ป้อมกล่อมพรรคเล็ก เช็กเสียงก่อนซักฟอก‘ธรรมนัส’จูบปากเพื่อไทย

"ธรรมนัส" ตอกย้ำถอนยวงรัฐบาล ชี้ภาคเหนือบนไม่เอา แจงเคลียร์ "ประวิตร" แล้ว เข้าใจแต่มีรั้งบ้าง นัด 15 ก.ค.เข้ากราบลาทางการอีกครั้ง ลั่นทำหน้าที่ฝ่ายค้านเดินหน้าตรวจสอบ แบะท่าไม่ปิดทางหวนร่วมงานเพื่อไทย "นิโรธ" รับกังวลเสียงโหวต รบ.ปริ่ม "พรรคเล็ก" คุย "บิ๊กป้อม" 17 ก.ค.นี้ "พท." คึก! ขย่ม "นายกฯ ตู่" ขาลง ยุ "ปชป.-ภท." เลิกหาม อึ้ง "สุทิน" เปรียบพรรคธรรมนัสเป็นทองคำ "ชลน่าน" ยังหวั่น "งูเห่า" แผลงฤทธิ์ศึกซักฟอก

เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ถึงการถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลว่า รู้ตัวเองดีว่าในการเลือกตั้งซ่อม จ.ลำปางเกิดอะไรขึ้น ผลที่ออกมาเราไม่คาดคิดว่าจะออกมาอย่างนี้ ทำให้ตนกับคณะกรรมการบริหารพรรคต้องมานั่งทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเราย้อนไปดูปัจจัยเมื่อปี 2562 เราทราบข้อมูลว่าฐานคะแนนของเราอยู่ที่ 30,368 คะแนน แต่โดยภาพรวมคะแนนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ใน จ.ลำปางจะได้กว่า 140,000 คะแนน ทำให้รู้ว่าฐานเรามีเท่านี้ มันขายไม่ได้ แต่เมื่อการเลือกตั้งซ่อมปี 2563 มีปัจจัยหลายอย่าง ผลงานของรัฐบาล โดยเฉพาะจัดสรรที่ดินทำกิน การแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากผลงานของรัฐบาล เราได้ประมาณ 61,914  คะแนน พรรคเสรีรวมไทยได้ 38,336 คะแนน แต่การเลือกตั้งครั้งนี้คะแนนมันสวิงกลับ เราคงไปโทษรัฐบาลไม่ได้ แต่เราลงพื้นที่เราทราบว่าประชาชนบ่นกับทางตน ซึ่งผู้นำท้องถิ่นเป็นคนที่ตนวางเอาไว้ทั้งนั้น

 “ประชาชนเขาบ่นว่าไม่ค่อยสบายใจ ในเรื่องความไม่ชัดเจนของพรรคเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะตัวของผมเองว่าสรุปแล้วอยู่ฝ่ายใดกันแน่ ส่วนพรรคเสรีรวมไทยเขาหาเสียงประเด็นเดียว คือจุดยืนที่ไม่แน่นอนของพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งทำให้เราพ่ายแพ้ในครั้งนี้ แต่สิ่งที่ทำให้เราสบายใจอยู่คือฐานคะแนนเสียงของเรายังเท่าเดิม” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

ถามว่า การที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่ส่งคนลงสมัคร ทำให้คะแนนเทไปที่พรรคเสรีรวมไทยหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เราดูการเลือกตั้งปี 2562 พรรค พท.ได้ 42,984 คะแนน พรรคอนาคตใหม่ได้ 26,471 คะแนน เราได้ 30,368 คะแนน แต่ดูการเลือกตั้งซ่อมปี 2563 เราได้ 61,914 คะแนน แสดงว่าคะแนนจากพรรคเพื่อไทยมาหาเราบ้าง แต่คะแนนของพรรคอนาคตใหม่เขาคงเทให้พรรคเสรีรวมไทย การเลือกตั้งปี 2562 พรรคเสรีรวมไทยไม่มีคะแนน ไม่อยู่ในสายตา ดังนั้นการต่อสู้ตรงนี้จึงเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งประชาชนภาคเหนือตอนบน อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง เขาไม่เอารัฐบาล

