จับตา‘บิ๊กเนม’ร่วม‘รทสช.’ แนะแก้กม.ลูกรับสูตร500

"เอกณัฏ" พร้อมเปิดตัวร่วมตั้ง "พรรครวมไทยสร้างชาติ" เหลือคำตอบสุดท้ายจาก "พีระพันธุ์" ทุกอย่างตัดสินใจเด็ดขาดหลังเห็นผลโหวตศึกซักฟอก เผยคนสนใจร่วมแจมเพียบ คุยแล้วกับสามอดีต กปปส. "สกลธี-ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์" ด้าน "สุดารัตน์” ถกว่าที่ผู้สมัครส.ส.อีสาน เน้นทำงานเพื่อ ปชช. ย้ำหลักการไม่หนุนเผด็จการ "ส.ว.สมชาย" แนะต้องแก้ กม.ลูกเลือกตั้ง ส.ส.ที่เหลือ ให้สอดรับสูตร 500 หารป้องกัน 26-27 ก.ค.ประชุมรัฐสภาวุ่น 

 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร  พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตโฆษกกลุ่ม กปปส. ที่มีข่าวว่าอยู่ระหว่างการร่วมจัดตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จะมีการเปิดตัวหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่เป็นอดีตนักการเมืองหลายคนในการประชุมใหญ่วิสามัญพรรควันที่ 3 สิงหาคมนี้ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนกับอีกหลายคนที่กำลังคุยเรื่องการทำการเมืองและการตั้งพรรคการเมือง กำลังอยู่ระหว่างการรอการตัดสินใจบางอย่าง โดยเฉพาะการรอการตัดสินใจจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าว ไม่สามารถตอบได้ตอนนี้ว่า นายพีระพันธุ์ จะตัดสินใจอย่างไร แต่เบื้องต้นที่มองไว้ว่าหากจะเข้าสังกัดพรรคการเมือง ตัวเลือกอันดับหนึ่งก็คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ

"สำหรับคุณพีระพันธุ์ หากเขาไปที่ไหน พวกผมก็จะไปอยู่กับพี่พีระพันธุ์ที่นั่น ก็อยู่ที่เขาตัดสินใจ ส่วนการตัดสินใจว่าจะไปร่วมงานกับรวมไทยสร้างชาติในวันที่ 3 สิงหาคมนี้เลยหรือไม่ ส่วนหนึ่งคงให้จบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เสร็จสิ้นการโหวตในวันเสาร์ที่ 23 ก.ค.นี้ก่อน ส่วนแนวทางพรรค ตอนนี้คงพูดอะไรไม่ได้ ต้องรอให้มีความชัดเจน เพราะเรายังไม่ได้เข้าไป พูดตอนนี้คงไม่ดี"

เมื่อถามถึงว่าในกลุ่มที่คุยกันมีข่าวว่ามีหลายสิบคน ที่จะไปอยู่ด้วยกันที่พรรคใหม่ และมีอดีต ส.ส.จำนวนหนึ่ง นายเอกณัฏกล่าวว่า หากสุดท้ายจะไปอยู่พรรคไหน เช่นไป รวมไทยสร้างชาติ หลังจากนั้น ก็จะมีการเดินสายเปิดตัวแนวร่วมของเราในแต่ละพื้นที่ อันนี้คงต้องมาว่ากันอีกที ยังพูดชื่อคนที่จะร่วมงานตอนนี้ไม่ได้ต้องรอให้เขาเข้ามาก่อน แต่มีจำนวนหนึ่งแน่นอน เพราะคุยกันมานานแล้ว ส่วนชื่อที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงหลายวันนี้ ตนคงพูดตอบแทนเขาไม่ได้

เมื่อถามว่า คนมองว่ารวมไทยสร้างชาติจะเป็นพรรคสาขา พรรคพันธมิตร ของพลังประชารัฐ นายเอกณัฏตอบว่า ยังไม่ได้คุยกันถึงขั้นดังกล่าว แต่เรามีแนวคิดของเรา กลุ่มคนที่มาคุยกันที่มีทั้งคนในแวดวงการเมืองและคนที่อยู่ภายนอกที่มาคุยกันเรื่องนี้ ต่างก็มีความตั้งใจ อยากจะผลักดันพรรคการเมืองใหม่ ทำการเมืองใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับความขัดแย้งในอดีต ให้มารวมตัวมาช่วยกันทำงาน

ถามว่า สามอดีต กปปส.ที่เคยอยู่พลังประชารัฐ ทั้งนายสกลธี ภัททิยกุล, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เห็นมีข่าวว่าจะมาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติด้วย นายเอกณัฏที่เคยเป็นอดีตโฆษก กปปส.กล่าวว่า ก็คุยกันหมด เรากับเพื่อนกับพี่ที่รู้จักกัน ก็คุยกันหมด แต่สุดท้ายการตัดสินใจเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ว่ามีการพูดคุยกัน แต่จริงๆ เราคุยกันมากกว่าที่ถามอีก เราคุยกันหลายคนมาก ที่ก็มี ส.ส.ที่อยู่ในสภาเวลานี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับพรรครวมพลัง ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาฯ เป็นหัวหน้าพรรคแต่อย่างใด เพราะพรรครวมพลัง เขาก็ทำของเขาไป ไม่เกี่ยวกับพรรคใหม่

ที่สำนักงานพรรคชาติพัฒนา (ชพน.)  อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ เดินทางไปกราบสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (คุณย่าโม) สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ชาวโคราชและชาวไทยเคารพนับถือ และยังได้ตำหมากสดพร้อมเครื่องยาเส้น ใบพูลถวายคุณย่าโมเพื่อความเป็นสิริมงคล และตามความเชื่อจะได้สมหวังตามความปรารถนา

ทสท.ชู 'สุดารัตน์' นายกฯ คนอีสาน

ผู้สื่อข่าวถามถึงพรรคภูมิใจไทย นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค มาประชุมกับ ส.ส.ของพรรคใน จ.นครราชสีมา ที่เป็นกลุ่มของนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม และยังมี 2 พี่น้องงูเห่าจากพรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะกวาดสนามโคราชได้ ส.ส.ทั้ง 16 คน   นายเทวัญถึงกับหัวเราะก่อนตอบว่า "โอ้โห..16 ที่นั่งเลยเหรอ ก็ไม่เป็นไร ถ้าเกิดพรรคภูมิใจไทยสามารถกวาดได้ 16 ที่นั่ง  ผมก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ”  

  ต่อข้อถามว่า พรรคชาติพัฒนายืนยันจะคัมแบ็กใช่ไหม นายเทวัญตอบว่า เราก็มั่นใจของเราว่าเราก็มีโอกาสที่จะกลับมามาที่โคราชอีกครั้ง แต่ถ้าพรรคอื่นมาถึงแล้วบอกว่าจะเอาหมดหรือไม่หมด อันนี้ถ้าเกิดสมมุติว่าเขาสามารถทำให้ประชาชนเห็นว่าสิ่งที่ถ้าเลือกเขาแล้วประชาชนได้ประโยชน์ ต้องให้ประชาชนตัดสิน ขึ้นอยู่ที่พี่น้องประชาชน ที่ผ่านมาพรรคชาติพัฒนาก็ไม่เคยไปมีปัญหากับใครอยู่แล้ว เราก็ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ   เราก็เคยเห็นใช่ไหมว่าประเทศชาติมันรุ่งเรื่องขนาดไหน ทุกอย่างเศรษฐกิจดี การเมืองไม่ขัดแย้งเหมือนปัจจุบัน

ที่ จ.ร้อยเอ็ด คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารพรรค ได้จัดประชุมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคอีสานโซน 2, 3 โดยเป็นการประชุมเพื่อเตรียมการสู่การเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง โดยคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ขอให้ว่าที่ผู้สมัคร ทุกคนได้ทุ่มเททำงานให้ประชาชนอย่างเต็มที่ โดยยึดหลักการและอุดมการณ์ของพรรคไทยสร้างไทยอย่างมั่นคง คือยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่สนับสนุนเผด็จการอย่างเด็ดขาด มุ่งมั่นทำงานโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มุ่งแก้ความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะคนตัวเล็ก ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยนโยบายสร้างโอกาส และกำจัดอุปสรรคที่กดทับประชาชน ที่เกิดจากรัฐราชการรวมศูนย์ และกฎหมาย

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ผู้สมัครทุกคนที่อาสามาเป็นผู้รับใช้ประชาชน ในนามพรรคไทยสร้างไทย ต้องทำงาน และลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ให้บรรลุเป้าหมายของพรรคไทยสร้างไทย คือการทำให้คนไทยส่วนใหญ่ หายจน หมดหนี้ มีรายได้อย่างยั่งยืน โดยคนไทยทุกคนต้องได้รับการดูแลอย่างดีตั้งแต่ เกิดจนแก่ หลังจากนี้จะได้เริ่มต้นขับเคลื่อนแคมเปญ #สู้เพื่อคนตัวเล็ก ตั้งแต่เกษตรจนถึงผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีเป้าหมาย สร้างให้คนตัวเล็กให้แข็งแรงและเป็นคนตัวใหญ่ให้ได้

 สำหรับการประชุมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคอีสานโซน 2, 3 ได้ระดมความคิดเห็น และเสนอแนวทางการช่วยเหลือชาวนา โดยนายวิสันต์ เดชเสน อดีต ส.ส.ยโสธร และนายสาคร พรหมภักดี อดีต ส.ส.สกลนคร ได้เป็นตัวแทนผู้สมัคร ส.ส. นำเสียงสะท้อนของประชาชนมาบอกกล่าวต่อที่ประชุมว่า จากการลงพื้นที่ทำงานต่อเนื่อง พี่น้องคนอีสานต้องการเห็นคุณหญิงสุดารัตน์เป็นนายกฯ คนอีสาน เพราะเป็นลูกอีสานเป็นคนโคราช เข้าใจปัญหาของคนอีสาน และตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคยทอดทิ้ง จึงอยากให้คุณหญิงได้มาแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตความขัดแย้ง ที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 15 ปี และเชื่อมั่นว่าประธานพรรคไทยสร้างไทยคือความหวังในการพลิกฟื้นชีวิตของพี่น้องชาวอีสานให้กลับมา มีรายได้อย่างยั่งยืนอีกครั้ง

แนะแก้ กม.ลูกสอดรับหาร 500

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ... รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ภายหลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติให้คณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่เสนอให้ใช้สูตร 500 หารเป็นวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นฝ่ายชนะนั้น จากนี้จะต้องแก้มาตราตกกระทบที่เหลืออยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้ขัดแย้งกันเอง ซึ่งตนได้บอกอย่างไม่เป็นทางการในกลุ่มไลน์กรรมาธิการว่าน่าจะจัดประชุมเรื่องนี้ก่อนที่จะถึงวันประชุมร่วมรัฐสภาระหว่างวันที่ 26-27 ก.ค. ไม่เช่นนั้นจะเกิดความยุ่งที่จะต้องมาพักการประชุม และกรรมาธิการต้องเรียกประชุมเพื่อแก้ไขร่างกฎหมาย เหมือนกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ และร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... ที่ผ่านมาที่เสียงข้างน้อยชนะ ทำให้ต้องพักการประชุมไปหลายสัปดาห์ เพื่อแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกัน แต่ดูเหมือนกรรมาธิการที่อยู่ในไลน์นั้นไม่เห็นด้วย

"ดังนั้นทางออกคือต้องปล่อยให้เกิดการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 26-27 ก.ค. และที่ประชุมร่วมรัฐสภาก็ต้องสะท้อนปัญหานี้ว่าเมื่อ กมธ.เสียงข้างน้อยชนะในการแก้ไขมาตรา 23 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.แล้ว มาตราต่อเนื่องจะแก้ไขอย่างไร เพื่อไม่ให้กฎหมายขัดกันเอง เข้าใจว่าฝ่ายเสียงข้างน้อยต้องไปยกร่างปรับปรุงมาและที่ประชุมรัฐสภาก็ต้องพักการประชุมเพื่อให้ กมธ.ไปเรียกประชุมในวันนั้นเพื่อปรับปรุงร่าง ส่วนจะเป็นเสียงข้างมากหรือข้างน้อยก็ต้องมาโหวตกันในที่ประชุมรัฐสภาต่อไป"

นายสมชายกล่าวต่อว่า มีสมาชิกรัฐสภาบางคนอภิปรายทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เมื่อแก้เสร็จต้องส่งไปศาลรัฐธรรมนูญอัตโนมัตินั้น ไม่เป็นความจริง เพราะตามขั้นตอนคือเมื่อเกี่ยวข้องกับองค์กรใดก็ส่งให้องค์กรนั้นพิจารณา โดยกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. ต้องส่งให้ กกต. เมื่อพิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญ กกต.ก็ต้องแย้งกลับมาที่รัฐสภาเพื่อดำเนินการปรับแก้ ถ้ารัฐสภาไม่ปรับแก้ก็จะเกิดความขัดแย้งระหว่างสององค์กร ตรงนี้ก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้า กกต.ไม่แก้ไข กลุ่มที่เห็นต่างที่เป็นสมาชิกรัฐสภาสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก่อนนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย 5 วัน ขณะเดียวกันหากกกต.แก้ไขให้รัฐสภากลับมาใช้หาร 100 กลุ่มที่เห็นด้วยกับการหาร 500 ก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน ท้ายสุดไม่ได้เป็นการไปศาลรัฐธรรมนูญอัตโนมัติ แต่เป็นการใช้ข้อบังคับรัฐสภาในการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า ดูแล้วกฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้จะทันใช้กับการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า คิดว่าทัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาจะอยู่ครบวาระหรือไม่ แต่หากเกิดอุบัติเหตุภายหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจปลายเดือนนี้ นายกฯประกาศยุบสภาก็ไม่ทันใช้ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แต่เชื่อว่านายกฯ จะไม่ยุบสภา เพราะมีภารกิจสำคัญคือการต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปกที่จะมีขึ้นในกลางเดือน พ.ย.นี้ เชื่อว่าสภาจะอยู่ไปได้จนถึง พ.ย.หรือเลยไปถึงต้นปีหน้า หากรัฐสภาร่วมมือช่วยกันให้กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งสองฉบับผ่านการพิจารณา ก็จะใช้ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ถ้าเราไม่ร่วมมือกันและขัดกันเอง แม้ยุบสภาและไม่มีกฎหมายสองฉบับนี้ ก็ยังมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อปี 2532 และ 2538 เคยเกิดเหตุการณ์ไม่มี พ.ร.บ.เลือกตั้ง ทำให้ต้องใช้ พ.ร.ก.อาศัยความตามประเพณีได้

ถามต่อว่า การที่ฝ่ายบริหารออกพ.ร.ก.เอง ก็จะมีบางฝ่ายมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายบริหารเองเพื่อชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า นายสมชาย กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา ใครเป็นฝ่ายค้านก็มองแบบนั้น ในที่สุดชื่อว่าฝ่ายค้านและรัฐบาลปัจจุบันต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้สำเร็จลุล่วง ส่วน ส.ว.ไม่มีส่วนได้เสีย แต่รัฐบาลที่ออก พ.ร.ก. เพราะต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายให้ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างมีระบบดุลกันอยู่แล้ว การกล่าวหาล้วนเป็นวาทกรรมทางการเมือง แต่ทางที่ดีทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จดีกว่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์