เล็งแยกเหตุตายจากไวรัส-โรคร่วม

ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 1.4  หมื่นราย รวมเอทีเค 2.5 หมื่นราย ดับยังสูง 127 ราย ศบค.เผยแนวโน้มป่วยทรงตัว ค่อยๆ ลดลง เล็งแยกสาเหตุการเสียชีวิต 2 กลุ่ม ตายเพราะโควิด-โรคร่วม ยัน ไม่เลิกไทยแลนด์พาส แค่ลดขั้นตอน   นายกฯ ย้ำผู้สูงอายุฉีดวัคซีนป้องกัน ลดความรุนแรง ลดเสียชีวิต

เมื่อวันพฤหัสบดี พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค  ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,437 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 14,336 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 14,229 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 107 ราย มาจากเรือนจำ 24 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 77 ราย เป็นผู้มีผลบวกจากการตรวจหาเชื้อแบบเอทีเค 11,396 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้รวม 25,833 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 18,509 ราย อยู่ระหว่างรักษา 158,768 ราย อาการหนัก 1,827 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 850 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 127 ราย เป็นชาย 69 ราย หญิง 58 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 101 ราย มีโรคเรื้อรัง 20 ราย

ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,224,008 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,036,969 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 28,271 ราย 

พญ.สุมนีกล่าวว่า ทิศทางการติดเชื้อในประเทศไทยขณะนี้ถือว่าค่อยๆ ลดลง แนวโน้มยังทรงๆ ลดลงอย่างช้าๆ เป็นเพราะความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันตนเอง แม้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เราคาดการณ์ว่าผู้ติดเชื้อจะสูง แต่เพราะความร่วมมือทำให้การติดเชื้อน้อยลง หากสถานการณ์ดีขึ้นเช่นนี้เรื่อยๆ จะผ่อนคลายกิจการกิจกรรมต่างๆ ให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตามแผนที่วางไว้ ขณะที่แนวโน้มผู้เสียชีวิตยังทรงๆ ตัว มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 รายมา 19 วันแล้ว

"ในที่ประชุมอีโอซี กระทรวงสาธารณสุขได้มีการหารือถึงรายละเอียดของผู้เสียชีวิต จากนี้จะต้องวิเคราะห์การเสียชีวิตเป็น 2 ส่วนคือ เสียชีวิตจากโควิด และเสียชีวิตจากโรคร่วมและตรวจพบเชื้อในภายหลัง โดยผู้เสียชีวิตวันนี้จาก 127 ราย เป็นผู้เสียชีวิตจากโควิด 66 ราย หรือ 52% และเสียชีวิตจากโรคร่วม 61 ราย หรือ 48% แต่ทั้งสองกลุ่มส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตจะเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว จึงควรแยกแยะให้ชัดเจน"

เมื่อถามว่า มีเสียงสะท้อนเรื่องไทยแลนด์พาส และมีกระแสข่าวยกเลิกไทยแลนด์พาส พญ.สุมนีกล่าวว่า ไทยแลนด์พาสเป็นระบบที่เมื่อนักเดินทางและนักท่องเที่ยวเข้ามาจะต้องลงทะเบียนผ่านระบบนี้ แต่จากมาตรการที่เราผ่อนคลาย  มีการยกเลิกเทสต์แอนด์โก ทำให้ไม่มีขั้นตอนการจองโรงแรมและจองตรวจ RT-PCR ทำให้ระบบดำเนินการได้เร็วขึ้น  อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ไวขึ้น แต่การลงทะเบียนยังคงมีอยู่ และไม่น่าจะมีปัญหาหรือติดขัดอะไร โดยหลังจากวันที่ 1 พ.ค.ที่เริ่มมาตรการ ศบค.ต้องติดตามหน้างานเป็นระยะ ถ้าดีขึ้นเราจะได้ดำเนินการตามแผนผ่อนคลายต่อไป

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รับทราบรายงานตามที่กรมอนามัยรายงานผลการสำรวจอนามัยโพลเรื่อง “พฤติกรรมการป้องกันโรคและความกังวลต่อการฉีดวัคซีนของกลุ่มผู้สูงอายุ” ระหว่างวันที่ 1-21 เม.ย.2565 พบว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนและฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นครบแล้ว ร้อยละ 88.20 และผู้สูงอายุที่ยังไม่แน่ใจที่จะฉีดวัคซีนหรือคิดว่าจะไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น   ร้อยละ 11.80

ทั้งนี้ นายกฯ ได้มอบนโยบายให้ สธ. รณรงค์ให้บุตรหลานพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนให้ครบโดส เพื่อลดอาการเจ็บป่วย  ลดการป้องกันอาการรุนแรง แม้การฉีดวัคซีนอาจเกิดผลข้างเคียงได้ แต่การฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงอย่างมาก พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ผู้สูงอายุปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.อย่างต่อเนื่องและเข้มข้นสูงสุด เพื่อป้องกันโควิดยึดหลัก DMHTT คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ และตรวจเชื้อโควิดและส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงสม่ำเสมอ โดยกินอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ อนามัย หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์