อีกทางเลือก ‘พรรคปัดเศษ’ คงสถานะ ‘หัวหมา’ บนความขัดแย้ง

อีกทางเลือก ‘พรรคปัดเศษ’
คงสถานะ ‘หัวหมา’ บนความขัดแย้ง
แม้จะยังมีควันหลง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เพราะสามารถหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ได้ภายใน 60 วันตามกฎหมาย จากกรณียุบพรรคประชาชนปฏิรูปและย้ายมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

หลายคนเห็นว่า เป็นการทำลายระบบการเมืองไทย ย้อนกลับไปสู่สิ่งที่พรรคไทยรักไทยเคยทำ แต่นั่นเป็นเพียงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น เพราะถึงตรงนี้ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้

ขณะเดียวกัน สิ่งที่มีการคาดการณ์กันไว้ว่า หากนายไพบูลย์ไม่พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ย่อมก่อให้เกิดเป็นไพบูลย์โมเดลให้พรรคขนาดเล็ก โดยเฉพาะพรรคที่มี ส.ส.เพียงคนเดียว เลียนแบบและทำตาม

ซึ่งเป็นจริงเช่นนั้น สิ้นเสียงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่กี่ชั่วโมง พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ออกมาเปิดเผยว่า ได้มีมติเลิกพรรคประชาธรรมไทยไปตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคมแล้ว และเตรียมจะย้ายเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

กลายเป็นพรรคเล็ก พรรคที่ 3 ที่เลิกพรรค และย้ายมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ ต่อจากพรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ และพรรคประชานิยมของ พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ที่เปิดตัวไปตั้งแต่กลางปีที่แล้ว

มีการจับตากันอย่างมากว่า หลังจากนี้อาจจะมีพรรคเล็กเดินตามไพบูลย์โมเดลอีก โดยเฉพาะคนที่ต้องการต่อยอดทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า เนื่องจากกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เอื้ออย่างยิ่งต่อพรรคขนาดเล็ก

เหมือนที่นายพิเชษฐระบุเอาไว้ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกติกาเลือกตั้งที่ไปใช้บัตร 2 ใบ ทำให้พรรคเล็กไปต่อไม่ได้ และนโยบายพรรคไม่สามารถขับเคลื่อนได้ในหลายเรื่อง จึงต้องอาศัยพรรคใหญ่ขับเคลื่อน

ปัจจุบันพรรคเล็ก ที่มี ส.ส.เพียงคนเดียว ซึ่งยังไม่ได้มีการเลิกพรรค เหลือทั้งสิ้น 10 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคพลังธรรมใหม่, พรรคพลังชาติไทย, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคพลังไทยรักไทย, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคพลเมืองไทย, พรรคไทรักธรรม, พรรคไทยศรีวิไลย์ และพรรคพลังปวงชนชาวไทย

1 ใน 10 พรรคขนาดเล็กที่เหลือ มีเพียงพรรคพลังปวงชนชาวไทยของ นายนิคม บุญวิเศษ พรรคเดียวที่อยู่กับฝ่ายค้านมาตั้งแต่ต้น ขณะที่พรรคไทยศรีวิไลย์ของนาย มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เพิ่งแยกตัวออกจากรัฐบาลไปเมื่อไม่นาน

อย่างไรก็ดี ยังมีพรรคขนาดเล็กบางพรรคยืนยันที่จะไม่เดินตามไพบูลย์โมเดล อย่าง นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ และนายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม

สาเหตุที่บางพรรคเลือกที่จะไม่ยุบ ทั้งที่กฎหมายเปิดอ้า ส่วนหนึ่งเพราะยังมีความหวาดระแวงถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย ตลอดจนกติกา แม้จะมีการทูลเกล้าฯ ถวายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วก็ตาม

เหมือนที่ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เตือนเอาไว้ ตราบใดที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา อะไรย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เพราะการเมืองไทยยุคนี้มักมีอะไรที่เป็นปาฏิหาริย์ หรือมีสิ่งที่เหนือความคาดหมายเกิดขึ้นได้เสมอ

เพราะหากยึดตามกฎหมายที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยระบุไว้ หากมีการยุบสภาก่อนที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจะมีผลบังคับใช้ การเลือกตั้งในครั้งต่อไปจะยังใช้กติกาเดิมคือ บัตรเลือกตั้งใบเดียว

แม้โอกาสจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นค่อนข้างยาก แต่รัฐบาล 3 ป. มักทำในสิ่งที่คาดไม่ถึงมาเสมอตั้งแต่ยังเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

อีกสาเหตุหนึ่งคือ พรรคเล็กหลายพรรคยังพอใจในสถานะความเป็นพรรค 1 เสียง แม้ปัจจุบันเสียงของรัฐบาลกับฝ่ายค้านจะมีช่องว่างห่างกันหลายช่วงตัวจนอยู่ในระยะปลอดภัยแล้วก็ตาม แต่พรรคเล็กยังคงมีความสำคัญ

โดยเฉพาะความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล ตลอดจนภายในพรรคพลังประชารัฐที่ยังดำรงอยู่ ทำให้ทุกๆ เสียงมีความหมาย สามารถใช้เป็นกลเกมในสภาเพื่อต่อรองบางอย่างได้

เหมือนกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา พรรคเหล่านี้คือตัวแปรที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสร้างความแตกต่างของคะแนนรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกแต่ละคน

รวมไปถึงการพิจารณากฎหมายสำคัญของสภาหลังจากนี้ ซึ่งบางฉบับหากไม่ผ่านสามารถทำให้รัฐบาลกระเด็นตกจากคานอำนาจได้ ดังนั้นในภาวะที่ความขัดแย้งภายในของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐยังมีอยู่ จึงยิ่งทำให้พรรคเล็กเหล่านี้มีราคาค่างวด

ถึงขนาดมีการค่อนแคะกันว่า หลังความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กฎหมายทุกฉบับในสภาจะเจอสารพัดกลเกม และอาจมีสิ่งที่เรียกว่า ค่าบริการ

ประกอบกับย้ายไปตอนนี้ อาจจะดูมีค่า เพราะยังเป็น ส.ส. แต่ครั้งหน้าอาจหาที่ลงยาก ต้องแก่งแย่งชิงดีกับคนที่อยู่มาก่อนอีกจำนวนมาก

สู้เป็น ‘หัวหมา’ ตอนนี้ ดีกว่าไปเป็นหางราชสีห์ ที่ยังไม่มีอะไรแน่นอน.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ

กองทัพโดดเดี่ยวในวงล้อม การเมืองไล่บี้ ผ่านปฏิรูป-แก้กม.

มีความเห็นและปฏิกิริยาทางการเมืองตามมา หลังมีการออกมาเปิดเผยจาก “จำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกลาโหม (สุทิน คลังแสง) รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์” ที่เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภากลาโหมเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา รับทราบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ...