ต้านการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำด้วย‘Big Data’

แม้จะมีข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพประกอบด้วยพืช สัตว์ จุลินทรีย์ ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน พิกัดสิ่งมีชีวิต จำนวน 1.2 แสนรายการ บนระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย (Thailand Biodiversity Information Facility: TH-BIF) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พัฒนาขึ้น แต่บิ๊กดาต้านี้ก็ยังไม่ครอบคลุมข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญที่มีกว่า 130 แห่งกระจายทั่วทุกภาคในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจวางแผนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้พื้นที่ชุ่มน้ำของไทยตกอยู่ในภาวะถูกคุกคามจากการบุกรุกทำลาย และกิจกรรมการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เช่น การเกษตร การเพาะปลูก การประมง การขยายตัวเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ  โดยมีสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ จากการขาดข้อมูลพื้นฐานเพื่อการวางแผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่งเสื่อมโทรมถึงขั้นวิกฤต

ด้วยเหตุนี้  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมทรัพยากรน้ำ (ทน.)จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการจัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยระหว่างสองหน่วยงาน เมื่อวันก่อน เพื่อสนับสนุนและผลักดันการดำเนินงานการจัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยตามแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปี 2561-2565  

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรน้ำจะเข้ามาช่วยเติมเต็มให้เกิดความสมบูรณ์ของข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำให้มีฐานข้อมูลทรัพยากรมากพอต่อการประมวลผลและแสดงผลข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้องในการใช้งานเชิงวิชาการและการวางแผนเชิงพื้นที่ในทุกระดับสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง

หลังจาก MOU ครั้งนี้จะมีการปรับปรุงและนำเข้าข้อมูลสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ 15 แห่ง  พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ 47 แห่ง และระดับนานาชาติ 69 แห่ง  รวมไปถึงพัฒนาการแสดงข้อมูลองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นำร่อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ และเป็นฐานทรัพยากรในระดับชุมชน ในระดับจังหวัด ร่วมกันของประเทศ

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นประเด็นที่จะมีความสำคัญระดับโลก  และถูกยกระดับมากขึ้น แม้การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะเป็นประเด็นที่ทุกหน่วยงานและประชาชนให้ความสำคัญอย่างมาก แต่จากรายงานทางวิทยาศาสตร์เป็นคลื่นลูกที่ 3 ของหายนะโลก ขณะที่คลื่นลูกที่ 4 ความหลากหลายทางชีวภาพพังทลายลงจะเป็นจุดสิ้นสุดของมนุษย์  ซึ่งระบบคลังข้อมูลฯ นี้อยู่ในแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพตามหน่วยงานต่างๆ ให้มีข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง เข้าถึงง่าย และใช้ประโยชน์เห็นผลจริง

“ การมีฐานข้อมูลเชื่อมโยงไม่ใช่มีข้อมูลเยอะ แต่มีข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง  บริหารจัดการในรูปแบบที่ใช้ประโยชน์ได้ และตอบคำถามประชาชนได้ประโยชน์อะไร เป็นสิ่งสำคัญ  MOU ครั้งนี้จะทำให้คลังข้อมูลฯ สมบูรณ์เพิ่มขึ้น มีข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำ เติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งผู้ใช้งานมีหลากหลาย ทั้งหน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย เอ็นจีโอ ส่วน สผ.ใช้ระบบคลังข้อมูลฯ นี้บริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพเชิงนโยบายระดับประเทศและระดับสากลภายใต้อนุสัญญา “ ดร.พิรุณ กล่าว

สำหรับระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของไทย เลขาธิการ สผ. ระบุจะตอบโจทย์ 2 เรื่องสำคัญในอนาคต ประกอบด้วยร่าง พ.ร.บ.ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. … ซึ่งกำหนดให้ทำบัญชีรายการทรัพยากรชีวภาพของชุมชน การสนับสนุนชุมชนและท้องถิ่นจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ การประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่น การควบคุมชนิดพันธุ์ต่างถิ่น กรณีเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำ ถ้ามีการบุกรุกใช้ประโยชน์จะผิดกฎหมายนี้ทันที ฐานข้อมูลนี้จะช่วยสนัสนุน ขณะนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา นอกจากนี้ ตอบโจทย์อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพกำหนดให้เผยแพร่ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยในระดับสากล

ทิศทางการพัฒนาคลังข้อมูลนี้ ดร.พิรุณ กล่าวว่า ปัจจุบันมี 19 หน่วยงาน ใน 5 กระทรวง ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำเป็นกรมล่าสุดที่เข้ามาร่วมพัฒนาฐานข้อมูลนี้  เรามีเป้าหมายเชื่อมต่อข้อมูล 35 หน่วยงาน ภายในปี 2570

“ นอกจากได้มอบนโยบายนอกจากจะเป็นคลังข้อมูลที่บอกช้อมูลสิ่งมีชีวิต ทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ยังต้องมีเรื่องการบริหารจัดการ ข้อแนะนำการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพ เพื่อให้สมบูรณ์และขยายให้ข้อมูลให้ครอบคลุมมากขึ้น  เพื่อเป็น Big Data อย่างแท้จริง “ เลขาฯ สผ. ย้ำ

ด้าน นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ทน. ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ชุ่มน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่สำคัญ  ซึ่งมีพื้นที่ชุ่มน้ำหลายประเภททั้งทะเลสาบ  หนอง  บึง  ห้วยป่าพรุ อย่างบึงโขงหลง แรมซาร์ไซต์สำคัญระหว่างประเทศ หนองกุดทิงพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ลุ่มน้ำสงครามที่ขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซด์  จนกระทั่งพื้นที่ชุ่มน้ำหาดทราย ป่าชายเลน  โดยการพัฒนาเน้นอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้อย่างชาญฉลาดสอดคล้องกับวิถีชุมชนโดยรอบ เราจะนำข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วประเทศเชื่อมสู่คลังข้อมูลฯ รวมถึงมีการอัพเดทข้อมูลทรัพยากรชีวภาพให้เป็นปัจจุบัน โดยมอบหมายให้สำนักทรัพยากรน้ำที่ 1-11 ที่กระจ่ายทั่วประเทศ นำร่องที่ละ 1 แห่ง ผลจากการจัดทำฐานข้อมูลนำร่องดังกล่าว จะนำมาสู่การปฏิบัติ และเป็นแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำในอนาคต

อธิบดีกรมน้ำระบุด้วยว่า กรณีครม.เห็นชอบการขอยกเว้นมติ ครม. ห้ามใช้ประโยชน์ป่าชายเลนในการขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนในจ.ปัตตานี เพื่อขยายพื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียนของวิทยาลัยแห่งนี้ ทั้งนี้ มีการระบุในพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าชายเลนเสื่อมโทรม หากมีข้อมูลทรัพยากรชีวภาพที่ถูกต้องและครบถ้วน ก็จะประโยชน์มากขึ้นต่อการตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ในพื้นที่ชุ่มน้ำ

“ การมีฐานข้อมูลทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำมากพอต่อการประมวลผลและแสดงผลข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้องจะเกิดประโยชน์ในการใช้งานเชิงวิชาการและการวางแผนอนุรักษ์เชิงพื้นที่ในทุกระดับ สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง คุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นแหล่งน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำฝน หากมีแผนพัฒนาที่สอดคล้องกับข้อมูลสมดุลน้ำในพื้นที่ น้ำเข้า-น้ำออก จะช่วยบรรเทาความเสื่อมโทรมของพื้นที่ชุ่มน้ำ MOU นี้จะหนุนคลังข้อมูลทำให้ภาพความหลากหลายทางชีวภาพของไทยชัดเจนยิ่งขึ้น“ นายภาดล กล่าวในท้ายพร้อมสนับสนุนข้อมูลในระบบบิ๊กดาต้าและสร้างเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มเติมรองรับการจัดทำข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วประเทศ  โดยจะเริ่มดำเนินการทันที

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการชี้โครงการ 'ผันน้ำยวม' มูลค่าแสนล้านเสี่ยงผิดกม. สร้างหนี้รัฐมหาศาล ไม่คุ้มค่า

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมชลประทาน ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม โดยมี ดร.ศิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กองทุนภูมิอากาศไทย หนุนลดก๊าซ-ปรับตัวสู้โลกร้อน

เพื่อส่งเสริมความร่วมมือมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยกองทุนสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดงานสัมมนาวิชาการกองทุนสิ่งแวดล้อม ประจำปี พ.ศ. 2566

‘กรมโลกร้อน’คอนมานโดสู้’โลกรวน’

ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศ ที่คาดว่าจะต้องเผชิญความเสี่ยง และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งอุณหภูมิร้อนขึ้น การเกิดภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ  รวมถึงไฟป่าตามมา หรื

กางแผนผลักดัน OECMs ตามเป้า 30X30  ป้องกันพืช-สัตว์ สูญพันธุ์

เนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี 2566 “From Agreement to Action : Build Back Biodiversity “  จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เปิดวงเสวนาหัวข้อ “OECMs โอกาสในการบรรลุเป้าหมาย 30 x 30 ของประเทศไทย”

ถอดโมเดล 10 จังหวัด สู้ภัยโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างผลกระทบในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยแตกต่างกัน ส่งผลให้แต่ละจังหวัดมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสู้ภัยโลกร้อนและบรรเทาความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติจากสภาพอากาศที่แปรปรวนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมี 10 จังหวัดนำร่อง