3สมาคมแพทย์ฯเตือนกลุ่ม 608 'วัคซีนโควิด ' ยังจำเป็น เหตุไทยเสียชีวิตมากสุดในอาเซียน

ปัจจุบันสถานการณ์ระบาดโควิด-19 จะซบเซาลง มีผู้ติดเชื้อในประเทศมีจำนวนลดลง และถูกจัดให้เป็นโรคประจำถิ่น รวมทั้ง นอกจากนี้ หลังการติดเชื้อจะมีอาการไม่รุนแรงเหมือนอย่างการระบาดในช่วงแรกๆ สามารถกินยารักษาเองได้ ทำให้หลายคนไม่ค่อยสวมหน้ากากอนามัยแม้อยู่ในที่สาธารณะ  แต่ในความเป็นจริง ความรุนแรงของโควิด-19 ยังคงอยู่กับพวกเราทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคประจำตัว 7 กลุ่มเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งการลดอาการรุนแรงของโรคและลดความเสี่ยงเสียชีวิต คือ การฉีดวัคซีน ประกอบกับที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อร่างกาย  หรือการฉีดเข็มกระตุ้นอาจจะไม่จำเป็นเพราะสถานการณ์ของโรคคลี่คลายแล้ว หรือหากติดเชื้อก็เท่ากับฉีดวัคซีน กระจายไปในสื่อต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิด ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด  

ด้วยเหตุนี้ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเสวนา “สถานการณ์โควิด-19 และความจำเป็นในการป้องกันของประชากรกลุ่มเสี่ยง” เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของโรคและความจำเป็นในการดูแลป้องกันและฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง

รศ.นพ. ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เผยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และภาระโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่ม 608+1 หมายถึงผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคอ้วน รวมทั้งสตรีมีครรภ์ยังคงมีอัตราสูง โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 7 แสนราย ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 50,000 ราย และเสียชีวิตอีกกว่า 280 ราย  เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน มีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 490,000 ราย และเสียชีวิต 36 รายแล้ว ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าการของเชื้อโควิด-19 และจำนวนการนอนโรงพยาบาลสูงกว่า 7-10 เท่า ทำให้ ณ ขณะนี้ไทยเป็นประเทศที่มีสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สาเหตุที่อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ในไทยสูง รศ.นพ. ภิรุญ  กล่าวว่า มาจากการที่ประชากรส่วนใหญ่ห่างหายจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปนาน และมีจำนวนที่น้อยกว่าประเทศในระดับเดียวกัน อย่าง สิงคโปร์ ไต้หวัน เพราะการฉีดวัคซีนในแต่ละระยะ รวมถึงการเคยติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันแต่จะอยู่ได้เพียงไม่นาน ประกอบกับเชื้อมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ปัจจุบันที่สายพันธุ์หลักระบาดอยู่คือ สายพันธุ์ JN 1 และมีสายพันธุ์ KP 2 บ้างแต่ไม่มาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้การติดเชื้อง่ายขึ้น 3-5 เท่ามากกว่าเชื้อตัวเดิม แต่อาการอาจจะไม่รุนแรงเหมือนไข้หวัดทั่วไปในกลุ่มคนทั่วไป ยกเว้นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งการติดเชื้อในช่วงพีคของแต่ละปี แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ เดือนพ.ค.-ก.ย. และเดือน พ.ย.-ม.ค. โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาว โรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นในวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง เกิดโรครุนแรงภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด-19  เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ที่มีการฉีดเป็นประจำทุกปี ก็จะเป็นการป้องกันอีกทางหนึ่งเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค

รศ. นพ.ภิรุญ ย้ำว่า กลุ่มที่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากที่สุดคือกลุ่ม 608+1 รวมถึงผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน เพราะลูกหลานที่เดินทางมาหาอาจจะเป็นผู้นำเชื้อมาแพร่ได้ เพราะเมื่อป่วยเป็นโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักสูงขึ้นประมาณ 2-3 เท่า โอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นประมาณ 2 -10 เท่า เมื่อเทียบกับผู้มีอายุน้อยกว่าหรือผู้ที่ไม่ได้มิโรคร่วม นอกจากนี้ยังส่งผลต่อภาวะโรคที่คนไข้เป็นอยู่ เพราะโควิด-19 ไม่ใช่โรคของทางเดินหายใจเท่านั้น แต่เป็นโรคที่สามารถมีอาการแสดงได้ในหลายอวัยวะ เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่ไปได้ทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบอวัยวะต่าง ๆ เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจล้มเหลว ไตวาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

“ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ที่ให้บริการแก่ประชาชน คือ ไฟเซอร์(Pfizer) หากประชาชนที่ต้องการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาล เมื่อมีความต้องมากขึ้น รัฐจะได้มีการสำรองให้อย่างเพียงพอ เพราะปัจจุบันหลายโรงพยาบาลกังวลเรื่องการเก็บรักษาวัคซีนซึ่งมีอายุการใช้งาน หากไม่มีใครมาฉีดวัคซีนจำนวนไม่น้อยก็อาจจะต้องทิ้งทันที และได้มีการกระตุ้นทางกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการให้บริการวัคซีนฟรี เพราะปัจจุบันการรับวัคซีนฟรีมีเฉพาะกลุ่ม 608 ซึ่งสำหรับประชาชนกลุ่มทั่วไปอาจจะมีการกำหนดราคาที่เข้าถึงง่าย เป็นต้น อีกส่วนที่สำคัญคือ ในช่วงระยะเวลาทุกๆ 10 ปี  จะมีโรคระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดว่าจะมีเชื้อไวรัสที่ระบาดจากสัตว์มาสู่คนชนิดใด หรือ โคโรน่าไวรัสกลายเป็นสายพันธุ์ใดที่รุนแรงหรือไม่” รศ. นพ.ภิรุญ กล่าว

ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้แทนจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็นอยู่ ข้อมูลปัจจุบันประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้นจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60-70 ในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งถ้าพิจารณาจากความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าในคนกลุ่ม 608+1แล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการลดภาระโรคที่จะเกิดกับคนไข้กลุ่มนี้ ซึ่งในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป รวมถึงในแถบเอเชีย อาทิ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ยังคงแนะนำให้ประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง รับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต สำหรับประเทศไทย ได้มีการให้คำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด สำหรับกลุ่ม 608 โดยแนะนำเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะถ้าเคยฉีดวัคซีนเข็มก่อนหน้ามาเกิน 1 ปี หรือติดเชื้อครั้งสุดท้ายมานานกว่า 3-6 เดือน และไม่ขึ้นกับว่าเคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วจำนวนเท่าใด

“ในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา วัคซีนโควิดมีการฉีดไปแล้ว ทั่วโลกมากกว่า 13,000 ล้านเข็ม มากกว่าวัคซีนหลาย ๆ ตัวที่มีการใช้มาเป็นสิบๆ ปี มีการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนโควิดและโควิด-19 ออกมามากมาย ซึ่งข้อมูลยังคงสนับสนุนว่า วัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะที่ใช้ในปัจจุบัน คือ วัคซีนชนิด MRNA มีความปลอดภัยสูง อาการข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เช่นเดียวกับวัคซีนอื่น ๆ ที่ใช้กันมายาวนาน การที่เคยพูดกันถึงการใช้ชีวิตแบบ new normal อย่างเช่นเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอด หลีกเลี่ยงสถานที่พลุกพล่านแออัด ในความเป็นจริงแล้ว ทำได้ยากมาก การฉีดวัคซีนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันการป่วยหนักหรือเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง” ศ. พญ.ศศิโสภิณ กล่าว

ด้านพลตำรวจตรี นพ.เกษม รัตนสุมาวงศ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 มีอาการข้างเคียงที่สร้างความกังวลให้กับประชาชน คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลการฉีดในประเทศไทย มีรายงานว่าพบเกิดขึ้นได้ในประชากรเพียง 2 คนต่อ 1 ล้านคน ซึ่งจะเกิดเพิ่มขึ้นในวัยรุ่นชายอายุ 18-29 ปี โดยเฉพาะหลังเข็มที่ 2 แต่หลังเข็มกระตุ้นอื่นๆแทบจะไม่เจอรายงาน โดยถ้าเทียบกับอุบัติการณ์ที่เจอในคนทั่วไปที่ไม่ได้รับวัคซีนก็พบว่า ไม่ได้เจอเพิ่มขึ้นหลังเข็มกระตุ้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงจึงไม่มีความกังวล ทั้งนี้การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบก็พบได้ในช่วงที่ติดเชื้อโควิด-19 และอาจจะพบบ่อยกว่าการฉีดวัคซีน ดังนั้นประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีนมีมากกว่าเพราะช่วยลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' แนะผู้ปกครองเตรียมลูกหลาน รับมือ 6 โรคทางเดินหายใจ ก่อนเปิดเทอม

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "การเตรียมลูกไปโรงเรียน ก่อนเปิดเทอม"

'ฮาร์ท' รอดคดี 112 อัยการสั่งไม่ฟ้อง ขอบคุณ 'ธนาธร' มอบทนายช่วยต่อสู้ 4 ปี

นายสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล หรือ ฮาร์ท นักร้องชื่อดัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า 13 พ.ค. 2564 คณะทำงานตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ฟ้อง

'หมอยง' ไขข้อโต้แย้ง 'วัคซีนไข้หวัดใหญ่' กับ Hippocratic Oath

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ข้อโต้แย้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับ Hippocratic Oath

โลกตะลึง! ‘หมอธีวัฒน์’ เผยการเสียชีวิตจากวัคซีนโควิดที่มีการรายงานจากระบบของสหรัฐ อาจจะสูงถึง 706,480 ราย

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านการแพทย์บูรณาการและสาธารณสุข และ ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก  

'หมอยง' แจงการระบาด 'โควิด' ช่วงเทศกาลสงกรานต์

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19 การระบาดในช่วงสงกรานต์