เบรกขึ้นค่าไฟฟ้า กฟผ.โอดหนี้บาน ตรึงดีเซล35บาท

นายกฯ สั่งทบทวนขึ้นค่าไฟเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 ย้ำต่างมีหน้าที่ไม่ก้าวก่ายอำนาจ กกพ. "พลังงาน" ชี้หาก กกพ.ยืนยันขึ้นค่าไฟตามมติจริง หน้าที่รัฐบาลคือหามาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง รับห่วงสภาพคล่อง กฟผ.แบกรับหนี้เอฟทีเกือบทะลุแสนล้าน  "กบน." ยืนราคาดีเซลลิตรละ 35 บาทต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 8 พร้อมลดอุดหนุนดีเซลเหลือ 1.13 บาทต่อลิตร ฐานะกองทุนน้ำมันติดลบ 1.17 แสนล้านบาท

เมื่อวันจันทร์ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที (FT) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 ตามมติบอร์ดบริหาร สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 27 ก.ค.65 ในอัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย จากงวดปัจจุบันเดือน พ.ค.-ส.ค.65 ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.79 บาทต่อหน่วย  จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่  4.72 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ นายกฯ ได้สั่งให้กระทรวงพลังงานเร่งหามาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือ โดยให้เร่งหารือกับ กกพ.ด้วยว่าจะยังคงยืนยันตามมติเดิมหรือไม่ และหาก กกพ.จะปรับขึ้นค่าเอฟทีจะขึ้นเท่าเดิมหรือขึ้นแค่ไหน แล้วมาตรการช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เกิดผลกระทบจะเป็นอย่างไร

 “ท่านนายกฯ เป็นห่วงเรื่องผลกระทบ เพราะถ้าขึ้นแล้วจะมีมาตรการอะไรมาช่วยเหลือ จึงต้องหารือกับ กกพ.เพราะเป็นหน่วยงานที่กำกับและดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ ส่วนการจะทบทวนหรือปรับเปลี่ยนมติบอร์ด กกพ.ที่ออกไปแล้วหรือไม่นั้น ส่วนตัวจะไม่ก้าวล่วงเพราะเป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของ กกพ. สิ่งที่ กกพ.ดูอยู่คือถึงเวลาที่จะต้องดำเนินการ เพราะต้นทุนผันแปรเพิ่ม อันนี้ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงจะต้องดู หากถ้าขึ้นค่าเอฟทีจริงๆ มาตรการช่วยเหลือของรัฐจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เป็นสิ่งที่ต้องหารือร่วมกัน” นายกุลิศกล่าว

นายกุลิศกล่าวว่า ยอมรับว่าจากกระแสข่าวที่ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกำลังการผลิตที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กำลังผลิต  800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น ขณะนี้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเคมี จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างเร่งกำลังผลิต เนื่องจากผู้รับสัมปทานเดิมไม่ได้มีการขุดเจาะเพิ่ม จึงทำให้กำลังการผลิตลดลงเหลือระดับ  200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ทั้งนี้ ปตท.สผ.เมื่อได้เข้าพื้นที่เมื่อวันที่ 24 เม.ย.65 ก็ได้เร่งลงทุนและเพิ่มกำลังผลิตขึ้นมา โดยล่าสุดได้รับทราบข้อมูลว่าอย่างน้อยๆ จะดันกำลังผลิตสิ้นปี  2565 ไม่ให้ต่ำกว่า 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันมีกำลังผลิตที่กว่า 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  จึงต้องใช้เวลาในการเร่งกำลังผลิต

ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ส่วนการแบกรับภาระค่าเอฟทีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  นั้น ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงมาก ซึ่งรัฐบาลจะเข้ามาดูแล เพราะค่าเอฟทีจะกระทบไปถึงสภาพคล่องของ กฟผ.ด้วย  โดยภาครัฐจะเข้าไปดูว่าการที่ กฟผ.ได้เข้าไปช่วยแล้วขาดอะไรไปบ้าง และจะต้องมีการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างไรบ้าง ตอนนี้กำลังทำมาตรการต่างๆ อยู่ อาทิ เงินกู้เพิ่มเติม  เป็นต้น

รายงานข่าวกล่าวว่า การที่ กกพ.มีมติปรับขึ้นค่าเอฟทีดังกล่าว เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงและผลจากเงินบาทที่อ่อนค่า โดยการปรับค่าเอฟทีครั้งนี้ถือเป็นอัตราต่ำสุดแล้ว เพราะยังไม่มีการคืนหนี้ให้ กฟผ.ที่แบกรับต้นทุนเชื้อเพลิงมาตั้งแต่ปี 2564 และหากต้องรับภาระค่าเอฟทีงวดใหม่นี้อีกจะทำให้ กฟผ.แบกรับภาระราว 1.7  แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 การไฟฟ้าซึ่งประกอบด้วย กฟผ., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ออกประกาศตามอัตรางวดใหม่ให้ประชาชนได้รับทราบตามมติ กกพ.ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว   

รายงานข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน  (กกพ.) เปิดเผยถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดใหม่ ก.ย.-ธ.ค.65 เพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ประชาชนต้องจ่าย 4.72 บาทต่อหน่วย  แต่ กกพ.ได้เลื่อนการชี้แจงการปรับขึ้นราคามาแล้ว 2 ครั้ง ท่ามกลางกระแสข่าวรัฐบาลเบรกการชี้แจงปรับขึ้นราคา และให้กลับไปทำมาตรการเยียวยา สร้างความสับสนให้ประชาชนอย่างมากว่า สรุปแล้วค่าไฟงวดใหม่วันที่ 1  ก.ย.จะปรับขึ้นตามมติเดิมหรือไม่ หรือมีแนวโน้มปรับลดลง

ในส่วนของ กกพ.ยืนยันว่า ได้ส่งเอกสารทุกอย่างให้  3 การไฟฟ้า มีผลทางกฎหมายไปแล้วตั้งแต่ 27 ก.ค.เป็นต้นมา ซึ่งตามหลักการแล้วถ้ารัฐบาลต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก็สามารถออกเป็นมาตรการเยียวยาประชาชนแยกส่วนออกมาเหมือนทุกครั้ง ไม่จำเป็นต้องกลับมติการปรับขึ้นค่าไฟครั้งนี้ 

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่  8 ส.ค.65 ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้คงราคาน้ำดีเซลไว้ที่ลิตรละ  34.94 บาท โดยเป็นการตรึงราคาต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่  8 ทั้งนี้เพื่อมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม

สถานการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซล  (GAS OIL) ลดลง 10.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยเมื่อวันที่ 29 ก.ค.65 ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่  134.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และลดลงเป็น  124.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 5 ส.ค.65 ด้วยปัจจัยหลักๆ คือ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และในทวีปยุโรป รวมถึงภาวะหนี้สินของประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างๆ  และการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศจีน  ซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันมากที่สุดในโลก

รวมทั้งสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ  ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันที่ชะลอตัวลง สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่ 7 ส.ค.65 ติดลบ 117,229 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ  76,784 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ  40,445 ล้านบาท อย่างไรก็ตามปัจจุบันกองทุนอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 1.13 บาทต่อลิตร ลดลงจากสัปดาห์ก่อนเมื่อวันที่  4 ส.ค.65 ที่อุดหนุนอยู่ที่อัตรา 1.19 บาทต่อลิตร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง