พรรคร่วมประคองรัฐบาล กมธ.กม.ลูกเร่งเสร็จเม.ย.

ดินเนอร์ราชพฤกษ์กระชับสัมพันธ์รัฐนาวาบิ๊กตู่เริ่มเห็นผล หัวหน้าพรรค ปชป.ย้ำพรรคร่วม รบ.มีหน้าที่ต้องประคองรัฐบาลให้เดินหน้าต่อไป ยันนายกฯ ไม่ส่งสัญญาณยุบสภา ปธ.กมธ.แก้กฎหมายลูกไม่หนุนสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบจัดสรรปันส่วนผสม ย้ำไม่น่านำกลับมาใช้ได้

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หนึ่งในแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่ไปร่วมงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่สโมสรราชพฤกษ์ โดยหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้เชิญไปรับประทานอาหารเย็น พร้อมทั้งพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ได้พูดคุยในคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว แต่รอบนี้เป็นอีกวงหนึ่งที่ไม่เป็นทางการ ถือเป็นเรื่องดีที่จะได้คุยกันในเชิงลึกมากขึ้น

เมื่อถามว่า ในวงพบปะได้หารือเรื่องการยุบสภาหรือการเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ไม่มีเรื่องยุบสภา แต่พูดคุยถึงการทำงานร่วมกันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าทุกพรรคทราบดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ตราบใดที่ยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เรารู้หน้าที่ดี เหมือนที่ย้ำเสมอว่า พรรคร่วมรัฐบาลในระบบรัฐสภาเรามีหน้าที่อะไร เราทำหน้าที่ของเรา ไม่ต้องห่วง ทำอย่างเต็มที่และสมบูรณ์แบบ มีหลักมีเกณฑ์ เพราะเราเป็นสถาบันทางการเมือง อย่างไรก็ตาม จะยุบสภาหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของอนาคต คงไม่มีใครตอบได้ล่วงหน้า นายกฯ ก็ไม่ได้พูดว่าเตรียมจะยุบสภาด้วย

 “เมื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็มีหน้าที่ต้องทำงานร่วมกันให้ดีที่สุด และต้องประคองรัฐบาลให้เดินหน้าต่อไป เพราะมันหมายถึงถ้ารัฐบาลในระบบรัฐสภามีเสถียรภาพ ประโยชน์สูงสุดจะเกิดกับประชาชน ก็จะทำให้การแก้ปัญหามีความเป็นเอกภาพและมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ผมคิดว่าอันนั้นเป็นภารกิจของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคที่จะต้องทำ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเล็กจะช่วยเทเสียงให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อโหวตคว่ำรัฐบาลว่า ฝ่ายค้านโหมโรงรายวัน เหมือนกลัวว่าฝ่ายค้านจะหายไปจากพื้นที่สื่อ ทั้งๆ ที่จนถึงขณะนี้ก็ยังระบุไม่ได้ด้วยซ้ำว่าจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อไหร่ และประเด็นอะไรบ้าง ที่ชัดเจนก็มีแค่จะยื่นให้เร็วที่สุด ดังนั้นพรรคร่วมฝ่ายค้านควรจะไปตกลงกันให้ชัดเจนก่อนจะดีกว่า ว่าจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ และจะยื่นในประเด็นไหนบ้าง อย่าทำเหมือนว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นแค่พิธีกรรมที่ต้องทำ แต่เนื้อหาข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรไม่สนใจ เพราะประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

 “เชื่อว่าข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านคงจะไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก โดยจะกล่าวหาว่ารัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด มีการทุจริตคอร์รัปชัน มีการแสวงหาผลประโยชน์ เหมือนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถระบุให้ชัดเจนได้ว่าสิ่งที่ฝ่ายค้านกล่าวหานั้นมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงอะไรมารองรับบ้าง นอกจากใช้โวหารเพียงอย่างเดียว ท้ายที่สุดฝ่ายค้านก็ถูกประชาชนไม่ไว้วางใจในการทำหน้าที่เสียเอง” นายธนกรกล่าว

ส่วนกรณีที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมรับประทานอาหารเย็นกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เป็นเพียงการเช็กเสียงสนับสนุนรัฐบาลนั้น นายธนกรกล่าวว่า ไม่อยากให้คิดว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์จะทำในสิ่งเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยชอบทำ ส.ส.คนไหนสนับสนุนแกนนำมุ้งคนไหนบ้าง ยืนยันว่าการรับประทานอาหารครั้งนี้เป็นการทานข้าวกันบ้างตามปกติ เป็นการหารือการทำงานที่เป็นบรรยากาศนอกสถานที่บ้าง เพราะหัวหน้าพรรคร่วม เลขาธิการพรรคก็เป็นรัฐมนตรี ที่สำคัญเสียงสนับสนุนมั่นคงอยู่แล้ว เพราะทำงานกันมาหลายปีแล้ว ไม่จำเป็นต้องเช็กเสียง

ด้านความคืบหน้าการพิจารณาแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ คือ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่รัฐสภา พบว่ามีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองครั้งแรกอย่างเป็นทางการ หลังมีการเลือกตำแหน่งๆ ในกรรมาธิการไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกมธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้ ไม่พบนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ที่พลาดหวังไม่ได้รับเลือกให้เป็นประธาน กมธ.ไปร่วมประชุมด้วยแต่อย่างใด

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมถึงกรณีที่ กมธ.เสียงแตกเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มี กมธ.จะเสนอสูตรจัดสรรปันส่วนผสมยึด ส.ส.พึงมี หรือ MMP ว่าไม่น่าจะได้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนคลุมไว้เป็นแม่น้ำสองสาย จะมาเป็นสายเดียวก็ยากหน่อย ส่วนที่มีกรรมาธิการเสียงแตกว่าสามารถใช้ระบบ MMP ได้ไม่เป็นไร ถือเป็นแนวคิด แต่ต้องดูว่าเป็นข้อเสนอที่ออกนอกกรอบหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าสูตรคำนวณ ส.ส.จะเป็นแบบใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 83, 86 และมาตรา 91 นายสาธิตกล่าวว่า ก็ใช่ ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า ส่วนตัวเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งควรใช้สูตรใด นายสาธิตกล่าวว่า ขอฟังก่อน และต้องเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นแม่น้ำสองสาย ที่แยกบัญชีรายชื่อ ส.ส. 100 คน และ ส.ส.เขต 400 คน ถ้ากลับไปใช้แบบสัดส่วนจัดสรรปันส่วนผสม จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากรากฐานรัฐธรรมนูญ 3 มาตราดังกล่าวมาจากรากฐานของปี 2554 ที่มีการคิดและทำไปแล้ว

นอกจากนี้ ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ทั้ง 2 ฉบับ ยังกล่าวถึงกรณีความเห็นไม่ตรงกันในการกำหนดเบอร์ระหว่าง ส.ส.แบบแบ่งเขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยกล่าวว่า ในกฎหมายอาจจะมีประเด็นที่ถกเถียงกันมาก และเห็นต่างกัน แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ส่วนในกฎหมายเลือกตั้งความเห็นต่างในแง่ของบัตรสองใบเบอร์เดียวกันใน ส.ส.เขตหรือบัญชีรายชื่อหรือไม่ เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยกัน และในบางร่างมีการเขียนไปในรายละเอียดว่าต้องสมัครเขตก่อน จึงอาจเป็นไปได้ว่าในเขตนั้นสมัครก่อนเพื่อให้รู้เบอร์เขตและให้บัญชีรายชื่อเหมือนกับเขตนั้น ซึ่งก็จะหมายความว่าทั้งบัตรทั้งเบอร์ในระบบบัญชีรายชื่อและเขตจะไม่เหมือนกันทุกเขต แล้วจะไปพิมพ์บัตรเลือกตั้งแบบไหน เพราะต้องไปสมัครก่อน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในรายละเอียดของกฎหมาย ยังตอบไม่ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าไปสู่การพิจารณาของ กมธ.

เมื่อถามว่า จะสามารถประคองการประชุมและการจัดทำกฎหมายลูกให้เป็นไปได้ด้วยดี นายสาธิตตอบว่า ไม่ต้องประคอง เพราะประธานทำหน้าที่เพียงแค่ควบคุมการประชุม และคิดว่าแต่ละฝ่ายมีวุฒิภาวะ ส่วนการตกลงกันในแต่ละเนื้อหาแต่ละประเด็นที่เป็นเหตุผล เข้าใจว่าทุกฝ่ายอยากให้กฎหมายนี้เสร็จโดยเร็วและเข้าใจกลไกของ กมธ.ดี จึงไม่กังวลอะไร เพราะเวทีนี้มีข้อยุติ และมีการลงมติในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ หากใครจะสงวนความเห็นก็เป็นสิทธิ แต่กลไกนี้ก็สามารถเดินหน้าได้อยู่แล้ว

ต่อมา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร และน.ส.ปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม โฆษกคณะกรรมาธิการฯ แถลงภายหลังการประชุมโดย น.ส.ปิยฉัฏฐ์กล่าวว่า คาดว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับให้แล้วเสร็จช่วงเดือน เม.ย. ส่วนนายสมชัยกล่าวว่า การพิจารณาอาศัยร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก ขณะนี้กำลังรอคำแปรญัตติจาก ส.ส.และ ส.ว. ที่ยังมีกรอบเวลายื่นคำแปรญัตติในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ถึงวันที่ 11 มี.ค. ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ยื่นได้ถึงวันที่ 12 มี.ค. หลังการยื่นคำแปรญัตติเข้ามาจะถูกนำมาใช้ในการพิจารณาพร้อมกัน ในวันนี้ กมธ.คุยเรื่องคำนิยาม โดยเพิ่มคำนิยามเรื่องเขตเรื่องตั้ง 2 ประเภทคือ เขตเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อีกส่วนที่มีการแก้ไขคือมาตรา 3 เพื่อให้สอดคล้องคำนิยาม กรณีเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ประชาชนเลือกเพียงพรรคเดียว โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ส่วนประเด็นอื่นยังไม่มีการพูดถึง

ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมืองต่อการเตรียมการเลือกตั้งก็มีให้เห็นต่อเนื่อง โดยในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ พบว่าวันเดียวกันนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกประชุมแกนนำและทีมเศรษฐกิจของพรรคชุดเล็ก ประกอบด้วย นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาเศรษฐกิจของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.การคลัง, นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ, นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย, นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคด้านเศรษฐกิจ, นายเกียรติ สิทธีอมร, ดร.สรรเสริญ สมะลาภา, ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ และมีคนรุ่นใหม่อย่าง ดร.ดนุวัศ สาคริก เข้าร่วมด้วย

โดยนายจุรินทร์เปิดเผยไว้ว่า จะมีการหารือถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับจะได้ช่วยกันพิจารณาสถานการณ์ของไทยในปัจจุบัน เพื่อร่วมกันหาทางออกด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศ รวมไปถึงการเตรียมนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์สำหรับนำเสนอต่อประชาชนหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งจะได้หารือถึงประเด็นสำคัญๆ หลายประเด็น รวมถึงเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย และการประชุมลักษณะนี้จะมีขึ้นอีกหลายครั้งอย่างต่อเนื่องต่อไป

มีรายงานจากพรรคเพื่อไทยถึงกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจสุขภาพประจำปีที่ประเทศสิงคโปร์ว่า นายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางมาถึงประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีแกนนำและ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเดินทางจากประเทศไทยมาพบไม่มากเหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากติดมาตรการการเดินทางในช่วงโควิด ที่ต้องใช้เอกสารและเวลาเตรียมการค่อนข้างนาน ในส่วนของกลุ่ม ส.ส.มี 6-7 คนในพื้นที่อีสาน นำโดยนายเกรียง กัลป์ตินันท์ แกนนำภาคอีสาน, นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี และประธาน ส.ส.ภาคอีสาน เป็นต้น ที่เดินทางไปพบและร่วมรับประทานอาหารกับนายทักษิณเท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง