ฝีดาษลิงราย3/สุพัฒนพงษ์ติดโควิด

โควิดไทยสังเวยอีก 32 ศพ   "บิ๊กตู่" เชื่อสถานการณ์ไทยและทั่วโลกดีขึ้น ด้าน "สุพัฒนพงษ์" ติดเชื้อหลังกลับซาอุฯ "ฝีดาษลิง" ผุดราย 3 ที่ภูเก็ต เป็นหนุ่มเยอรมนี คาดติดจากต่างประเทศ แพทย์แจงยิบไม่ใช่กลุ่มรักร่วมเพศ เฝ้าระวัง 7 คนกลุ่มเสี่ยง แฟนสาวชาวไทยและครอบครัว

เมื่อวันพุธ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามแนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งภาพรวมทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 2-3 สัปดาห์ ขณะที่ในสัปดาห์นี้อัตราตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกค่อนข้างคงที่ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขผู้ป่วยในประเทศไทย

“แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้เริ่มทรงตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุขติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวมทั้งแปลผลด้วยความระมัดระวัง และเชื่อว่าสถานการณ์ไทยและทั่วโลกจะดีขึ้นตามลำดับ” นายธนกรกล่าว  

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 2,432 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,431 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 1 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,373,124 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)  หายป่วยกลับบ้าน 2,472 ราย หายป่วยสะสม 2,374,662 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 21,940 ราย เสียชีวิต 32 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 917 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน แจ้งกับผู้ใกล้ชิด และบุคคลที่เกี่ยวข้องในการจัดการเตรียมประชุมกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ ว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 โดยล่าสุดมีอาการไอ ทำให้อาจไม่สามารถเข้าร่วมประชุมทางออนไลน์ได้ ซึ่งเริ่มมีอาการและรู้ผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ก.ค.65 ที่ผ่านมา

โดยนายสุพัฒนพงษ์กลับจากเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 25-27 ก.ค.ที่ผ่านมา และเมื่อกลับถึงประเทศไทย ได้ผ่านการตรวจระบบ RT-PCR แล้ว แต่ไม่พบเชื้อ และในวันที่ 28 ก.ค. ได้ร่วมงานทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ท้องสนามหลวง จนเริ่มมีอาการและตรวจพบเชื้อโควิดตั้งแต่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้มีการรายงานกรณีโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง มีผลการตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ ยืนยันในรายที่ 3 เป็นผู้ป่วยชาย อายุ 25 ปี สัญชาติเยอรมนี เดินทางเข้าไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 ที่ จ.ภูเก็ต

นพ.โอภาสกล่าวว่า เบื้องต้นผู้ป่วยรายดังกล่าวเมื่อเข้ามาถึงไทยไม่นานก็เริ่มมีอาการ จึงคาดว่าน่าจะติดเชื้อจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ป่วยให้ประวัติว่าเดินทางมาเที่ยวในไทย เคยไปๆ มาๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด กลุ่มเสี่ยงเพื่อคัดกรองโรคฝีดาษลิง ซึ่งเบื้องต้นผลยังไม่พบผู้ติดเชื้อในผู้สัมผัส แต่ตามแนวทางจะต้องให้สังเกตอาการ 21 วัน โดยสามารถไปไหนมาไหนได้ แต่ต้องระวังการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น

ส่วนความเสี่ยงที่โรคฝีดาษลิงจะกระจายในประเทศไทย จะสังเกตว่า 3 ราย เป็นเพศชาย ตรงกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่เปิดเผยว่า ร้อยละ 98 มีประวัติชายรักชาย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของไทย เป็นชายทั้งหมด โดยเป็นต่างชาติ 2 ราย และคนไทย 1 ราย ที่สัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ ฉะนั้น ความเสี่ยงคือการสัมผัสใกล้ชิดต่างชาติกับผู้ป่วยฝีดาษลิง

นพ.โอภาสกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยรายที่ 3 เมื่อเข้ามาไม่นานก็เริ่มมีอาการฝีดาษลิง คือมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ต่อมาผื่นขึ้นเริ่มจากอวัยวะเพศและไปตามร่างกาย อาการค่อนข้างชัดเจน จึงมาโรงพยาบาล  ทั้งนี้ ข้อมูลทั่วโลกพบว่าผู้ป่วยฝีดาษลิงไม่ได้จำเป็นต้องอยู่ใน รพ.ทุกราย มีเพียงร้อยละ 9 ที่ต้องอยู่ รพ.เพื่อควบคุมโรค ดังนั้นมาตรการของเราในอนาคต หากผู้ป่วยไม่มีปัญหาสุขภาพก็ให้รักษาตัวที่บ้านได้

ส่วนเรื่องวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กำลังประสานติดต่อ คาดว่าไม่เกินเดือนนี้ ซึ่งคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ยังไม่มีประวัติติดเชื้อ แต่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรค เช่น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ห้องแล็บ 2.มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยฝีดาษลิง แต่ไม่เกิน 14 วัน หลังจากสัมผัสครั้งสุดท้าย คาดว่าป้องกันโรคได้

“ด้านยารักษาโรค ขณะนี้ข้อมูลบ่งชี้ว่าสามารถหายเอง อย่างผู้ป่วย 2 รายแรกของไทย อาการดีขึ้นโดยไม่ต้องรับยาต้านไวรัส แต่ยาอาจมีความจำเป็นในกลุ่มผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีหรือร่างกายอ่อนแอ ทั้งนี้ ข้อมูลทั่วโลกพบติดเชื้อฝีดาษลิง 20,000 ราย เสียชีวิต 3-4 ราย ซึ่งประวัติมีโรคประจำตัว เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ภาวะแทรกซ้อนสมองอักเสบ ฉะนั้น ยาจะมีความจำเป็นเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ทุกรายที่ต้องรับยา” นพ.โอภาสระบุ

เมื่อถามว่า 2 รายแรกของไทยถือว่าการป้องกันโรคปลอดภัยแล้วหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ต้องดูว่าผู้สัมผัสโรคของรายที่ 1 ครบ 21 วัน หลังจากที่สัมผัสกับผู้ป่วยหรือยัง เพราะโรคนี้ระยะฟักตัวอย่าง ซึ่งการควบคุมโรคจะดีกว่าโรคที่ระยะฟักตัวสั้นอย่างโควิด-19 ที่เวลากระจายก็กระจายเร็ว

เมื่อถามถึงเรื่องการบริการวัคซีนฝีดาษลิง นพ.โอภาสกล่าวว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต้องดู 1.ประสิทธิภาพ 2.ความปลอดภัย 3.สถานการณ์ และ 4.ความเป็นไปได้ในการจัดบริการ ซึ่งวัคซีนที่เราสั่งเข้ามาจากข้อมูลพบว่าผลข้างเคียงน้อยที่สุด แต่ด้วยโรคใหม่เราจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ที่ จ.ภูเก็ต นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต  แถลงกรณีพบผู้ป่วยฝีดาษวานร รายที่ 3 ว่า  คนไข้รายนี้แอดมิตตอนสายวันที่ 2 ส.ค. และตอนเย็นทราบผลพบเชื้อ โดยทีมสอบสวนโรคได้ร่วมกับสาธารณสุขเมือง และ รพ.ได้สอบประวัติผู้ป่วย ทราบว่าเป็นชายชาวเยอรมนี อายุ 25 ปี เดินทางบินตรงเข้าภูเก็ตเมื่อวันที่ 18 ก.ค.65 เข้ามาพักกับแฟนเป็นคนไทย ไม่ได้เป็นกลุ่มรักร่วมเพศ และครอบครัวของแฟน โดยพักอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดภูเก็ต ส่วนมากท่องเที่ยวกับแฟนไม่ได้ไปเที่ยวสถานบันเทิง

“กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดเป็นแฟนและครอบครัวของแฟน ในขั้นต้นรวมแล้ว 7 คน อาจจะเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ต้องสอบสวนโรคทีละขั้นตอน ตอนนี้ทั้ง 7 คนที่ใกล้ชิดผู้ป่วย ยังไม่มีอาการ ส่วนแฟนของเขาได้ทำการเจาะเลือด สวอบอยู่ ระหว่างรอผลให้เขากักตัวอยู่ที่บ้าน” นพ.กู้ศักดิ์ระบุ

นพ.กู้ศักดิ์ระบุว่า ปัจจุบันมีการเฝ้าระวังโรค มีการดักจับโรคฝีดาษวานรที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศกับการเฝ้าระวัง ตาม รพ.รัฐ รพ.เอกชน คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกโรคเพศสัมพันธ์ ซึ่งทางรพ.รัฐและ รพ.เอกชนแจ้งมาว่ามีผู้ป่วยเข้ามาตรวจและอาการเข้าข่ายประมาณ 4-5 ราย เป็นชาวพม่า ชาวเคนยา สเปน  ฯลฯ รวมแล้ว 7-8 คนที่เดินเข้ามาตรวจ เจาะเลือดสวอบ ผลตรวจไม่พบเชื้อ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงที่ผ่านมา มีการกำชับให้ตรวจเฝ้าระวังคัดกรอง ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ทั้งสนามบิน ทางน้ำและทางบก รวมถึงในสถานพยาบาลให้เตรียมความพร้อมเรื่องการรักษา ดังนั้นผู้ที่มีอาการสงสัยขอให้รีบมาพบแพทย์ ส่วนเรื่องวัคซีนและยาก็มีการเตรียมสั่งซื้อเข้ามา ซึ่งวัคซีนไม่ใช่ว่าต้องฉีดให้ทุกราย แต่จะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง และผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ส่วนเรื่องยาเป็นการเตรียมความพร้อม เพราะการติดเชื้อไม่ได้ถึงขั้นกระจายอย่างรวดเร็ว กรมควบคุมโรคก็จะดำเนินการสั่งโดยศึกษาถึงกลุ่มเสี่ยง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์