สปสช. หนุนใช้ยาสมุนไพร 9 รายการ ยาแก้ไอมะขามป้อม ไพล ขมิ้นชัน ใช้มากสุด

4 ม.ค.2567- ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีนโยบายสนับสนุนให้ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท เข้าถึงสมุนไพรมากขึ้น ในการบรรเทาและรักษาอาการเจ็บป่วย เพื่อเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อมในการการปลูกสมุนไพร ที่ผ่านมาจึงมอบหมายให้คณะทำงานพัฒนาระบบบริการและประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการพิจารณารายการยาสมุนไพรที่สามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ เพื่อให้เป็นการจ่ายตามรายการบริการ (Fee Schedule )

ทั้งนี้ คณะทำงานพัฒนาระบบบริการฯ ดังกล่าว ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้น ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนคณะทำงานฯ และผู้แทนกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมอบให้ตนเป็นประธานคณะทำงานเฉพาะกิจชุดนี้ และได้จัดทำข้อเสนอรายการยาสมุนไพรและหลักเกณฑ์การพิจารณานำมาใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน เพื่อนำมาเป็นรายการสมุนไพรที่เบิกจ่ายตามรายการบริการ โดยเริ่มในปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 9 รายการ ประกอบด้วย

1.ฟ้าทะลายโจร ใช้บรรเทาอาการหวัด เจ็บคอ 2.ขมิ้นชัน ใช้บรรเทาอาการแน่นจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ 3.ประสะมะแว้ง ใช้บรรเทา บรรเทาอาการไอ มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ช่วยขับเสมหะ 4.ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ 5.ยาไพล บรรเทาอาการบวม ฟกช้ำ เคล็ดยอก

6.เถาวัลย์เปรียง บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ 7.ยาประคบ ประคบเพื่อลดอาการปวด ช่วยคลายกล้ามเนื้อ เอ็นและข้อ 8.ยาธาตุอบเชย บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และ 9.ยาสหัสธารา เพื่อขับลมในเส้น แก้โรคลมกองหยาบ

ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวต่อว่า จากข้อมูลปีงบประมาณ 2566 ในส่วนบริการสมุนไพรทั้ง 9 รายการข้างต้นนี้มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 2,065,018 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 69,687,367.45 บาท โดยสมุนไพรที่มีการเบิกจ่ายสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.ยาแก้ไอมะขามป้อม มีการเบิกจ่ายจำนวน 562,574 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 19,408,965 บาท 2.ยาไพล มีการเบิกจ่ายจำนวน 327,037 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 13,580,609 บาท 3.ยาขมิ้นชัน มีการเบิกจ่ายจำนวน 256,924 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 5,832,139 บาท 4.ประสะมะแว้ง มีการเบิกจ่ายจำนวน 231,394 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 5,814,827 บาท และ 5.ยาฟ้าทะลายโจร มีการเบิกจ่ายจำนวน 179,446 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 4,538,101 บาท

นอกจากนี้เมื่อดูข้อมูลการเบิกจ่ายยาสมุนไพรทั้ง 9 รายการ โดยแยกตามพื้นที่นั้น พบว่าหน่วยบริการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเบิกจ่ายมากที่สุด โดยเขต 8 อุดรธานี มีการเบิกจ่ายมากที่สุดรวมเป็นจำนวน 410,038 ครั้ง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 14,636,892.80 บาท

“จากข้อมูลที่ปรากฏนี้ จะเห็นได้ว่าการปรับรูปแบบการจ่ายชดเชยค่าบริการสมุนไพรให้เป็นการจ่ายค่าบริการตามรายการ (Fee Schedule ) ได้ช่วยกระตุ้นการใช้สมุนไพรในประเทศเพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้เพิ่มการเข้าถึงบริการและสนับสนุนภูมิปัญญาไทยด้วย อย่างไรก็ดีเพื่อรองรับการสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรในระบบบัตรทอง ทาง สปสช. ยังได้ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดทำราคากลางสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติทุกรายการ เพื่อรองรับการนำมาใช้ในการจ่ายชดเชยค่าบริการยาสมุนไพรตามการจ่ายค่าบริการตามรายการในทุกรายการ” ผู้ทรงคุณวุฒิตด้านการแพทย์แผนไทย บอร์ด สปสช. กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แพทย์ชนบท' แฉเบื้องลึก! ทำไม 'หมอชลน่าน' หลุดเก้าอี้

เพจ "ชมรมแพทย์ชนบท" โพสต์ข้อความว่า ชมรมแพทย์ชนบท ขอขอบคุณ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ที่ผ่านมา

นายกฯ สั่ง 'สปสช.-สปส.' ร่วมยกระดับหลักประกันสุขภาพ

นายกฯ สั่งการเดินหน้าบูรณาการการทำงาน สปสช.- สปส. ร่วมมือการทำงาน เริ่ม 1 เม.ย.2567 ยกระดับหลักประกันสุขภาพตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามกลุ่มช่วงอายุ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สปสช.ยังค้างจ่ายเงินโรงเรียนแพทย์ร่วม 1,000 ล้านบาท แจงยิบติดค้างรพ.ละเท่าไหร่

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กล่าวถึงกรณี รองเลขาฯ สปสช.ชี้แจงค้างจ่ายเงินโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ รวม 369 ล้านบาท ว่าเกิดจากการเรียกเก็บค่าชดเชย ที่ติดรหัส C และติดรหัส DENY นั้น ไม่ครบถ้วน