ตราสัญลักษณ์ศูนย์รวมดวงใจไทยทั้งชาติ

รัฐบาลเตรียมจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ    เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ยิ่งใหญ่ตลอดปี 2565 มีมากกว่า 1,000 โครงการ/กิจกรรม  นายช่างสิบหมู่ผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์เปิดใจ เผยเป็นมงคลชีวิตสูงสุด ใช้รูปหัวใจแทนความหมายทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจไทยทั้งชาติ

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี   เปิดเผยว่า คณะกรรมการฝ่ายพิธีการการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการฯ ได้ประชุมเตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา และได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ แล้ว

นายธีรภัทรกล่าวต่อว่า ชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ว่า “การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565” และชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นภาษาอังกฤษว่า “Celebrations on the Auspicious Occasion of Her Majesty Queen Sirikit The Queen Mother’s 90th Birthday Anniversary 12th August 2022” โดยกำหนดขอบเขตจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.2565 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565

ทั้งนี้ มีตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ซึ่งกรมศิลปากรออกแบบ พร้อมความหมาย โดยผู้ประสงค์ขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ฯ สามารถยื่นคำขอระหว่างวันที่ 1 พ.ค.2565 ถึงวันที่ 31 ต.ค. ไปยังคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2283-4789-91 หรือดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.opm.go.th

นายธีรภัทรกล่าวอีกว่า การจัดทำโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ ขณะนี้มีหน่วยงานเสนอโครงการและกิจกรรมเข้าร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ แล้วกว่า 1,000 โครงการ/กิจกรรม โดยมีโครงการและกิจกรรมสำคัญ อาทิ 1.รัฐบาลจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ “ด้วยรักแห่งแผ่นดิน : With Love  for the Nation” กำหนดระหว่างวันที่ 1-15 ส.ค.2565 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลางตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 2.โครงการมหกรรมผ้าไหมไทย ไหมไทยสู่เส้นทางโลก เฉลิมพระเกียรติฯ กำหนดในวันที่ 28 พ.ค.2565 ณ หอประชุมกองทัพเรือ และ 3.โครงการหนังสือสมาร์ท-สมุดรายนามผู้ผลิตผ้าไหมและผู้ประกอบการทั่วประเทศแบบดิจิทัลเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการจัดทำสารคดีโทรทัศน์เฉลิมพระเกียรติฯ ในนามคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อเผยแพร่ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา, การจัดพิธีทางศาสนา และการจัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. และเวลา 19.19 น. ตามลำดับ

“ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความจงรักภักดี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดปี 2565 โดยร่วมจัดทำโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ และถวายพระราชกุศลให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติในโอกาสดังกล่าว” นายธีรภัทรระบุ

ด้านนายเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า นับเป็นมงคลแก่ชีวิตและวงศ์ตระกูล ที่ได้มีโอกาสปฏิบัติงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในการออกแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ซึ่งทุกรายละเอียดมีความหมาย อักษรพระนามาภิไธย ส.ก. อยู่ภายในกรอบรูปหัวใจพื้นสีฟ้า อักษร “ส” สีฟ้าเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ อักษร “ก” สีขาว เป็นสีเดชของวันพระราชสมภพ พื้นกรอบสีชมพูลายดอกมะลิ สีชมพูเป็นสีแห่งศรีของวันพระราชสมภพ ซึ่งการให้สีดูละมุนละไม สื่อความเป็นผู้หญิงและพระเมตตา ดอกไม้มะลิเป็นดอกไม้มงคลสัญลักษณ์วันแม่แห่งชาติ ด้านบนเป็นพระมหามงกุฎภายในประดิษฐานพระแสงจักรและพระแสงตรีสื่อถึงทรงอยู่ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ขนาบซ้ายขวา พระมหามงกุฎด้วยพระสัปตปฎลเศวตฉัตร ฉัตรขาว 7 ชั้น เป็นฉัตรประกอบพระราชอิสริยยศของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ 

 “การนำดอกมะลิมาร้อยเรียงเป็นมาลัยลายเกลียวรูปหัวใจรอบอักษรพระนามาภิไธย ส.ก. สื่อถึงการร้อยเรียงดวงใจอย่างแน่นแฟ้นกลมเกลียวในโอกาสมหามงคล 90 พรรษา ถวายพระผู้ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจพสกนิกรไทยทั้งชาติ และผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐต่อลูก คือ ชาวไทยทุกหมู่เหล่าให้พ้นทุกข์ยาก รูปลายหงส์ประคองฉัตร ซ้าย ขวา หมายถึงพระสิริโฉมสง่างามสูงค่าดังหงส์ ลวดลายไทย หมายถึงพระปรีชาด้านศิลปวัฒนธรรม พระราชทานกำเนิดศิลปาชีพ และทรงส่งเสริมเอกลักษณ์ชาติไทยให้แพร่หลายในไทยและต่างประเทศ เลขไทย ๙๐ ภายใต้มาลัยหัวใจ สื่อถึงเลขมงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา” นายเกียรติศักดิ์กล่าว

สำหรับนายเกียรติศักดิ์ เป็นจิตรกรที่สร้างสรรค์ผลงานอย่างโดดเด่นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นผู้ออกแบบฉากบังเพลิงในงานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศในหลวง รัชกาลที่ 9 เครื่องสังเค็ดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร.9.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง