ครั้งแรกของการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวบรวมไว้ในหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ” เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักผ่านการบันทึกช่วงชีวิตตลอด 7 รอบนักษัตร ตั้งแต่เกิด ได้รับการศึกษา ออกเดินทางสู่โลกกว้าง และกลับมารับใช้แผ่นดินด้วยการพัฒนา
เส้นทางชีวิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้ผ่านประสบการณ์หลากหลายทั้งด้านดีและไม่ดี รวมถึงเหตุการณ์ในช่วงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ และการได้รับโอกาสในการถวายงานในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จวบจนถึงปัจจุบัน หนังสือชวนสัมผัสความรู้สึกนึกคิด การใช้ชีวิต และมุมมองต่อเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามา และพบแง่มุมชีวิตอันน่าสนใจของบุคคลผู้นำความเปลี่ยนแปลงในวัย 84 ปีผู้นี้
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นายกกิตติมศักดิ์และประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จัดพิมพ์หนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต” ซึ่ง ดร.สุเมธ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตในการจัดพิมพ์ ด้วยมีเจตจำนงที่จะมอบให้เป็นลิขสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนาและรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือมอบสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา
งานเปิดตัวหนังสือ“ชีวิตนี้ชะตาลิขิต” ณ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล บอกเล่าจุดเริ่มต้นการจัดทำหนังสือว่า เกิดขึ้นจากความตั้งใจของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานรุ่นผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ นพย. ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดทำหลักสูตรการอบรมนี้ขึ้น เมื่อปี 2559 เพื่อสร้างผู้นำคลื่นลูกใหม่ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนำสังคมไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุล ในหลักสูตรตนมีฐานะเป็นครูใหญ่ ลูกศิษย์เห็นว่า ชีวิตของตนมีประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
“ การจัดทำหนังสือตนมีเงื่อนไขหน้าแรกถึงหน้าสุดท้ายให้เล่าชีวิตจริง และถอดบทเรียนแต่ละช่วงเวลาจะดีจะเลวก็แล้วแต่ ไม่ใช่จะมีแต่ด้านดีด้านเดียว อย่างน้อยประสบการณ์ของเราเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจให้ผ่านอุปสรรค ด้วยความที่ตัวเองไม่เคยบันทึกอะไรไว้เลย ขออภัยความคลาดเคลื่อนเรื่องเวลาบ้าง ตัวบุคคลบ้าง มันต้องทบทวนความจำ 80 กว่าปี มาเล่าใหม่ ค้นหาภาพ กว่าจะรวบรวมภาพได้ ขอชมเชยและขอบคุณทีมงานช่วยทำงานจนสำเร็จ “ ดร.สุเมธ กล่าว
เจ้าของหนังสือบอกด้วยว่า เมื่อได้ทบทวนชีวิตแล้ว มีความพิลึกกึกกือพอสมควร พูดถึงความหลังแล้ว ชีวิตตนไม่ปกติเท่าไหร่ จนกระทั่งทุกวันนี้ก็เป็นอยู่อย่างนี้ ก็อ่านสนุกๆ อย่าไปซีเรียส ผมทำงานทุกวันนี้ เพราะขี้เกียจอยู่เฉยๆ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่งที่กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ตนถวายลิขสิทธิ์ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้จะเข้ามูลนิธิชัยพัฒนาทั้งหมด
ที่มาของชื่อหนังสือ“ชีวิตนี้ชะตาลิขิต” ดร.สุเมธ บอกว่า คิดอยู่นานและปรึกษาหารือกันควรจะใช้ชื่ออะไรดี ตนนั่งคิดดูชีวิตมันถูกกำหนดโดยผู้อื่น โดยฟ้า ดิน อะไรต่างๆ ความหวังของชีวิตและความปรารถนาส่วนตัวนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย ถ้าให้เล่าเกิดมาเป็นเด็กต่างจังหวัด ไม่ได้เข้าเรียนเพราะร่างกายอ่อนแอ เกิดภัยสงครามต้องหลบระเบิดไปเติบโตอยู่ จ.เพชรบุรี เรียนโฮมสคูลตั้งแต่คำนี้ยังไม่เกิด คุณแม่จ้างคุณครูมาสอนที่บ้าน ถึงเวลาสอบก็ไปสอบที่โรงเรียนแถวบ้าน แล้วสอบเทียบ ม.3 เข้าเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยได้ 3 ปีแล้วเตลิดเปิดเปิงไปเรียนต่อเมืองนอก ใครๆ เขาไปยุโรปอเมริกา แต่ตนไปเรียนมัธยมที่ประเทศเวียดนาม 6 ปี รบหนักขึ้นย้ายมาจบที่ สปป.ลาว อยู่หัวเดียวกระเทียมลีบแล้วไปเรียนต่อฝรั่งเศส จบรัฐศาสตร์การทูตหวังจะเป็นทูต แต่ฟ้าลิขิตต้องไปรับราชการที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
“ กลับมาไทยนั่งทำงานที่สภาพัฒน์ ตอนนั้นประเทศเข้าสู่ภาวะสงครามแล้ว เวียดนามล่มสลาย ลาวล่มสลาย สุดท้ายมาทำงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพทั้ง 4 ภาค เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตกลางสนามรบ ต้องลุยอยู่ในสนามรบอยู่ถึง 11 ปี เหนือจรดใต้ หวิดตายหลายหน ชีวิตก็ผ่านมาได้ และเริ่มทำงานเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. กระทั่งปี 2530 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จนในหลวง รัชกาล 9 เสด็จสวรรคต 40 ปีที่ถวายงานด้านการพัฒนาเป็นสิ่งที่ประทับใจที่สุด “ ดร.สุเมธเผยความประทับใจ
พลิกหนังสือบนปกหลังมีประโยคที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เขียนไว้ “ชะตาชีวิตผมถูกขีดมาอย่างนี้ บางช่วงทุกข์มาก มืดมนไปหมด ถึงเวลาก็สว่างของมันเอง บทเรียนง่ายๆ มีเท่านี้ ถึงเวลามันก็สว่าง ถึงเวลามันก็มืด ใจเรามันทุรนทุรายนึกว่ามืดไม่มีวันสว่าง จริงๆ ทุกอย่างมันเป็นเวลา จะไปเจอใคร จะเจออะไร เขาลิขิตมาหมดแล้ว” ผมเชื่อในชะตาลิขิตเพราะว่าเหตุการณ์อะไรหลายอย่างมันไม่น่าเป็นไปได้ แต่ว่าเราไม่ปล่อยตัว ยอมรับชะตาแต่ไม่ปล่อยตัว ไม่ว่าอยู่ตรงไหนเราก็ทำเต็มที่ของเรา “ เจ้าตัวบอกเชื่อในชะตาลิขิต เพราะว่าเหตุการณ์หลายอย่างมันไม่น่าเป็นไปได้ เรายอมรับชะตา แต่เราไม่ปล่อยตัว ไม่ว่าอยู่ตรงไหนเราทำเต็มที่
การจัดทำหนังสือชีวิตนี้ชะตาลิขิตแบ่งเนื้อหาออกเป็น 7 บท ตาม 7 รอบนักษัตร ซึ่งเจ้าตัวระบุชีวิตมักเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพลิกผันในแต่ละรอบปีนักษัตร รอบนักษัตรที่ 1 (พ.ศ. 2482 – 2494) วัยเยาว์รสหวานปนขม , รอบนักษัตรที่ 2 (พ.ศ. 2494 – 2506) เปิดประตููสู่โลกกว้าง , รอบนักษัตรที่ 3 (พ.ศ. 2506 – 2518) กลับสู่มาตุภูมิ ,รอบนักษัตรที่ 4 (พ.ศ. 2518 – 2530) รอนแรมในสมรภูมิ , รอบนักษัตรที่ 5 (พ.ศ. 2530 – 2542) ถวายงานด้านการพัฒนา ,รอบนักษัตรที่ 6 (พ.ศ. 2542 – 2554) รางวัลแห่งชีวิต ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และการทำงานอย่างไม่มีวันเกษียณ และรอบนักษัตรที่ 7 (พ.ศ. 2554 – 2566) ฝากไว้ให้สานต่อ
“ เนื้อหาบทฝากไว้ให้สานต่อมาจากตนเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานโรงพยาบาลศิริราชครั้งสุดท้าย และรับสั่งว่า “สุเมธ งานยังไม่เสร็จนะ” ซ้ำคำว่า “งานยังไม่เสร็จ“ 3 หน วันสิ้นพระชนม์ ผมนั่งคิดดูคำสุดท้ายที่ทรงเปล่งมา ฝากแม้กระทั่งวาระสุดท้าย สิ่งที่อยู่ในพระราชหฤทัยมีแต่เรื่องงาน เพื่อรักษาแผ่นดิน รักษาประชาชน พระองค์ท่านฝากผ่านผมมาให้พวกคุณและประชาชนชาวไทยรักษาแผ่นดินไว้ให้ได้ ทุกวันนี้เราห่วงจะเสียแผ่นดินใช่หรือเปล่า เราเสียไปเยอะแล้ว อากาศเราเสียไปแล้ว ยิ่งพัฒนาเท่าไหร่ ยิ่งทุกข์เท่านั้น ยิ่งเจริญอากาศเต็มไปด้วยมลพิษ แม่น้ำทุกสายเน่า ต้นน้ำลำธารถูกทำลายไปสิ้น เราพูดถึงความยั่งยืน แต่ความโลภของมนุษย์ทำลายสิ้นซาก ปี 2498 ประชากรไทยมี 17 ล้านคน วันนี้กระโดดไป 70 ล้านคน บ้านเท่าเดิม คนเพิ่มมา 5 เท่า แย่งกันกินอยู่ ทศวรรษหน้าจะเป็นสงครามแย่งน้ำ คำว่า”พอเพียง” ที่ทรงเปล่งเพื่อเตือนว่า ถ้ายังไม่กลับมา สุดท้ายจะฆ่าฟันแย่งชิงกัน ต้องถอยหลังหาจุดสมดุลและต้องปฏิบัติจริง วันนี้ทำอะไร ต้องทำให้เต็มกำลังของเรา จากไปแล้วอย่างน้อยได้ทำแล้ว ถ้าไม่ได้ทำจะเสียดายชีวิตขึ้นมา “ ดร.สุเมธ ฝากในท้าย
การจัดทำหนังสือเล่มนี้สนับสนุนการจัดพิมพ์โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสิริวัฒนภักดี โดยมีบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบการจัดวางเนื้อหารวบรวมข้อมูลและวางรูปแบบหนังสือรวมทั้งจัดพิมพ์ หนังสือจะเริ่มจำหน่ายภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.- 8 เม.ย. นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ ทรงเปิดงานและทรงซื้อหนังสือ “ชีวิตนี้ชะตาลิขิต” เล่มแรกที่วางจำหน่ายในวันที่ 28 มี.ค. นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อ ดร.สุเมธ อย่างหาที่สุดมิได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
SX 2024 มหกรรมด้านความยั่งยืน จัดเต็ม 10 แอคชั่น กอบกู้โลกเดือด
SX Sustainability Expo 2024 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนกลับมาอีกครั้ง โดยจัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน เนรมิตรพื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ร่วมกันสร้างอนาคตที่ดีกว่า ด้วยการ Upcycling SX2024
ชวนคุณมาร่วมค้นพบพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ เปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากรที่มีค่า พร้อมร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดใหม่ๆ ในการรักษ์โลกอย่างยั่งยืน ในงานเสวนา ในงาน SX TALK SERIES #6 Upcycling Waste “ชุบชีวิตขยะ เปลี่ยนโลก”
ASEAN Week 2024
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนงาน ASEAN Week 2024 ภายใต้แนวคิด “Shaping the Future of Sustainable ASEAN จัดโดย ซี อาเซียน ร่วมกับ กรมอาเซียน
บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 เปิดรายชื่อครั้งที่ 2 กับสุดยอด 30 ศิลปินชั้นนำจากทั่วโลก
มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
เสียงเตือนของธรรมชาติ คือ สัญญาณที่โลกแสดงออกมา ถึงเวลาที่มนุษยชาติ ต้องเอาใจใส่รักษ์โลก
ปัจจุบัน “โลก” ของเราเต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่ ครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งเดียว เพราะแต่ละปีที่ผ่านมาได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างต่อเนื่อง