เที่ยวเชียงใหม่ ไหว้พระธาตุ 12 นักษัตร

เดินสายไหว้พระขอพรเพื่อเสริมสิริมงคล เป็นกิจกรรมที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับพุทธศาสนิกชนอย่างเราๆ  และประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญ คือ การสักการะพระธาตุประจำปีเกิด  เพื่อให้ชีวิตมีความราบรื่น  มีโชคลาภ  รวมทั้งเป็นสิริมงคลต่อการเริ่มต้นใหม่ในทุกๆ ปี  ซึ่งสำหรับในประเทศไทยแล้ว มีพระธาตุประจำปีเกิดกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ  แต่จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดที่มีพระธาตุประจำปีเกิดมากที่สุด

เหตุเพราะคติความเชื่อของชาวล้านนาที่ว่า ดวงจิตมนุษย์ก่อนกำเนิดจะสถิตกับพระธาตุที่ต่างกันไป โดยมี “ตั๋วเปิ้ง” หรือสัตว์ประจำปีนักษัตร พาไปพักหรือเพื่อรอการกำเนิดขึ้น ทำให้ชาวล้านนามีความผูกพันกับพระธาตุประจำปีนักษัตรของตนและหาโอกาสไปนมัสการ นำมาซึ่งความสงบและความเจริญรุ่งเรืองแก่ชีวิต มีการสืบทอดความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่นแบบไม่เสื่อมคลาย

กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้รวบรวมพระธาตุประจำวันเกิด 12 นักษัตร ใน จ.เชียงใหม่ ต่อยอดสู่กิจกรรม “ตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา : เส้นทางสักการะพระธาตุประจำปีเกิด” ภายใต้โครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติทางศาสนา ที่สามารถเดินทางตามได้ง่ายๆ ที่สำคัญช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีอีกด้วย  โดยมียุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิด พร้อมด้วยนายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เข้าร่วมกิจกรรมที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร  วัดคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ที่ประดิษฐานพระธาตุพระสิงห์ พระธาตุประจำคนเกิดปีมะโรง   

บรรยากาศยามเย็นคลาคล่ำด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่จับจองพื้นที่เฝ้ารอชมพิธีเปิดโครงการ ซึ่งเต็มไปด้วยวิถีวัฒนธรรมล้านนา เริ่มจากขบวนแห่ผ้าห่มพระธาตุประจำปีมะโรงจากวัดชัยพระเกียรติมายังวัดพระสิงห์สะท้อนความศรัทธาพุทธศาสนาดินแดนล้านนา   เหล่าช่างฟ้อนกว่า 500 ชีวิต ฟ้อนเทียนถ่ายทอดวัฒนธรรมอ่อนช้อยทรงคุณค่าของชาวล้านนา สะกดสายตานักท่องเที่ยว ก่อนเข้าสู่การแสดงชุดเล่าขานตำนานพระพุทธสิหิงค์และตำนานพระธาตุหลวงวัดพระสิงห์ ตื่นตากับการแสดงกลองล้านนาชุดนันทเภรีแห่งศรัทธา  นาฏยลีลาศรีนครพิงค์ และสักการะบูชาพระมหาธาตุเจดีย์อย่างพร้อมเพรียงกัน โดยปลัด วธ. นำจุดธูปเทียนบูชารับมงคลปีมะโรงงูใหญ่

ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร กล่าวว่า โครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติทางศาสนา สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ (Spiritual Tourism)ช่วยส่งเสริมให้วัด ศาสนสถานเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ ประวัติศาสตร์ที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนในชุมชนบนฐานของมิติทางศาสนาและวัฒนธรรมผ่านการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับ ททท.  สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ตามแนวคิด Soft Power ชูเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรม สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น สร้างการรับรู้นำไปสู่การพัฒนา ส่งเสริมการสืบสานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ดีงามของท้องถิ่น

