สธ.สั่งรับมือโควิดระลอกใหม่

นายกฯ ยันสถานการณ์โควิด-19 ในไทยควบคุมได้ขออย่ากังวล สธ.ส่งหนังสือถึงทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ เผยอาจพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น "ระลอกเล็กๆ"  ขณะที่ "อนุทิน" พร้อมรับคำเตือนทุกฝ่าย “หมอประสิทธิ์” จี้ ศคบ.เคาะมาตรการสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่ปิด ผู้ว่าฯกทม.จ่อทบทวนถอดแมสก์

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม  ยืนยันสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ แม้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงในบางพื้นที่ ขอประชาชนอย่าได้กังวล เน้นปฏิบัติตามมาตรการของทางสาธารณสุข ป้องกันระวังตนเองเมื่อต้องใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงและเข้ารับวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นในประชาชนทุกกลุ่มอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมั่นใจระบบสาธารณสุข มีความพร้อมดูแลผู้ป่วย ยืนยันว่ารัฐบาลและ ศบค.พร้อมสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากเกิดการแพร่ระบาดในอนาคตขึ้น   

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดวันที่ 5 ก.ค. พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 1,917 ราย จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,914 ราย และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 3 ราย ผู้เสียชีวิต 18 ราย ผู้ที่กำลังรักษาตัว 24,435 ราย และมียอดผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,282 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.65 จำนวน 2,310,582 ราย ผู้ที่หายป่วยสะสมจำนวน 2,310,352 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 705 ราย

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ได้นำ ครม.ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ โดย สธ.ได้จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่มาให้บริการที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล รวมถึงเปิดให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชนเข้ารับวัคซีน พร้อมกันนี้ยังได้นำวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาให้บริการด้วย

ภายหลังการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีได้มีการสั่งการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลในการรับมือสถานการณ์โควิดระลอกใหม่แล้วหรือไม่ ว่าเขาเตรียมอยู่แล้ว ให้ถามกระทรวงสาธารณสุข       

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีแพทย์ชนบทเตือนให้เตรียมพร้อมรับโควิดระลอกใหม่ว่า ก็รับฟังคำเตือนทุกอย่าง การที่เรารับฟังคำเตือนจากทุกฝ่าย รวมถึงคำเตือนจากคณะแพทยศาสตร์ ก็รับฟังทุกอย่าง ซึ่งอะไรที่ปฏิบัติได้ก็ปฏิบัติ

เมื่อถามว่า ในส่วนของ กทม.ระบุว่าอาจจะต้องกลับมาสวมหน้ากากอนามัยอีกหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า "ผมเพิ่งหายมา"

รมว.สาธารณสุขกล่าวถึงสถานการณ์โควิดกำลังระบาดมากขึ้นว่า เป็นการระบาดในบริบทโอมิครอน ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ติดง่าย เชื้อไม่แรง และเราเปิดประเทศแล้ว มีโอกาสของการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ เรื่องของอาการหนักและจำนวนผู้เสียชีวิต ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้อยู่ เพราะคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว

เมื่อถามว่า สายพันธุ์ใหม่ BA.4-BA.5 ที่ระบาดในกรุงเทพมหานครขณะนี้ จะรับมืออย่างไรเป็นพิเศษ นายอนุทินกล่าวว่า ได้เตรียมเรื่องของเวชภัณฑ์ สถานพยาบาลให้พร้อม แต่ถ้าได้รับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป อาการก็จะไม่รุนแรง แล้วก็จะไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนและกลุ่มที่มีโรคต้องระวังมากหน่อย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการกักตัวของผู้ป่วยโควิด-19 ว่า เดิมกำหนดให้มีการกักตัว 7+3 วัน คือกักตัว 7 วัน สังเกตอาการอีก 3 วัน แต่ล่าสุดคณะกรรมการวิชาการได้ลดเหลือ 5+5 ซึ่งจะรอนำเข้าที่ประชุม ศบค.วันศุกร์ที่ 8 ก.ค.นี้ ส่วนนายอนุทินที่ติดเชื้อโควิด ก่อนหน้านี้ถือว่าเกิน 10 วันแล้ว โดยการนับจะนับตั้งแต่วันที่มีอาการ เพราะการแพร่เชื้อจะมีการแพร่เชื้อ 2 วันก่อนมีอาการ และ 3 วันหลังมีอาการ จึงต้องนับจากวันที่เริ่มมีอาการ กรณีของนายอนุทินจึงไม่น่าจะมีอะไร และช่วงที่ออกงานเมื่อวานนี้ก็ยืนห่างจากคนอื่น

เมื่อถามว่า ที่เคยบอกว่าวันที่ 1 ก.ค.จะให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ยังคงเป็นไปตามนั้นหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า รอที่ประชุม ศบค.ว่าจะมีมติออกมาอย่างไร เพราะต้องมีการพิจารณาทั้งมาตรการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข สังคม และกฎหมาย เราทราบดีว่าสถานการณ์การติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ที่เรากำลังตามดูขณะนี้คือภาวะการรองรับด้านการรักษาผู้ป่วยหนักมากขึ้นหรือไม่ เตียงรองรับพอหรือไม่ แต่ภาพรวมของประเทศผู้ป่วยหนักไม่ได้มากขึ้น แต่เป็นสัดส่วนจำนวนเคสที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ส่วนใหญ่ตอนนี้ติดเชื้อก็รักษาตัวอยู่บ้าน กินยาก็หายเองได้ ดังนั้นเตียงตามโรงพยาบาลยังเพียงพอ เหลือแต่ที่ กทม.เท่านั้น เนื่องจากกทม.มีระบบที่ซับซ้อน

เมื่อถามถึงกรณีที่ปลัด สธ.ทำหนังสือแจ้งเตือนไปถึงทั่วประเทศ นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะปลัด สธ. แต่ปลัดกระทรวงมหาดไทยก็ทำเหมือนกัน เป็นการเตือนหน่วยราชการให้ระมัดระวัง เข้มงวด เตรียมพร้อม ทั้งนี้ ถือเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมตามปกติ แต่เตรียมพร้อมดีกว่าไม่เตรียมพร้อม พวกเราก็ต้องเตรียมพร้อมด้วย

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิดของประเทศไทยเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจากนี้เราต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID) เหมือนอย่างโรคอื่นๆ ซึ่งหมายความว่ายังสามารถพบการติดเชื้อได้ แต่ความรุนแรงของโรคลดลง การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะไม่มากเกินระบบสาธารณสุขที่มีจะรองรับได้ โดยจากการผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจการและกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงมีการเปิดประเทศ ทำให้มีผู้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้น อาจพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ (Small Wave) ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ใช่การระบาดใหญ่ โดย สธ.มีการเตรียมความพร้อมรองรับตามแนวทาง 3 พอ คือ หมอพอ เตียงพอ ยาและเวชภัณฑ์พอ

"โดยกำชับและแจ้งไปยังหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้บุคลากรทางการแพทย์ระมัดระวังป้องกันตนเองในการให้บริการ เตรียมความพร้อมยา เวชภัณฑ์ สำรองเตียง ความพร้อมระบบส่งต่อ และเร่งเดินหน้าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในการคงมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล จะช่วยลดการติดเชื้อและหยุดระลอกเล็กๆ เหล่านี้ลงได้" นพ.เกียรติภูมิกล่าว และว่า ขณะนี้ยังคงแจ้งเตือนภัยโควิดในระดับ 2 ยังไม่จำเป็นต้องยกระดับการแจ้งเตือน

ขณะที่เพจชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความระบุว่า ส่งสัญญานเตือน เตรียมพร้อมรับโควิด-19 ระลอกใหม่ ปลัด สธ.มีหนังสือสั่งการ ด่วนที่สุด ถึงผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ให้หน่วยบริการสุขภาพในสังกัด เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การระบาดของไทยขณะนี้ไม่ได้แตกต่างจากหลายประเทศทั่วโลกที่พบการระบาดของ BA.4-BA.5 ไปแล้วกว่า 110 ประเทศ และการรายงานตัวเลขติดเชื้อที่แท้จริงก็ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากหลายประเทศเลิกตรวจหาเชื้อไปแล้ว วันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยน อยากให้ผู้ใหญ่ในประเทศส่งสัญญาณ เพราะขณะนี้มีการติดเชื้อเพิ่ม จึงเสนอให้รัฐบาลต้องกลับมากระชับมาตรการป้องกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะการออกข้อบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่ปิด ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ เป็นมาตรการที่ สธ.คงจะต้องเสนอศบค.พิจารณา อย่ารอจนเตียงไม่พอ จะไม่ทันต่อสถานการณ์ แม้สถานการณ์เวลานี้อาจจะไม่รุนแรงเหมือนสายพันธุ์เดลตา เพราะคนฉีดวัคซีนไปค่อนข้างมาก ตัวเชื้อไม่ได้รุนแรง แต่เชื้อตัวนี้แพร่ระบาดเร็วมาก หากแพร่เร็วจนเพิ่มจำนวนมากก็เสี่ยงที่เกิดการกลายพันธุ์ได้ ส่วนยอดผู้ป่วยโควิดใน รพ.ศิริราช ยอมรับว่าเพิ่มขึ้นจริง โดยเฉพาะผู้ป่วยไอซียูที่เพิ่มขึ้น

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบตัวเลขผู้ติดเชื้อ ซึ่งต้องรอมาตรการจาก สธ.อีกครั้ง เบื้องต้นได้รับรายงานว่าบางโรงพยาบาลมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้ น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ดูแลเรื่องดังกล่าวแล้ว

ส่วนกรณีจะกระทบกับประกาศถอดหน้ากากอนามัยของ กทม.ที่เพิ่งประกาศไปหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า คงจะต้องทบทวนหมดทุกอย่างตามข้อเท็จจริง ต้องมีขั้นตอนที่ปรับตัวไป ทั้งยังต้องพิจารณาความรุนแรงว่าระบาดมากหรือน้อยอย่างไร เพราะเป็นปัจจัยต่อเนื่องกัน เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ จึงจะเป็นมาตรการตามข้อเท็จจริง หากรุนแรงก็ต้องทบทวนใหม่ สำหรับประเด็นคลัสเตอร์ในโรงเรียนหลังเปิดเทอม เมื่อช่วงเช้าได้ไปหารือมากับโรงเรียนย่านสวนลุมพินี อาจจะมียอดผู้ติดเชื้อนิดหน่อย คงต้องจับตามอง

"ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสอดคล้องที่มีการเปิดสถานประกอบการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ มีการถอดหน้ากากอนามัย แต่ต้องเฝ้าระวังเหมือนกัน ซึ่งได้มอบหมายให้ น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. สรุปปัญหาและออกมาตรการเฝ้าระวังต่อไป" นายชัชชาติกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง