี AG ก็จะมีความผิดปกติของการทำงานในระบบความจำ เมื่อให้ AG เข้าไปก็กลับเป็นปกติ และพบหลักฐานชัดเจนว่า AG ที่ช่วยกันสร้างเซลล์ใหม่ถูกขัดขวางจาก UAG

การค้นพบนี้ของ AG และ UAG ยังทดสอบในคนป่วยที่เป็นพาร์กินสันโดยมีความจำเสื่อมด้วย (parkinson-dementia) แต่จะอธิบายปรากฏการณ์ของโรคสมองเสื่อมที่มีชื่ออื่นๆได้หรือไม่อย่างไร อาจจะต้องมีการทดสอบกันต่อ แต่ข้อสำคัญก็คือเป็นการปูลู่ทาง ทั้งในการวินิจฉัยในคนที่อาจจะยังไม่มีอาการหรืออาการยังไม่ชัดเจนจนกระทั่งถึงวางแผนในการพัฒนานวัตกรรมและยาใหม่

ทั้งนี้มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ AG โดยมีการรายงานก่อนหน้าในวารสาร Current Biology วันที่ 17 กันยายน 2020 พบว่า ฮอร์โมนนี้เป็นตัวบอกสมองให้รู้สึกว่ามีความหิว โดยผ่านทางเส้นประสาทเบอร์ 10 ซึ่งเป็นเส้นเดียวกับที่โปรตีนบิดเกลียวและก่อให้เกิดโรคสมองเสื่อมใช้เป็นทางผ่านจากลำไส้ขึ้นไปยังสมอง

และในสัตว์ทดลองที่การส่งผ่านสัญญาณนี้ผิดปกติ จะเสมือนกับว่าลืมไปแล้วว่ากินไปแล้ว ทำให้กินแล้วกินอีก เหมือนกับกินไม่อิ่ม และอาจจะอธิบายสิ่งที่เราเห็นในคนป่วยสมองเสื่อมหลายๆรายที่ลืมไปแล้วว่ากินแล้วยังกินอยู่เรื่อย (ท่าทางพวกเราหลายคนคงจะใช้ข้ออ้างนี้ว่าฮอร์โมนน้อยแต่ความจริงตะกละ)

ซึ่งเป็นส่วนของความจำปัจจุบัน (episodic memory) และในสัตว์ทดลองนั้น อาจมีความเกี่ยวข้องกับความมืด-สว่าง หรือเทียบกับกลางวันกลางคืนด้วย กล่าวโดยรวมการมีสุขภาพดีสามารถควบคุมการกระทำได้จากตัวเราเอง ทั้งนี้โดยที่ต้องมีการส่งเสริมให้มีความตระหนักรู้ในการปฏิบัติตัว การใช้ชีวิต ในเรื่องของอาหารการกินและร่วมใจกันส่งเสริมอากาศสะอาดอาหารปลอดภัย

คนไทยจะอยู่รอดได้ด้วยบัตรทองก็ต่อเมื่อเราไม่ได้มีโรคเต็มขั้นรายล้อมและเต็มโรงพยาบาล จนกระทั่งไม่ว่าจะมีหมอพยาบาลเครื่องไม้เครื่องมือ นวัตกรรมสมัยใหม่ยามะเร็ง จนถึงยามุ่งเป้าเข็มละ 230,000 บาท ฉีดชุดละสี่เข็ม ยืดชีวิตไปได้ครึ่งปีหรือหนึ่งปีก็คงไม่รอด ต้องคิดแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่วิ่งตามปัญหาแล้วครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอนิติเวช' โต้ แท่งย้วยสีขาวในคนตายฉีดวัคซีน mRNA พบได้ในผู้ตายทุกคน

นาวาตรี น.พ. อรรถสิทธิ์ ดุลอำนวย แผนกนิติเวชศาสตร์ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กล่าวถึงรณีที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ออกมาระบุว่า ในต่างประเทศพบ ผู้ฉีดวัคซีน mRNA

'หมอธีระวัฒน์' แนะกลยุทธ์ 'สมองใส'

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กลยุทธ์ สมองใส

คนไทยต่างแดนเฮ! เริ่มใช้สิทธิบัตรทองได้ 15 ม.ค.

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติรับทราบ “แนวทางการจัดระบบบริการเพื่อดูแลคนไทยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

รบ.แนะ ปชช. ช่วงปีใหม่ เจ็บป่วยฉุกเฉิน เข้ารพ.ใกล้สุด รักษาตามนโยบาย UCEP

รัฐบาลห่วงใยประชาชน ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2567 หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน แนะเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดตามนโยบาย UCEP