จากนั้นพากันไปกราบพระธาตุพระสิงห์ พระธาตุประจำคนเกิดปีงูใหญ่  องค์พระธาตุเป็นรูปทรงศิลปะพม่าที่นิยมสร้าง มาตั้งแต่สมัยพุกาม ภายในพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนกระดูกข้อมือซ้ายบรรจุรวมกับพระเกศาธาตุ ได้ทำบุญเสริมดวงตามความเชื่อชาวล้านนา  ที่วัดพระสิงห์นี้เราเข้าไปไหว้ขอพรพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญคู่นครเชียงใหม่ ทุกปีจะนำ”พระสิงห์”ออกแห่รอบเมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่”  เชื่อว่าความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธสิหิงค์จะดลบันดาลให้บ้านเมืองมีความสงบร่มเย็นเป็นสุข  ขจัดภัยพิบัติ ใครที่ชื่นชอบยลศิลปะสถาปัตยกรรมตามวัดวาอาราม ห้ามพลาดชมพระอุโบสถที่มีสถาปัตยกรรมงดงามเป็นพิเศษแตกต่างจากอุโบสถวัดอื่นๆ และขึ้นทะเบียนโบราณสถานจากความเก่าแก่สร้างสมัยกษัตริย์พญามังราย  แล้วยังมีหอธรรมวิจิตรงดงาม ชาวปีมะโรงต้องหาโอกาสไปกราบสักครั้งในชีวิต

เช้าวันใหม่วางแผนเดินทางไปสักการะอีก 3 พระธาตุจำปีนักษัตร เริ่มที่พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุประจำคนเกิดปีมะแมหรือปีแพะ  ถือเป็นปูชนียสถานที่สำคัญเป็นแลนด์มาร์คคู่นครเชียงใหม่ เป็นพระธาตุเจดีย์ทรงเชียงแสน ฐานสูง ย่อมุมระฆังทรงแปดเหลี่ยม ปิดด้วยทองจังโกงดงามอร่ามตาประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนาและพุทธศาสนิกชนตราบจนปัจจุบัน เชื่อกันว่าหากบูชาพระธาตุครบทั้ง 4 ทิศ จะทำให้มีสติปัญญาดี ชีวิตดี   พระธาตุดอยสุเทพเป็นที่พึ่งทางใจของผู้คนแถบภาคเหนือ ปัจจุบันองค์พระธาตุอยู่ระหว่างการบูรณะ  แต่เปิดให้นมัสการตามปกติ ด้วยโลเกชั่นอยู่บนดอยสุเทพ ยังสามารถชมวิวทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ได้สุดสายตา

ถ้าจะให้ถูกต้องตามความเชื่อชาวล้านนา ผู้ที่เกิดปีมะเส็งหรือปีงูเล็ก จะต้องจารึกไปยังประเทศอินเดียสักการะโพธิบัลลังก์ตรัสรู้ที่พุทธคยา ส่วนใครที่ไม่สะดวกสามารถมากราบ เจดีย์เจ็ดยอด หรือ เจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา พระธาตุประจำคนเกิดปีมะเส็ง ที่วัดโพธาราม มหาวิหาร หรือ วัดเจ็ดยอด ที่เมืองเชียงใหม่ได้บุญไม่ต่างกัน พระเจดีย์เก่าแก่สร้างด้วยศิลาแลง ทรงยอดปรางมี 7 ยอด ประดับลวดลายปูนปั้นเทพพนม และลวดลายดอกไม้  สร้างเลียนแบบเจดีย์พุทธคยาแบบอินเดีย รอบฐานพระเจดีย์เต็มไปด้วยรูปปั้นงูที่มีผู้นำมาถวายแก้บนตามความเชื่อในฐานะพระธาตุประจำปีมะเส็ง ความสำคัญวัดโบราณนี้เป็นสถานที่สังคายนาพระโตรปีฎกครั้งที่ 8 ของโลก  สิ่งหนึ่งนิยมทำเมื่อมาวัดเจ็ดยอดการบูชาไม้ค้ำโพธิ์ตามความเชื่อล้านนา  ช่วยค้ำจุนชีวิตให้ยืวยาวดั่งต้นโพธิ์

อีกหนึ่งวัดเก่าแก่ในเส้นทางสักการะประจำปีเกิด ไม่ต้องเดินทางไปถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หรือขึ้นเครื่องไปบูชาพระธาตุอินทร์แขวน ประเทศพม่าของคนเกิดปีจอ ตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า พระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประดิษฐานพระทันตราตุพระพุทธเจ้า หมุดหมายอยู่ที่ พระธาตุจุฬามณี พระธาตุประจำคนเกิดปีจอ หรือปีหมา วัดเกตการาม เชียงใหม่นี่เอง   วัดเกตอายุเกือบ 600 ปี  ไหว้พระธาตุแล้ว เข้ากราบพระในวิหาร  แวะชมพระอุโบสถบานประตูสลักไม้รูปเทพพนมสีทอง ลวดลายปูนปั้นเป็นรูปกิเลน มังกร ปลา บันไดพญานาคเลื้อยออกมาจากโบสถ์สวยงามตราตรึง ที่วัดยังมีพิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนรวบรวมสมบัติดั้งเดิมของวัดและของเก่าแก่ที่ชาวบ้านล้านนาบริจาค  อาทิ พระพุทธรูป ช่อฟ้า ใบระกา ข้าวของเครื่องใช้  อาวุธโบราณ เสื้อผ้าของชาวล้านนา และภาพถ่ายเมืองเชียงใหม่ในอดีต แต่ตอนนี้ปิดปรับปรุง ปีหน้าพร้อมเปิดให้ชมอีกครั้ง

เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางล้านนา ยังมีพระธาตุประจำผู้ที่เกิดในปีชวด หรือปีหนูด้วย ได้แก่ พระธาตุศรีจอมทอง คนเหนือออกเสียงว่า “จ๋อมตอง” วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารเก่าแก่คู่เชียงใหม่มากว่า 500 ปี ตามประวัติหลังพุทธเจ้าปรินิพพาน พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จฯ มาดอยจอมทอง สร้างอุโมงค์แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน  ต่อมาสองผัวเมียศรัทธาในพุทธศาสนาสร้างพระเจดีย์ พระพุทธรูป ไว้บนดอย ผู้คนเรียกวัดจอมทอง ต่อมาเกิดเหตุอัศจรรย์ พระบรมสารีริกธาตุเคลื่อนจากอุโมงค์ไปประดิษฐานภายในพระโมลีพระพุทธรูป สมัยพระเจ้าเมืองแก้วกษัตริย์เชียงใหมาโปรดให้สร้างวิหารและโขงปราสาทประดิษฐานพระบรมธาตุจอมทอง พระธาตุประจำปีชวด คนปีหนูมากราบไหว้ได้อานิสงส์แรงกล้า

ใครวางแผนเที่ยวเชียงใหม่สามารถไปตามรอยพระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตร  นอกจากนี้ หยุดยาววันมาฆบูชา วันสำคัญทางศาสนา สายบุญชวนกันมาจาริกแสวงบุญไหว้พระธาตุได้อานิสงค์แรงกล้ายิ่งนัก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สั่งปิดป่าเชียงดาวตัดตอนลอบเผา

นายนิวัติ บุญมาวงศ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาว เลขาฯศูนย์สั่งการฯ War room แก้ปัญหาไฟป่าพื้นที่บูรณาการฯ ขสป.เชียงดาว รายงานผลการปฏิบัติควบคุมไฟป่าบริเวณพื้นที่ดอยนาง

วธ.จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ

25 เม.ย.2567 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า เนื่องในโอกาสคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร 29 เมษายน นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าจะได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมห

ผวาฮีตสโตรก! 'สาธารณสุขเชียงใหม่' เตือน ปชช. 25 อำเภอ

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า อากาศในช่วงนี้อุณหภูมิสูงร้อนอบอ้าวจากอิทธิพลความกดอากาศต่อเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน

บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายบูรพกษัตริย์ งาน242ปี กรุงรัตนโกสินทร์

21 เม.ย.2567 - เวลา 07.00 น. พระเทพวชิรโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช

'ใจถึงธรรมะ' ท่องแดนพุทธภูมิ (1)

เป็นอีกครั้งในชีวิตที่ออกเดินทางไปยังประเทศอินเดียและเนปาล เพื่อค้นหาคำตอบบางอย่าง ซึ่งตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าจะพบมั้ย แต่เชื่อมั่นว่า จะทำให้ตัวเองในฐานะชาวพุทธได้พบกับความสุขสงบในจิตใจและได้เว้นวรรคจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ห่างไกลจากสิ่งเร้ารอบตัว ตามโปรแกรมจะไปครบทั้ง 4 สังเวชนียสถาน

พายุฤดูร้อนถล่ม 4 จังหวัดภาคเหนือ บ้านเรือนเสียหาย ต้นไม้ใหญ่โค่นล้มเพียบ

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรายงานจาก สอต.พะเยา สอต.เชียงใหม่ สอต.แพร่ และ สอต.เชียงราย เกี่ยวกับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน วาตภัย เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 19 เม.ย.67 ในพื้นที่ ดังนี้