หัวหน้าพรรค ศท.กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ตนถูกขับออกจากรัฐมนตรี ประกาศชัดเจนว่าอยู่ข้างประชาชน แต่ประชาชนไม่เข้าใจหรอกว่าอยู่ข้างประชาชน เพราะยังเห็นการโหวตเรื่องงบประมาณปี 2566 ดังนั้นจึงต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะมาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ

 “ในยุคนี้การปกครองระบบประชาธิปไตยของประเทศไทยไม่ชัดเจน ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติเป็นกลุ่มเดียวกัน ยกเว้นฝ่ายค้านที่แสดงตัวออกมาชัดเจน ฉะนั้นพรรคเศรษฐกิจไทยต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจนเลยว่าเราควรจะทำให้หน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติให้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ไปเลย” หัวหน้าพรรค ศท.กล่าว

ซักว่า เมื่อประกาศจุดยืนอยู่กับฝ่ายค้านเพื่อตรึงมวลชนทางภาคเหนือ จะทำให้เสียมวลชนในภาคอื่นหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ไม่ได้ว่าตนดี ตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีจนออกจากรัฐมนตรี ตนเป็นนักการเมืองที่อยู่ในพื้นที่มาตลอด ไม่ใช่เฉพาะภาคเหนือ ภาคอีสาน เดินทางทุกจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เราจึงรับทราบความรู้สึกของประชาชนดี วันนี้ประเทศเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งว่าที่ผู้สมัครของพรรคเศรษฐกิจไทยทั้ง 76 จังหวัด สะท้อนมาว่าเราควรแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน เพราะประชาชนเบื่อหน่ายหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นถามว่าจะทำให้เราเสียมวลชนจากภาคอื่นหรือไม่ ตนมีความมั่นใจว่าเสียงสะท้อนจากว่าที่ผู้สมัครของเราคือเสียงสะท้อนจากประชาชน

ธรรมนัสแบะท่าร่วมงาน พท.

เมื่อถามว่า การประกาศร่วมทำงานกับฝ่ายค้าน หมายถึงการทำงานกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เราให้นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลาออกจากวิปรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาเราเป็นต่อเนื่องมาตั้งแต่เป็นสมาชิกพรรค พปชร. แต่เมื่อเราออกมาแล้วก็ควรให้มันชัดเจน ตามมารยาททางการเมือง วันนี้ผู้นำฝ่ายค้านยังไม่ได้คุยกับเรา เราจึงยังไม่ได้เป็นฝ่ายค้าน แต่มันอยู่ในขั้นตอนต่อไปที่ต้องคุยกันต่อ

"ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อเราประกาศว่าเราทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติ ก็คงทำงานในทิศทางเดียวกันกับฝ่ายค้าน ผมเรียน พล.อ.ประวิตรชัดเจนแล้วว่าขออนุญาตประกาศจุดยืนของพรรคอย่างชัดเจน ซึ่งได้ชี้แจงแล้ว ผมเล่าให้ฟังว่าผลการเลือกตั้งซ่อม จ.ลำปาง ว่าเกิดอะไรขึ้น เราเหมือนพรรคอยู่ตรงกันของเขาควายสองข้าง มันไม่ชัดเจน ฝ่ายรัฐบาลเขาไม่ได้สนับสนุนเรา เราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากฝ่ายรัฐบาล อีกทั้งยังถูกกระทำหลายเรื่อง ผมไม่อยากพูดตรงนี้ อีกข้างของเขาควายเขาก็ไม่ได้สนับสนุนเรา ดังนั้นไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะมานั่งตรงกลางของเขาควาย ผมก็ได้เรียนพล.อ.ประวิตร ซึ่ง พล.อ.ประวิตรมีความเข้าใจ” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

ซักว่า พล.อ.ประวิตรรั้งให้อยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ หัวหน้าพรรค ศท.กล่าวว่า "ก็มีบ้าง แต่ไม่ได้ตัดพ้ออะไร ผมเรียนข้อเท็จจริงด้วยเหตุผล” พอถามว่า การโหวตซักฟอก พล.อ.ประวิตรขอให้โหวตใครบ้าง ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า “ไม่ได้ขอ แม้แต่ตัว พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้ขอ”

ถามว่า ตัวของ ร.อ.ธรรมนัสและพรรคเศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างเป็นไปได้หมด

ต่อมา ร.อ.ธรรมนัสให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า วันที่ 15 ก.ค.นี้ ตนจะเข้าไปพบ พล.อ.ประวิตรที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เพื่อกราบลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจาก พล.อ.ประวิตรถือเป็นผู้ใหญ่ที่ตนให้ความเคารพ

ขณะที่นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า การที่นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรค ศท. และนายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร ในฐานะเลขาธิการพรรค ศท. ลาออกจากวิปรัฐบาลไป ก็ยังมีกรรมการวิปฯ อีกเยอะ ทำให้ไม่ได้มีผลกระทบการทำงานอะไร

"นายไผ่ก็โทร.มาแจ้งให้ทราบว่าลาออก เพื่อความสบายใจในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ แต่เรื่องอื่นไม่ได้มีอะไร ทั้งนี้เวลาทำงานในวิปรัฐบาล เมื่อมีมติอะไรวิปแต่ละพรรคก็ต้องนำความไปบอกกล่าวในพรรคของตัวเอง บางทีเขาอาจคิดว่าไม่เป็นอิสระในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ อย่างกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จะดูว่ารัฐมนตรีคนไหนอภิปรายอย่างไร และจะนำมาพิจารณาภายในพรรคว่าใครจะควรรับหรือไม่รับ ซึ่งตอนนี้จะมีอิสระมากขึ้น" นายนิโรธกล่าว

ถามว่า มองการลาออกจากวิปรัฐบาลของพรรค ศท.เล่นเกมการเมืองหรือไม่ นายนิโรธกล่าวว่า ไม่ พรรค ศท.ไม่ต่อรองอะไร และจากที่ฟังข่าว เขาอาจจะคิดว่าจากผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 4 จ.ลำปาง นั้นพวกเขาพ่ายแพ้ แต่ส่วนตัวมองว่าไม่แพ้ เพราะ จ.ลำปางเป็นพื้นที่ไข่แดงของพรรคเพื่อไทย มีบ้านใหญ่ถึง 2 บ้าน ฉะนั้นการที่พรรค ศท.ได้คะแนนเสียงถึง 3 หมื่นไม่ใช่เรื่องง่าย ตนมองว่าเก่งที่ทำเสียงได้ถึงขนาดนี้

ซักว่ากังวลจะคุมเสียงในสภาได้หรือไม่ ประธานวิปรัฐบาลกล่าวว่า ผู้แทนราษฎรมีหน้าที่อยู่แล้วว่าต้องมาประชุม ทั้งนี้นายไผ่บอกตนว่าไม่มีอะไร และหากมีเรื่องจำเป็นหรือสำคัญอะไรสามารถโทร.ประสานมาได้

"ไม่ใช่ว่าไม่ห่วงเลยเสียทีเดียว เพราะเสียงของพรรค ศท.มีตั้ง 10 กว่าเสียง ก็กังวล อย่างไรก็ตาม เสียงรัฐบาลอาจจะมีปริ่มหน่อยแต่ก็ยังเกินกึ่งหนึ่ง" ประธานวิปรัฐบาลระบุ

พรรคเล็กคุย 'ป้อม' 17 ก.ค.

นายนิโรธกล่าวถึงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านปรับกลยุทธ์ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถูกอภิปรายเป็นคนสุดท้ายว่า ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพราะตอนที่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนอื่น นายกฯ ก็จะถูกโยงอยู่แล้ว ส่วนทีมปราบมารกับเจ้ายุทธก็ไม่ได้ต้องเตรียมอะไรเป็นพิเศษ

นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ กล่าวว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัสได้โทรศัพท์เล่ารายละเอียดให้ฟังทราบว่าพรรคเศรษฐกิจไทยมีมติออกจากการร่วมรัฐบาล และจะเดินหน้าตรวจสอบรัฐบาล แต่ในส่วนของกลุ่มพรรคเล็ก 1 เสียงที่รวมเป็นกลุ่ม 16 นั้น ต้องรอขอมติจากพรรคของตนเองอีกครั้ง และวันที่ 17 ก.ค.นี้ เวลา 17.00 น. พรรคเล็กร่วมรัฐบาลจะเข้าพบ พล.อ.ประวิตรในฐานะผู้จัดการรัฐบาล ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ

 “ผมยอมรับว่าหาก ส.ส.กลุ่มพรรคเล็กร่วมรัฐบาล ในกลุ่มของผมที่มีพรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยและพรรคไทรักธรรม ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล จะทำให้เสียงของรัฐบาลมีไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภา และอาจทำงานลำบาก แต่ตอนนี้ผมในนามพรรคประชาธิปไตยใหม่ยังไม่มีมติใดๆ ออกมา เพราะการถอนตัวหรือร่วมรัฐบาลต้องใช้เป็นมติพรรค โดยหลังจากที่ผมเสร็จสิ้นการจัดงานศพบิดาที่ต่างจังหวัดแล้วจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทันที” นายสุรทินกล่าว

ส่วนนายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 กล่าวเช่นกันว่า  กลุ่ม 16 พร้อมจับมือทำงานกับ ร.อ.ธรรมนัส โดยวันที่ 18 หรือ 19 ก.ค.นี้ ร.อ.ธรรมนัสจะหารือกับกลุ่ม 16 ถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน เบื้องต้นจะเน้นหารือไปที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสัปดาห์หน้า เพราะถ้ากลุ่ม 16 และพรรค ศท.ที่มีเสียงรวมกัน 32 เสียง ยกมือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนใด จะสะเทือนถึงขั้นหลุดจากเก้าอี้ พวกตนจะสอบถาม ร.อ.ธรรมนัสจะเข้าไปร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ แนวโน้มกลุ่ม 16 กับ ร.อ.ธรรมนัสน่าจะยกมือไปทางเดียวกัน

นายพิเชษฐกล่าวว่า ในส่วนแนวทางการถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคเล็กนั้น จะไปหารือกันในวันที่ 19 ก.ค.นี้ โดยจะดูจากผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีก่อน แล้วค่อยมาวัดผลกัน เพราะจู่ๆ จะให้ประกาศถอนตัวทันทีคงไม่ได้ แต่หากผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีรัฐมนตรีตอบคำถามได้ไม่เคลียร์ พรรคเล็กจึงค่อยนำเรื่องการถอนตัวจากรัฐบาลพิจารณาว่าจะถอนตัวจากรัฐบาลหรือไม่

ถามว่า กรณี พล.อ.ประวิตรนัดพรรคเล็กหารือที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ในวันที่ 17 ก.ค.นี้ หัวหน้ากลุ่ม 16 กล่าวว่า คงเรียกมาสอบถามเรื่องการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคเล็กจะเป็นตัวแปรสำคัญในการลงมติ ขณะนี้พรรค ศท.ถอนตัวจากรัฐบาลไปแล้ว หากได้เสียงของพรรคเล็กไปรวมด้วยอีกจะยิ่งยุ่งไปกันใหญ่ ดังนั้นพล.อ.ประวิตรน่าจะเรียกพรรคเล็กมาพบเพื่อเช็กเสียงฝั่งรัฐบาล เพื่อความมั่นใจในการลงมติ

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การที่พรรค ศท.ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล  เป็นการตัดสินใจการเมืองที่สำคัญ บ่งชี้ชัดเจนถึงกระแสนิยมฝ่ายประชาธิปไตย พูดในมุมกลับกระแสไม่เอารัฐบาลมีผลสูงมากในการเลือกตั้ง เมื่อวิเคราะห์จากตรงนี้ย้อนไปดูผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็สอดคล้องกัน กระแสชัชชาติแลนด์สไลด์ชนะทุกเขตเลือกตั้งเลย จ.ลำปางก็เช่นเดียวกัน ซึ่งการที่ ร.อ.ธรรมนัสประกาศไม่อยู่ฝ่ายรัฐบาลแล้ว เขามาเป็นฝ่ายตรวจสอบ จะไม่เรียกฝ่ายค้านไม่ได้ ทิศทางการทำงานก็คงชัดเจนว่ารัฐมนตรีที่เขารอดูข้อมูลที่จะถูกอภิปราย คงจะเห็นพ้องกับฝ่ายค้านเรา คงจะลงมติไปในแนวทางเดียวกัน

ยุ'ปชป.-ภท.'ทิ้งบิ๊กตู่ขาลง

นพ.ชลน่านกล่าวว่า เสียงที่มีอยู่จะล้มรัฐบาลได้หรือไม่ ก็คงต้องไปดูเสียงจริง เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่าฝ่ายค้านถูกดึงตัว ถูกซื้อตัวไปเยอะมาก ที่พวกเราเรียกว่างูเห่า อันนี้ก็เป็นตัวแปรที่มีผลพอสมควร ขึ้นอยู่กับสำนึกรับผิดชอบของผู้ที่จะลงมติในขณะนั้นมีต่อบ้านเมืองมีจำนวนมากน้อยขนาดไหน ข้อมูลชัดแจ้งแต่เอาเสียงข้างมากลากไป อันนี้ค่อนข้างลำบากใจในการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร ฉะนั้นขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนตัดสิน

ถามถึงข่าวจัดอันดับอภิปรายไม่ไว้วางใจอันดับสุดท้ายเป็น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการปรับกลยุทธ์อะไรหรือไม่ หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมอบให้ประธานวิปฝ่ายค้านกับคณะทำงาน ประกอบด้วยพรรคร่วม ดูรายละเอียดจัดอันดับว่าจะอภิปรายใครมากน้อยขนาดไหน ยังไม่เป็นข้อตกลงที่ชัดเจน เพียงแต่พูดคุยแนวทางว่าแนวทางไหนเหมาะสมที่สุด จะอภิปรายรัฐมนตรีหลักๆ แต่พูดถึงคนอื่นได้ด้วย เขาเรียกเป็นรัฐมนตรีหลัก รัฐมนตรีรอง ส่วนในเรื่องจะเอานายกรัฐมนตรีไว้ลำดับไหนยังไม่มีข้อสรุป

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน และ ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. กล่าวว่า เมื่อพรรค ศท.ถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจมันมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน เพียงแต่หากนับมือในสภาแล้วยังไม่พอล้มรัฐบาลได้ แต่เป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องทบทวน เพราะเมื่อมีพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวเช่นนี้ เป็นรัฐบาลอื่นต้องพิจารณาตัวเองแล้ว เชื่อว่าปรากฏการณ์พรรค ศท.ที่ถอนตัวเช่นนี้ หลายพรรคคงพิจารณาว่าจะเดินตามแนวทางนี้ด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ ใน 2 ปัจจัยคือ ทุกคนรู้ถึงผลการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา ถึงการปฏิเสธรัฐบาลมีมากขึ้นเรื่อยๆ ใครยังอยู่ต่อก็จะโดนร้องยี้ไปด้วย ตามสำนวนไทยที่บอกว่าทองคำถ้าอยู่ใกล้ตะกั่วก็จะหมอง  และประเด็นที่ 2 คือการอภิปรายครั้งนี้ ความนิยมของรัฐบาลยิ่งจะตกต่ำลงไปอีก เมื่อใกล้การเลือกตั้ง โอกาสที่เห็บเหาจะโดดหนีจากหมาป่วยเกิดขึ้นได้สูง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องคิดว่าจะเลือกจังหวะที่จะลงอย่างไร ตอนไหนให้ตัวเองเสียหายน้อยที่สุด 

ถามว่า พรรค ศท.ไม่ได้ลงชื่อในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจะสามารถร่วมอภิปรายด้วยได้หรือไม่ ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวว่า เรื่องนี้ได้ปรึกษาทางสภาแล้ว ในข้อบังคับการประชุมสภาไม่มีอะไรปิดกั้น สามารถอภิปรายได้ ส่วนจะให้อภิปรายหรือไม่นั้น ตอนนี้เราเตรียมการอภิปรายจนลงตัวหมดแล้ว แต่หากพรรค ศท.ประสงค์ เราจะพิจารณากันดู แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประสานเข้ามา 

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ พรรค ศท.ถอนตัวจากรัฐบาล ก็หวังว่าจะมาร่วมลงมติกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งหากจะให้รัฐบาลล้ม ต้องหวังมือจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ หรือ ส.ส.พรรคเล็กบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลให้มาร่วมกับฝ่ายค้านด้วย

ถามว่าในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้านกังวลเรื่องงูเห่าหรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า ไม่กังวล เราเห็นชัดเจนว่าใครจะโหวตหนุนรัฐบาลบ้าง คงไม่มีเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ 

นายสมคิดกล่าวว่า การที่พรรค ศท.ถอนตัว สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลเริ่มอ่อนแอทุกวัน หากการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีเหตุผลที่ดี ก็หวังว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอาจยกมือร่วมกับฝ่ายค้านก็ได้ เนื่องจากรัฐบาลอยู่เกิน 3 ปีแล้ว รู้เห็นตลอดว่าอะไรถูก-ไม่ถูก ทุกพรรคต้องระมัดระวังเรื่องชื่อเสียงตัวเอง เพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง อีกทั้งการเลือกตั้งซ่อมที่ลำปาง สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ประชาชนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอย่างไร เป็นตัวเลขที่นักการเมืองทุกพรรคต้องสนใจว่าคะแนนแพ้ชนะเด็ดขาดแบบนี้มาได้อย่างไร อีกทั้งยังสะท้อนไปถึงสูตรคำนวณ ส.ส.หาร 500 ที่ประชาชนเขาไม่เห็นด้วย จึงสะท้อนให้รัฐบาลได้เห็นในทันที 

เช่นเดียวกับนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรค พท. กล่าวว่า ร.อ.ธรรมนัสได้แสดงจุดยืนไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์มาโดยตลอด สะท้อนความล้มเหลวแทบทุกมิติของรัฐบาล พรรคที่เคยสนับสนุนรู้ดีว่า 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ทำประเทศหนี้ล้น แม้เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ทยอยแยกตัวออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่

"เชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็มองเห็นถึงสัญญาณลบของรัฐบาล ถ้ายังขืนพากันหาม พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเอาอะไรไปพูดกับประชาชน และในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ไม่ใช่การอภิปรายตามประเพณี ไม่ใช่การอภิปรายเพื่อล้ม พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้พรรคเพื่อไทยได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทน แต่เป็นการทำหน้าที่สะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน นักการเมืองคนใด จากพรรคการเมืองใด ที่คิดจะยกมือไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ ต้องคิดให้ดี ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ และผลการเลือกตั้งซ่อมลำปางครั้งหลังสุด เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชิ้นสำคัญที่บ่งชี้ว่าประชาชนไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์นานแล้ว" นายอนุสรณ์กล่าว 

วันเดียวกัน นายทองเนตร ดูใจ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดลำปาง กล่าวถึงกรณีการร้องขอให้ตรวจสอบผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 4 ลำปาง ไม่สุจริตเที่ยงธรรมว่า ตอนนี้เรื่องอยู่ในขั้นตอนของพนักงานสืบสวนสอบสวนที่กำลังตรวจคำร้องอยู่ว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ผู้ถูกร้องมีพฤติกรรมเข้าข่ายกฎหมายระเบียบข้อใด ซึ่งเรื่องจะเสนอมาถึงตนในวันจันทร์ที่ 18 ก.ค.นี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มาแล้ว! ธรรมนัสเตรียมดันโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง!

'เกณิกา' เผยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอโครงการ 'ปุ๋ยคนละครึ่ง' เข้า นบข.-ครม.ช่วยเกษตรกรกว่า 4.68 ล้านครอบครัว ใช้ปุ๋ยคุณภาพราคาถูกลดต้นทุน