อนุมัติ4พันล้าน แก้ท่วม-ภัยแล้ง ห่วงน้ำเหนือเขื่อน

ครม.อนุมัติงบ 4,019 ล้านบาท ให้ 5 กระทรวง 1,361 รายการจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 65 และแก้น้ำแล้งปี 65/66 “บิ๊กตู่” สั่งทุกหน่วยงานพร้อมรับมือ เฝ้าระวัง 24 ชม. ขณะที่ “มหาดไทย” เด้งรับมือ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบจุดสำคัญกรุงเทพฯ ด้าน “ชัชชาติ” กังวลน้ำเหนือเขื่อน ยกน้ำท่วมปี 54 เป็นตัวเปรียบเทียบ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์น้ำว่า ช่วงเดือนนี้เคยเตือนมาแล้วว่าเป็นฤดูฝนอย่างเต็มที่ ฉะนั้นจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายภูมิภาคของประเทศ จากการรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รวมถึงฝ่ายความมั่นคง ช่วยกันเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ถนนชำรุดอะไรต่างๆ ให้บูรณาการกันอย่างใกล้ชิด เตรียมเครื่องจักรกล สาธารณภัยร่วมปฏิบัติงาน และกำลังพลเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง โดยต้องวางจุดในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อที่จะแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกัน ได้ให้ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พิจารณาในภาพรวม โดยเตรียมการพร่องน้ำ ระบายน้ำเป็นหลัก และต้องพิจารณาถึงการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูถัดไปด้วย

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบกลาง กรอบวงเงิน 4,019 .80 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 2565/2566 จำนวน 1,361 รายการ ให้กับ 5 กระทรวง 13 หน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งในปี 65/66 โดยพื้นที่เป้าหมายคือพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย และภัยแล้งตามที่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด และพื้นที่เสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไข บรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งโดยเร่งด่วน สำหรับ 5 กระทรวง ประกอบด้วย 1.กระทรวงกลาโหม 2.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 3.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5.กระทรวงมหาดไทย

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า สทนช.ประเมินว่าหากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 35,723 ไร่ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 34.02 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 36,735 ครัวเรือน และสามารถกำจัดผักตบชวา/วัชพืชน้ำได้ประมาณ 4.74 ล้านตัน รวมถึงสามารถซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ให้สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 394 แห่ง รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มการลงทุนภาครัฐโดยการช่วยกระตุ้นการซื้อวัสดุและจ้างแรงงานคนในท้องถิ่นด้วย

นายธนกรเปิดเผยด้วยว่า จากสถานการณ์ฝนตกอย่างต่อเนื่อง ช่วงระหว่างวันที่ 7-9 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยได้รับผลกระทบ เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซลติดตั้งบนเทรลเลอร์ลากจูงพร้อมอุปกรณ์ ขนาดท่อส่ง 14 นิ้ว อัตราสูบ 28,000 ลิตร/นาที ให้สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร (กทม.) ติดตั้งตามเขตต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 18 เครื่อง 14 จุดสำคัญที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมขัง เพื่อเร่งระบายน้ำ บรรเทาสถานการณ์น้ำท่วมขังแล้ว

ทั้งนี้ นายกฯ ขอให้ประชาชนติดตามการแจ้งเตือนจากส่วนราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขอให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะส่วนท้องถิ่น ให้ทำงานเชิงรุก เตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ อย่าปล่อยให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน อะไรที่ช่วยได้อยู่ในอำนาจของท้องถิ่นให้รีบดำเนินการ ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้สนับสนุนการทำงานของท้องถิ่นอย่างบูรณาการ สำหรับกองทัพ ขอให้เตรียมกำลังพลพร้อมยุทโธปกรณ์ออกให้ความช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานต่างๆ ตามคำร้องขอ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

 ที่ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า สิ่งที่กังวลคือน้ำเหนือเขื่อน เมื่อเช้ามีรายงานว่าน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับ 40% จึงสั่งการให้นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เฝ้าระวังน้ำเหนือเขื่อนให้ดี เพราะเรากลัวว่าในระยะยาว หากน้ำเหนือเขื่อนเต็มแล้วปล่อยน้ำออกมาจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ เพราะเมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำเหนือเขื่อนในปัจจุบันมีปริมาณมากกว่าปีก่อน

นอกจากนี้ยังสั่งให้ทำแดชบอร์ด ที่มีการสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำ และปริมาณน้ำในเขื่อนที่อาจไหลผ่านกรุงเทพมหานครด้วย สำหรับสิ่งที่กังวลคือน้ำเหนือ ที่อาจมาเสริมกับน้ำฝนและน้ำทะเลหนุน โดยต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการระยะยาว อาจต้องนำสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 เป็นตัวเปรียบเทียบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชัย' โนคอมเมนต์ นายกฯ ทาบ 'จักรพล' นั่งโฆษกรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีทาบทามนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

นายกฯ ร่วมผู้นำ 17 ประเทศ แถลงเรียกร้องปล่อยตัวประกันในกาซา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "วันนี้ ผมร่วมกับผู้นำ 17 ประเทศที่มีตัวประกันที่ยังอยู่ในกาซา ออกถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด

รัฐบาลตีปี๊บ ประกวด 'ข้าวหอมมะลิไทย' ช่วยยกคุณภาพชีวิตเกษตรกร

รัฐบาลหนุนเกษตรกรและโรงสี จัดประกวดข้าวหอมมะลิไทยปี 2566 เฟ้นหาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยคุณภาพชั้นเลิศ พร้อมขยายช่องทางการจำหน่าย