สพฐ. ตั้งอนุกรรมการฯ 7 คณะ แก้มหากาพย์หนี้ครู 9 แสนราย ยอดรวม 1.4 ล้านล้านบาท

18 ธ.ค.2566 – ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมพร้อมมอบนโยบายแก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ กรณีการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมี นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 2 กระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบ Video Conference
.
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายให้ สพฐ. หาแนวทางผ่อนคลายภาระหนี้สิน เพื่อสร้างความสุขแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะแหล่งข้อมูลหนี้สินครูที่ใหญ่ที่สุดของ ศธ. อยู่ที่ สพฐ. ดังนั้น ในวันนี้ จึงได้เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาประชุมหารือและมอบแนวทางการดำเนินงานแก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนมาตรการลดภาระหนี้สิน เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายสถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่ สำรวจสภาพหนี้และจัดกลุ่มครูตามภาระหนี้สิน เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
.

  1. กลุ่มสีแดง หรือ กลุ่มวิกฤต คือ ผู้ที่เหลือเงินเดือนไม่ถึง 30% หลังจากหักการชำระหนี้ และกำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำให้ทุกเขตพื้นที่ เร่งช่วยเหลือเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อชะลอการดำเนินการทางกฎหมายและหาแนวทางบริหารจัดการหนี้ต่อไป
  2. กลุ่มสีเหลือง คือ กลุ่มที่เหลือเงินเดือนไม่ถึง 30% มีแนวโน้มจะเป็นหนี้วิกฤต ให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ควบคุมยอดหนี้
  3. กลุ่มสีเขียว คือ กลุ่มครูที่มีหนี้เล็กน้อย ถึงไม่มีหนี้สิน
    .
    “ในเชิงการป้องกัน ผมได้เน้นย้ำผู้บังคับบัญชา ทั้ง ผอ.เขตพื้นที่ และ ผอ.โรงเรียน ให้ตรวจสอบสภาพหนี้สินครูก่อนมีการอนุมัติกู้ในระบบต่างๆ เพื่อคงสภาพของกลุ่มสีเขียวและกลุ่มสีเหลืองเอาไว้ เพื่อให้ครูและบุคลากรทุกคนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทั้งนี้ ให้เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูเป็นตัวชี้วัดของสถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่ฯ และจะมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด เป็นรายเดือนต่อไป” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว
    .
    ทางด้าน นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมี รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อวิเคราะห์ปัญหา จัดทำแนวทางแก้ไขสถานการณ์หนี้ของประชาชนทั้งประเทศ
    .
    ทั้งนี้ จากการประชุมหารือคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมเสนอแนวทางแก้ไขหนี้กลุ่มข้าราชการ ในเบื้องต้น ดังนี้
    .
    1) ตระหนักถึงปัญหาความซับซ้อนของหนี้ข้าราชการครู จำนวน 900,000 ราย มูลหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท
    2) กำหนดให้มีเงินเหลือเพื่อดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน โดยภายในเดือนมกราคม 2567 จะต้องมีการดำเนินการเบื้องต้นที่ชัดเจน เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย/ปรับจำนวนงวดให้ยาวขึ้น ไม่เกินอายุ 75 ปี
    3) กำชับมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการดำเนินงานของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551
    4) ขยายผลจาก ข้อ 1-3 ไปยังหนี้นอกระบบ
    .
    “เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ อย่างเป็นรูปธรรม สอดรับกับแนวทางของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ สพฐ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีคณะอนุกรรมการฯ ย่อย อีก 7 คณะ เพื่อให้การปฏิบัติงานครอบคลุมทุกมิติ และขอให้สถานีแก้หนี้ครูร่วมปฏิบัติงานที่สำคัญนี้กับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายในการทำให้คุณภาพชีวิตของบุคลากรในสังกัดดีขึ้นต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

    เพิ่มเพื่อน

    ข่าวที่เกี่ยวข้อง

    "เสมา1" มอบ สพฐ. ใช้ระบบไอทีทำใบ ปพ.5 ช่วยลดขั้นตอนเอกสารของครูผู้สอน ใบสำคัญด้านการศึกษา หวังก้าวสู่องค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

    เมื่อวันที่ 21 มี.ค. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้มีนโยบายลดภาระครู ซึ่งจะเร่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลุดกรอบการทำเอกสารของครูผู้สอนแบบเดิม

    "รมช.สุรศักดิ์" ผนึกกำลัง​ สพฐ. ลงพื้นที่กระบี่ ย้ำโรงเรียนต้องปลอดภัย อาหารกลางวันต้องได้คุณภาพ พร้อมดันนโยบาย "เรียนดี มีความสุข" ต่อเนื่อง

    เมื่อวันอาทิตย์​ที่ 21 มกราคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ จ.กระบี่

    ตอกหน้า! ‘ตรีนุช’ บอกสพฐ.ไฟเขียวยืดหยุ่นชุดลูกเสือ-เนตรนารี ตั้งแต่กลางปี65

    โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ของกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ ได้มีการยืดหยุ่นการแต่งชุดลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา