คนโดนคดีห้ามตั้งพรรค

กมธ.กม.ลูกตอกฝาโลงพวกโดนคดีห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง ถกปมเห็นต่าง “ไพรมารีโหวต-สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์” หลังสงกรานต์ “ฝ่ายค้าน” ยังไม่เคาะวันยื่นญัตติซักฟอก อ้างวาระสภา แน่น

เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2565 ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) ฉบับที่... พ.ศ... กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ.มีมติเพิ่มเวลาการประชุมตั้งแต่เวลา 09.30-16.30 น. จากเดิมที่มีประชุมตั้งแต่เวลา 09.30-13.00 น. โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไป ตั้งเป้าว่าเราจะต้องพิจารณาให้เสร็จทันกรอบเวลาคือ ก่อนช่วงเปิดสมัยการประชุมสภาฯ สมัยสามัญ ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ดังนั้นจะพยายามเร่งให้เสร็จโดยเร็ว อีกทั้งประเด็นสำคัญก็ผ่านไปแล้ว 1 ประเด็นสำหรับกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งเหลืออีกประมาณ 1-2 ประเด็นสำคัญก็จะต้องดำเนินการหาข้อยุติโดยเร็วที่สุด

เมื่อถามถึงกรณีที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เตรียมไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาคว่ำการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบนั้นเป็นโมฆะ นายสาธิตกล่าวว่า เชื่อว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญฯ ตนเข้าใจและเห็นใจพรรคเล็กที่เกิดขึ้นมาภายใต้สถานการณ์หนึ่ง แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป นพ.ระวีและพรรคเล็กคงอยากรักษาสถานภาพของตนเองในฐานะที่ต่อสู้และก่อตั้งพรรคเล็กขึ้นมา แต่เมื่อสถานการณ์มาถึงตอนนี้ เราให้ความสำคัญว่าต้องทำให้สถาบันพรรคการเมืองมีความเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง รวมถึงคะแนนที่จะนำมาคำนวณต้องเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เกี่ยวกับกฎหมายลูกที่เรากำลังพิจารณา

เมื่อถามว่า ประเด็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองในเรื่องการจัดทำไพรมารีโหวตยังมีข้อถกเถียงกันมาก อาจทำให้ยืดระยะเวลาการพิจารณาออกไปหรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า เป็นประเด็นสำคัญ เพราะการทำไพรมารีโหวตในหลักรัฐธรรมนูญคือการใช้คำว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในแง่การปฏิบัติที่ลงมือทำจริงของแต่ละพรรคการเมืองก็เห็นตรงกันว่ามีปัญหา และที่สำคัญการมีส่วนร่วมของประชาชนมีหลายมิติ การพิจารณาต้องมีการถกเถียงกันให้ตกผลึก ถ้าเขียนไว้เข้มจนเกินไปและพรรคการเมืองไปทำไม่ได้ ก็จะเป็นช่องว่างทำให้พรรคการเมืองมีความหมิ่นเหม่ว่าทำไม่ครบเงื่อนไข และเกิดข้อบกพร่องในการทำผิดกฎหมาย เมื่อเราเขียนกฎหมายแล้วต้องให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และทุกฝ่ายปฏิบัติได้จริงไม่เกิดเงื่อนไข

นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ. .... แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ร่วมดำเนินการก่อตั้งพรรคการเมือง และค่าบำรุงพรรคการเมือง โดยในประเด็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ร่วมดำเนินการก่อตั้งพรรคการเมือง ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับร่างของนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ และรองประธานกมธ. ที่เสนอให้ยกเลิกลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 เพื่อเป็นการเปิดกว้างให้บุคคลต่างๆ ร่วมเป็นผู้จัดตั้งพรรคการเมืองได้ อาทิ อดีต ส.ว. ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และกลุ่มอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมลงมติไม่เห็นด้วย 24 เสียง เห็นด้วย 19 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง จากองค์ประชุมทั้งหมด 45 เสียง และให้กลับไปใช้ข้อความตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน ที่ห้ามบุคคลเหล่านี้เป็นผู้จัดตั้งพรรค

ด้านนายอัครเดชกล่าวว่า สำหรับประเด็นค่าบำรุงพรรคการเมืองแบบรายปีและแบบตลอดชีพ และควรกำหนดจำนวนค่าบำรุงพรรคการเมืองแบบรายปีและแบบตลอดชีพไว้ในข้อบังคับพรรคการเมืองหรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติให้คงความในมาตรา 3 และมาตรา 4 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองไว้ตามเดิมคือ รายปี 20 บาท ตลอดชีพ 200 บาท ด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย 29 เสียง เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง จากองค์ประชุมทั้งหมด 41 เสียง สำหรับประเด็นที่ยังต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นคือ การจัดทำไพรมารีโหวตในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าจะใช้ 100 หรือ 500 หาร ซึ่ง กมธ.จะกลับมาประชุมอีกครั้งในวันที่ 20 เม.ย. เนื่องจากสัปดาห์หน้าเป็นหยุดสงกรานต์ จึงไม่มีการประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการแสดงความเห็นประเด็นผู้ที่สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งมองว่าไม่ควรตัดสิทธิ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในการร่วมจัดตั้งพรรค ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าหากเปิดช่องจะทำให้เกิดคำถามต่อสังคมและสร้างปัญหาตามมา เพราะกลุ่มบุคคลที่รัฐธรรมนูญกำหนดห้ามต้องคดีร้ายแรง อาทิ คดีฉ้อโกง ทุจริตคอร์รัปชัน ร่ำรวยผิดปกติ

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้ทำจดหมายถึงนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ประธาน กมธ.กิจการสภา เรื่องพฤติกรรมของคนนอกที่ กมธ.นำมาเป็นที่ปรึกษา มีการร้องเรียนมาเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ จึงขอให้นายอนันต์แจ้ง กมธ.ทุกคณะให้ระมัดระวังกรณีตั้งที่ปรึกษาหรือคนนอกมาทำงานด้วย และมีพฤติกรรมที่ไม่สุจริต ทำให้ภาพของ กมธ.นั้นเสียหาย ซึ่งตนยังไม่กล้าเอ่ยชื่อ แต่มีคนรายงานมา เป็นการเรียกร้องรับผลประโยชน์โดยทั่วไป 

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า เรามีการประชุมร่วมกันตลอด โดยจะมีการยื่นให้เร็วที่สุด แต่ต้องดูบริบทโดยรวมว่าการยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นประโยชน์กับประชาชน  ประเทศชาติและสภาหรือไม่ เช่น การยื่นในช่วงที่มีการพิจารณากฎหมายสำคัญ เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่กำลังพิจารณาอยู่จะได้เข้าพิจารณาในช่วงใด  หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ชัดเจนแล้วว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาวาระรับหลักการวันที่ 1-2 มิ.ย.นี้ และทำให้กฎหมายพิจารณาล่าช้าไป หรือขัดขวาง เราก็จะนำเหตุผลเหล่านั้นมาพิจารณากำหนดเวลาในการยื่น

“ถือเป็นจังหวะคาบเกี่ยวพอสมควร  เดิมเราตั้งใจจะยื่นก่อนการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณฯ พอกำหนดไทม์ไลน์พ.ร.บ.งบฯ มาอย่างนี้ ก็ทำให้จังหวะการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทำได้ไม่ต่อเนื่องอย่างแน่นอน เว้นแต่งบประมาณผ่านไปแล้วและนำกลับมาพิจารณาในวาระ 2-3 ช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ เราคิดว่าช่วงกลางๆ นี้น่าจะเหมาะสม” นพ.ชลน่าน กล่าว เมื่อถามว่าจะยื่นในช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรายังไม่กำหนดถึงขั้นนั้น แต่เราเตรียมพร้อมตลอด นัดประชุมเกี่ยวกับเนื้อหาสาระอย่างต่อเนื่อง

เมื่อถามถึงการประเมินสถานการณ์ของรัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า เป็นเจตจำนงของรัฐบาลที่จะอยู่ให้ครบ 4 ปี หรือดึงเวลาให้อยู่ครบเทอมมากที่สุด แต่เท่าที่ดู มั่นใจว่า รัฐบาลไม่น่าจะอยู่ครบเทอม ด้วยปัจจัย 1.ผลงานความต้องการของประชาชนในการแก้ปัญหา 2.รัฐบาลจะยุบสภาก่อนและไปเลือกตั้งช่วงใกล้ครบเทอม อย่างที่เขาแพลนออกมาว่าหลังการประชุมเอเปก เพราะต้องการผลงานในช่วงการประชุมเอเปก รวมถึงถ้าปล่อยให้ครบเทอม จะมีการย้ายพรรคของ ส.ส. ดังนั้นการยุบสภาหลังเอเปกจะเหมาะสม เพราะกฎหมายกำหนดให้มีการเลือกตั้งไม่เกิน 60 วัน จึงเป็นจุดสำคัญ

“แต่กฎหมายพรรคการเมืองระบุว่า กรณีที่มีการยุบสภาให้สังกัดพรรคภายใน 30 วัน ฉะนั้นมีเวลา 30 วันที่จะโยกย้ายเปลี่ยนพรรคการเมืองกันแบบสะดวกกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอยู่ครบเทอมต้องสังกัดพรรคใน 90 วัน และต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่คิดว่ารัฐบาลมีโอกาส และประโยชน์สูงสุดเขาก็จะเลือกทำแบบนี้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจยุบสภาได้ เช่น ครบวาระ 8 ปีนายกรัฐมนตรีในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ก็อาจเป็นประเด็นที่จะนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่แน่นอนว่าเราจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนวันที่ 23 ส.ค.นี้อย่างแน่นอน แต่จะยื่นช่วงไหนต้องดูอีกที" ผู้นำฝ่ายค้านฯ ระบุ

 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการปรับกิจกรรมรดน้ำดำหัวเทศกาลสงกรานต์ที่ทำเนียบรัฐบาลโดยลดจำนวนคนทั้ง ส.ส., ส.ว. และพรรคการเมืองว่า ก่อนหน้านี้ได้หารือกันในคณะรัฐมนตรี (ครม.) และพรรคร่วมรัฐบาล โดยถือโอกาสมาเจอกันสักที แต่ตนดูแล้วสถานการณ์ตอนนี้ไม่ควร จึงได้บอกยกเลิกไปแล้ว ทั้งเรื่องโควิด-19 ด้วย ความเหมาะสมด้วย โดยให้เป็นเรื่องของแต่ละฝ่ายแต่ละหน่วยงานไปจัดกันเองภายใต้มาตรการโควิดฟรีเซตติง และวันนี้เราใช้เรื่องการทำบุญรดน้ำเฉพาะภายในของรัฐบาล แต่ถ้าส่วนตัวใครอยากจะมาก็มาได้ แต่ต้องผ่านการคัดกรองตามมาตรฐานว่าตัวเองต้องปลอดภัย หากมาเป็นคณะใหญ่ๆ หรือมาเป็นพรรค ตนคิดว่าไม่เหมาะสม ซึ่งตนได้คุยกับหัวหน้าทุกพรรคไปแล้ว และได้เรียนนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และเรียนประธานวุฒิสภาไปแล้ว

“เดิมเขามุ่งหวังเพียงจะให้เห็นภาพเราสามัคคีกันในบรรดา 3 อำนาจที่ทำงาน ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ มาเจอรดน้ำอวยชัยให้พรซึ่งกันและกัน แต่ปรากฏว่าสถานการณ์มันไม่เหมาะ ดังนั้นอย่าทำเลยดีกว่า นายกฯ ได้ติดตามดูและตัดสินใจทุกครั้ง อะไรมันดี หรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม”นายกฯ กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง