‘ชวน’ติดโควิดนอนรพ. หมอโอภาสขึ้นปลัดสธ.

ยอดติดเชื้อรายใหม่ 1,679 ราย เสียชีวิต 23 คน "บิ๊กตู่" ขอคนไทยป้องกันโควิดช่วงหยุดยาว ยันไร้ปัญหาสถานการณ์เตียง ลั่นไม่พอพร้อมเพิ่ม รพ.สนาม "ครม." อนุมัติตั้ง “หมอโอภาส” นั่งปลัด สธ. "อนุทิน" ชี้เหมาะสม "อย." ไฟเขียวเอกชนซื้อโมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิดจ่ายคนไข้ "ปธ.ชวน" ติดโควิดเข้ารักษาตัว  รพ.

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,679 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,679 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,809 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,115 ราย อยู่ระหว่างรักษา 23,617 ราย อาการหนัก 788 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 342 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 23 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,548,533 ราย ยอดหายป่วยสะสม 4,494,034 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 30,882 ราย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ช่วงวันหยุดยาววันที่ 13-17 ก.ค.ว่า ขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานหนักเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา ประชาชนก็ต้องรักษาสุขภาพตนเองและครอบครัวป้องกันโควิด-19

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในส่วนสายพันธุ์ใหม่  BA.4 และ BA.5 ได้คุยกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แล้ว โรคนี้ถึงแม้จะติดง่ายขึ้น แพร่ได้รวดเร็ว แต่อันตรายไม่มากนัก โดยเฉพาะถ้าเราฉีดวัคซีนครบถ้วน ความเสี่ยงก็จะลดลงมาก วันนี้มีสถิติการติดเชื้อโดยการตรวจ ATK มากขึ้น ที่ส่วนใหญ่รักษาตัวที่บ้าน ให้ยากันก็หายกันไป ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ.ก็ติดแล้ว ก็บอกว่า 4-5 วันก็หายโดยการทานยา ฉะนั้นจึงมีอยู่ 2 ส่วน คือส่วนที่ขึ้นทะเบียนและลงระบบอยู่ในยอด วันละ 1,000-2,000 คน อีกส่วนก็คือตรวจ ATK แล้วรักษาอยู่ที่บ้าน สำคัญที่สุดคือการฉีดวัคซีน

"ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ประมาณ 20 คนต่อวัน แสดงว่าเราควบคุมได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบ และกลุ่ม 608 รวมถึงเตือนไปยังกลุ่มนักเรียน นักศึกษาให้ไปฉีดวัคซีนกันเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัวจะได้ไม่เสียใจกัน ส่วนเรื่องอัตราการครองเตียง ตอนนี้ไม่มีความกังวลแล้ว เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป ยืนยันเตรียมการไว้พร้อม ถ้าไม่พอยังไงก็ตั้งโรงพยาบาลสนามได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ถามว่า ครม.มีการแต่งตั้ง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นปลัด สธ. ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า แล้วมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ก็คนเก่าเขาจะเกษียณ เขาก็ตั้งใหม่

มีรายงานว่า ในช่วงท้ายการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้ปรารภในที่ประชุมว่า ช่วงนี้มีวันหยุดยาวเยอะ แต่ละคนต้องลงพื้นที่พบปะผู้คนจำนวนมาก ขอให้ใช้ความระมัดระวัง อย่าให้ติดเชื้อโควิด-19  รวมทั้งในการประชุม ครม.ยังได้อนุมัติแต่งตั้ง นพ.โอภาสตามที่ สธ. เสนอให้ดำรงตำแหน่งปลัด สธ. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป

นายอนุทินชี้แจงการแต่งตั้ง นพ.โอภาสว่า ได้เสนอรายชื่อตามความเห็นของปลัดกระทรวงคนปัจจุบัน โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความสามารถ อาวุโส สำหรับนโยบายสำคัญที่ปลัดกระทรวงคนใหม่จะต้องมาสานต่อก็คือการพัฒนาระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โควิดที่มีการตั้งข้อสังเกตมีการติดเชื้อรายวันเพิ่มมากขึ้นนั้น สธ.อยากให้ประชาชนรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพพบปะผู้คนจำนวนมากในสถานที่แออัด สามารถพิจารณารับวัคซีนได้ถึงเข็มที่ 5 ซึ่งจากสถิติในคนสุขภาพปกติที่ได้รับวัคซีนไปแล้วถึง 5 เข็ม จะไม่มีอาการป่วยหนักหากติดเชื้อ

"ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อรับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากขึ้น ประกอบกับมีผู้ติดเชื้อที่รักษาหายเป็นการกระตุ้นภูมิตามธรรมชาติแล้ว จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ ซึ่งเป็นการยับยั้งการแพร่ระบาดไปในตัว" นายอนุทินกล่าว

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงการขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 ว่า ยังขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นเดียวกับทั่วโลก แต่เมื่อยาได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว สถานพยาบาลเอกชนก็สามารถจัดซื้อยาดังกล่าวมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ หากบริษัทผู้ผลิตมียาที่ขายให้ได้ อย่างไรก็ตาม การสั่งจ่ายยาดังกล่าวของสถานพยาบาลให้กับผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องเป็นไปตามแนวทางการรักษาที่ออกโดยกรมการแพทย์ สธ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการแพทย์ได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโควิด-19 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขฉบับปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 24 วันที่ 11 ก.ค.2565 โดยความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างานในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยตามข้อมูลวิชาการในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการรักษาผู้ติดโควิด-19 แบ่งเป็นกลุ่มตามความรุนแรงของโรคและปัจจัยเสี่ยง

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สธ.ได้ออกแนวทางปฏิบัติให้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน หรือ OP Self Isolation ได้ โดยผู้ที่ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ไปรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการตามสิทธิรักษาของตน รับยาแล้วกลับมากักตัวที่บ้าน 7+3 วันต่อ กรณีเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 การรักษาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

นพ.จเด็จกล่าวว่า ในส่วนของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท นอกจากการรักษาตามแนวทางดังกล่าวแล้ว สปสช.ยังได้เพิ่มการให้บริการมากขึ้น ที่ผ่านมาได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรม เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 อาการสีเขียวที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงรับยารักษาโควิด-19 และได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากเภสัชกรได้ และเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และลดความแออัดในโรงพยาบาล (รพ.)

"สปสช.ได้เพิ่มการรักษาด้วยระบบการแพทย์ทางไกลกับ 2 ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันด้านสุขภาพดิจิทัล คือบริษัท กู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ Good Doctor Technology แอป และทรู เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาแอป MorDee (หมอดี) เพื่อทำการดูแลผู้ป่วยผ่านบริการเทเลเมดิซีน พร้อมบริการจัดส่งยาถึงบ้าน โดยให้บริการเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 5 จังหวัด นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เท่านั้น" เลขาฯ สปสช.กล่าว

วันเดียวกัน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ตนติดเชื้อโควิดและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่อาการไม่รุนแรง โดยเริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. รู้สึกอ่อนเพลีย หลังเดินทางไปเยี่ยมนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่เรือนจำนครศรีธรรมราช เมื่อมาถึงสภาจึงให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิให้ ตอนนั้นยังปกติ 

"เมื่อเช้าวันนี้ (12 ก.ค.) ตื่นขึ้นมายังมีอาการอ่อนเพลีย ซึ่งแตกต่างจากครั้งที่แล้วที่เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการหนาวสั่น ซึ่งเป็นอาการติดเชื้อในกระแสเลือด  จึงนำเอทีเคมาตรวจด้วยตัวเอง ปรากฏว่าขึ้น 2 ขีด จึงตรวจซ้ำอีกครั้ง ก็ยังขึ้น 2 ขีด จึงมั่นใจว่าน่าจะติดเชื้อโควิด-19 จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งแพทย์ขอให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 2-3 วัน จากนั้นจะกลับไปรักษาตัวที่บ้านพัก เชื่อว่าทันอภิปรายไม่ไว้วางใจ" ประธานรัฐสภาระบุ

ส่วนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์โควิดว่า คุณหมอหลายท่านบอกอาการจะไม่รุนแรงมาก แต่จะรุนแรงเฉพาะกลุ่ม 608 ซึ่งคนที่แข็งแรงจะเอาไปติดกลุ่มนี้ จึงต้องฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส เพื่อลดความรุนแรง ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ป่วยสีเขียวไม่มีปัญหา แต่ที่กังวลคือเตียงสีแดง เพราะตอนนี้เอกชนเริ่มคืนเตียงผู้ป่วยโควิด-19 หมดแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

นายกฯ ร่วมผู้นำ 17 ประเทศ แถลงเรียกร้องปล่อยตัวประกันในกาซา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "วันนี้ ผมร่วมกับผู้นำ 17 ประเทศที่มีตัวประกันที่ยังอยู่ในกาซา ออกถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย