ป่วยโควิดลด1.8พันราย ชงเลิกเครื่องวัดอุณหภูมิ

ยอดติดเชื้อโควิดลดต่ำกว่า 2 พันราย เหลือ  1.8 พันราย กทม.ยังสูง 1.3 พัน ตาย 15 ราย นายกฯ  ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย-ปชช.ร่วมกันทำให้สถานการณ์โควิดดีขึ้นต่อเนื่อง "อนุทิน" โชว์ฉีดวัคซีนเข็ม 6 ย้ำจำเป็นในการป้องกันป่วยหนัก-เสียชีวิต "กก. MIU สธ." เล็งชง ศบค.ยกเลิกเครื่องวัดอุณหภูมิตามสถานที่ต่างๆ รวมทั้งสนามบิน หลังโควิดลด คนติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,801 ราย ติดเชื้อสะสม 4,486,664 ราย หายป่วย  2,330 ราย สะสม 4,434,529 ราย เสียชีวิต 15  ราย สะสม 30,349 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 21,786  ราย อยู่ รพ.สนาม HI และ CI 9,751 ราย และอยู่ใน  รพ. 12,035 ราย จำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 661  ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 329 ราย อัตราครองเตียงระดับ  2-3 หรือสีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 10% มีรายงานผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 1 ราย และติดเชื้อเดินทางจากต่างประเทศ 6 ราย  

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.65  จำนวน 36,636 โดส สะสม 138,697,935 โดส เป็นเข็มแรก 56,858,251 ราย คิดเป็น 81.7%  เข็มสอง 52,920,931 ราย คิดเป็น 76.1% และเข็ม  3 ขึ้นไป 28,918,753 ราย คิดเป็น 41.6%  ภาพรวมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็ม 3 แล้ว 45.5%  ส่วนเด็กอายุ 5-11 ขวบ ฉีดเข็มแรกแล้ว 3.09 ล้านคน  คิดเป็น 60.1% และเข็มสอง 1.88 ล้านคน คิดเป็น  36.6%

 ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยรายใหม่สูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 1,342 ราย 2.สมุทรปราการ 73 ราย 3.ร้อยเอ็ด  37 ราย 4.กาฬสินธุ์ 32 ราย 5.อุทัยธานี 29 ราย 6.อำนาจเจริญ 24 ราย 7.เพชรบุรี 20 ราย 8.ชลบุรี 19  ราย 9.อุบลราชธานี 18 ราย และ 10.ขอนแก่น 17 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายรวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะประชาชนทุกคนที่ได้ร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อมีทิศทางขาลงมาโดยตลอด และวันนี้ต่ำกว่า 2,000 ราย อยู่ที่ 1,801 ราย  ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดีขึ้นต่อเนื่องแบบนี้เราจะเข้าสู่สภาพปกติภายในไม่ช้า อย่างไรก็ตามขอให้ทุกคนยังคงสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และคอยฟังข่าวสารจากทางสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยินดีที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (US  CDC) เผยมีแผนจะจัดตั้ง Research Hub ในประเทศไทย เพื่อรองรับการขยายผลใช้ประโยชน์งานวิจัย  ยกระดับการป้องกันโรคทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค ซึ่งเป็นผลความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค และ US  CDC ที่ยาวนานกว่า 4 ทศวรรษ และผลงานอันโดดเด่นของไทยในการเฝ้าระวังโรค ทำให้ US CDC เล็งตั้งศูนย์กลางการวิจัยในประเทศไทย เพื่อพัฒนาความร่วมมือภายในภูมิภาค และนำผลการวิจัยไปต่อยอดตามประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่เพจ Like Anutin โพสต์รูปภาพนายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ขณะเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 6 พร้อมระบุว่า “เข็ม 6 แล้ว ท่านรองฯ กับการรับวัคซีนโควิด-19 ล่าสุดวันนี้ คือเข็มที่ 6  เป็นไฟเซอร์ หลังจากรับ ซิโนแวค 2 เข็ม แอสตร้าฯ 2 เข็ม  และไฟเซอร์ 1 เข็ม ที่ต้องฉีดเรื่อยๆ เพราะท่านรองฯ ลงพื้นที่บ่อยมาก มีความเสี่ยงสูงที่จะโดนเจ้าเชื้อโควิด-19  ฟันฉับ จำเป็นต้องสวมชุดเกราะหนาหน่อย ที่สำคัญ ตัวท่าน ก็คือเครื่องพิสูจน์ถึงเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน และความจำเป็นในการฉีดวัคซีน เพราะช่วยป้องกันอาการป่วยหนัก-เสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉีดเข็มที่ 6 จบแบบชิลชิล ทำงานต่อได้เลย“

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และประธานคณะกรรมการประมวลสถานการณ์โรคโควิด- 19 กระทรวงสาธารณสุข (MIU) เปิดเผยว่า หนึ่งในมาตรการคัดกรองโรคโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา คือการวัดอุณหภูมิก่อนเข้าประเทศและตามสถานที่ต่างๆ เนื่องจากช่วงที่โรคโควิด-19 ยังมีความรุนแรง ผู้ป่วยมักมีไข้เป็นอาการนำ และเป็นการสร้างความตระหนัก อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากปัจจุบันทั้งสถานการณ์และเชื้อโควิด-19 มีความรุนแรงลดลงมาก อีกทั้งประชาชนได้รับวัคซีนเป็นจำนวนมาก ผู้ติดเชื้อมากกว่าครึ่งไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประโยชน์และประสิทธิผลของเครื่องวัดอุณหภูมิ คณะกรรมการ MIU จึงดำเนินการทบทวนมาตรการคัดกรองอุณหภูมิ หลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

"จากการศึกษาพบว่า เครื่องวัดอุณหภูมิมีประสิทธิผลในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ต่ำ โดยมีค่าความไวต่ำตั้งแต่ 0-39% ทำให้ค่าพยากรณ์ผลทั้งบวกและลบต่ำมาก ให้ผลบวกและลบปลอม ทั้งการใช้ที่สนามบินหรือสถานที่ต่างๆ ยังไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนถึงประโยชน์ในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด ดังนั้นจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายและมาตรการว่า ในปัจจุบันและหลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิดไป อาจไม่จำเป็นต้องให้สนามบิน ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ และสถานประกอบการต่างๆ คัดกรองผู้ติดเชื้อด้วยการวัดอุณหภูมิ ซึ่งในต่างประเทศก็มีคำแนะนำคล้ายกัน เช่น อังกฤษออกคำแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องวัดอุณหภูมิเพื่อคัดกรองผู้ป่วยโควิด, สิงคโปร์ยกเลิกการคัดกรองอุณหภูมิในที่สาธารณะตั้งแต่สิงหาคม 2564, สหรัฐอเมริกาและแคนาดาปัจจุบันไม่มีคำแนะนำเรื่องการวัดอุณหภูมิสำหรับการคัดกรองแล้ว"

นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า สำหรับเครื่องวัดอุณหภูมิแบบสแกนร่างกายในสนามบินนั้น ไม่มีหลักฐานด้านประสิทธิผลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นกัน  และยังต้องพัฒนานวัตกรรมที่มีประสิทธิผลในการคัดกรองโรคติดเชื้อที่ดีกว่านี้ในอนาคตสำหรับกลุ่มนักเดินทาง นอกจากนี้พบว่า มาตรการคัดกรองอุณหภูมิที่สนามบินอาจทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยมากเกินไป จนส่งผลให้ละเลยมาตรการอื่นๆ (False Security) และทำให้เกิดความไม่สะดวก ข้อเสนอดังกล่าวจะนำเสนอ ศบค.เพื่อพิจารณาต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง