ไทยปลดกัญชาไม่ขัดUN 97%เมินเสพเพื่อบันเทิง!

อย.เข้มฉลากสินค้าผสมกัญชา-กัญชง ต้องมีข้อความเตือน ย้ำ! งดจำหน่ายอายุต่ำกว่า 20 ปี “ปานเทพ” โฆษก กมธ.เผยยูเอ็นถอน “กัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว ด้าน ส.ว.สมชาย ร่อนจดหมายถึงนายกฯ แนะแก้ปัญหาสุญญากาศ ขณะที่ซูเปอร์โพลชี้คนไทยกว่า 96% ไม่สนใจจะเสพเพื่อความบันเทิง

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขอความร่วมมือร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ในการจัดวางอาหารและขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง ให้เหมาะสม โดยแยกอาหารผสมกัญชา กัญชง จัดวางเป็นกลุ่มเฉพาะ จัดวางให้ลดการหยิบสินค้าเอง และมีป้ายชัดเจนว่า “งดจำหน่ายกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี” และได้กำชับขอความร่วมมือผู้ประกอบการไม่ให้จำหน่ายให้กับผู้บริโภคที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี 

 “จึงขอย้ำว่า การปลดล็อกกัญชา กัญชง ออกจากบัญชียาเสพติดนั้น เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ส่วนการนำมาเป็นส่วนผสมของอาหาร ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาด้วยความรอบคอบ เลือกซื้ออาหารที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง ปฏิบัติตามคำแนะนำในการบริโภคและข้อความคำเตือนที่แสดงบนฉลาก ที่สำคัญผู้ปกครอง ไม่ควรซื้ออาหารใส่กัญชา กัญชง ให้บุตรหลานอายุต่ำกว่า 20 ปีรับประทาน” น.ส.รัชดากล่าว

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า    เนื่องด้วยมีความเห็นจากประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าใจผิดจนมีข้อสงสัยว่า การถอดกัญชาออกจากประมวลกฎหมายยาเสพติดก็ดี และไม่เป็นที่ยอมรับขององค์การสหประชาชาติหรือไม่ ทั้งนี้ การเสนอการปลดล็อกกัญชาขององค์การอนามัยโลก ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 นั้น ได้ถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการยาเสพติด องค์การสหประชาชาติ (UN Commission on Narcotic Drugs) ซึ่งผ่านการประชุมจากผู้เชี่ยวชาญ 600 คนจากกว่า 100 ประเทศ ตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2563 ซึ่งทำให้เป็นที่ยอมรับคุณค่าการบำบัดทางการแพทย์ของกัญชาโดยนโยบายด้านกัญชา จึงขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศที่จะไปกำหนดมาตรการเพื่อความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศต่อไป

ดังนั้น การดำเนินการของประเทศไทยที่ได้ถอดกัญชาออกจากยาเสพติด และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการร่างกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จึงไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อมติคณะกรรมการยาเสพติดเสียงข้างมาก ขององค์การสหประชาชาติแต่ประการใด

                    ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า " กราบเรียนนายกรัฐมนตรี รมต. และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอเสนอแนวทางสายกลางเพื่อแก้ไขปัญหาสุญญากาศกัญชาเสรีที่พบว่ามีการจำหน่ายอย่างมากทั่วประเทศ ไม่มีมาตรการกฎหมายและทางการบริหารที่มีประสิทธิภาพ จนทำให้เกิดปัญหาต่อสังคมและเยาวชนตามมามากในขณะนี้ จึงเรียนเสนอแนวทางแก้ไขเชิงบริหารในการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อแก้ไขเชิงบริหารและข้อกฎหมายในวาระเร่งด่วน ก่อนที่พระราชบัญญัตติกัญชา กัญชง พ.ศ.... จะพิจารณาเสร็จสิ้นในชั้น ส.ส.และ ส.ว. โดยมี 15 ข้อเสนอ โดยใช้แนวทางประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นต้นแบบ อาทิ การใช้กัญชาต้องไม่ให้เกิดการรบกวนต่อสาธารณะ, ห้ามจำหน่ายในเด็กต่ำกว่า 18 หรือ 20 ปี, ห้ามการโฆษณาใดๆ ทุกประเภท ทั้งในสื่อออนไลน์ วิทยุ โทรทัศน์ และตามป้ายโฆษณาต่างๆ ทั่วไป และห้ามการจำหน่ายทางออนไลน์, อนุญาตให้ร้านจำหน่ายกัญชาเฉพาะผู้ป่วย หรือผู้ที่มีถิ่นพำนักในประเทศ หรือนักท่องเที่ยว แต่ต้องมีพาสปอร์ต มีวีซ่า มีการลงทะเบียนนักท่องเที่ยว, ที่ตั้งร้านค้ากัญชาทั้งหมดจะต้องห่างจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย เกิน 350 เมตร เป็นต้น

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจเรื่อง ทัศนคติคนไทยต่อกัญชาและการใช้ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 2,125 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 13- 16 กรกฎาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.6 ไม่สนใจจะเสพกัญชาเพื่อความบันเทิง เพราะไม่สูบ ไม่เสพ เป็นยาเสพติด ผิดทาง จะบันเทิงไม่ต้องพึ่งกัญชา ไม่จำเป็นต้องใช้ ไม่ใช่แนว เขาปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ ไม่ใช่บันเทิง เป็นต้น ในขณะที่เพียงร้อยละ 3.4 สนใจ เพราะอยากลอง คิดว่าเสพได้เพลิดเพลิน เป็นต้น

เมื่อถามถึงความรู้ความเข้าใจต่อประโยชน์กัญชา หลังปลดล็อกกัญชา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.1 รู้ว่าปลดล็อกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ รักษาโรคภัยต่างๆ ของผู้ป่วย, ร้อยละ 84.6 เห็นด้วยว่าต้องมีมาตรการควบคุมจัดการคนที่ใช้กัญชาในทางที่ผิด, ร้อยละ 83.5 รู้ว่าการเสพกัญชาเพื่อความบันเทิงเป็นการใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์, ร้อยละ 65.9 ระบุนโยบายปลดล็อกกัญชาเป็นนโยบายกล้าเปลี่ยนแปลงช่วยเหลือชาวบ้าน และร้อยละ 63.7 ระบุการปลูกกัญชาต้องมีการขึ้นทะเบียน เพื่อป้องกันการนำเข้าจากต่างประเทศ

ที่น่าสนใจคือ กระทรวงสาธารณสุขเป็นแหล่งข้อมูลกัญชาที่เชื่อถือได้มากที่สุด คือร้อยละ 89.4 รองลงมาคือร้อยละ 85.2 ระบุแพทย์แผนไทย, ร้อยละ 63.8 ระบุหมอพื้นบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน อสม. ในชุมชน, ร้อยละ 61.4 ระบุโซเชียลมีเดีย โลกออนไลน์ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.7 เห็นด้วยกับนโยบายปลดล็อกกัญชา เพราะเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ มาถูกทาง ทำได้จริง นำประโยชน์มาใช้เป็นคุณแก่ประชาชน ต้องควบคุมโทษของกัญชา ใช้เป็นยาและปรุงอาหารได้ตามเหมาะสม ไม่ใช้เกินไป เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 17.3 ไม่เห็นด้วย เพราะ กังวลผลเสีย ยังไม่เห็นมาตรการควบคุมชัดเจน และยังสับสนกับข้อมูล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.4 ระบุเป็นเกมการเมือง หวังทำลายความน่าเชื่อถือ ทำลายคะแนนนิยมต่อนโยบายกัญชา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง