‘บิ๊กตู่’ อาจอยู่ยาว! อดีตตุลาการเปิดแนวทางวินิจฉัยนายกฯ8ปี/ฝ่ายค้านยื่นแน่17ส.ค.

ฝ่ายค้านเอาแน่ ยื่นตีความนายกฯ 8 ปี วันที่ 17 สิงหา. พร้อมบรรจุความเห็น "มีชัย-สุพจน์" ล้ม "บิ๊กตู่" ให้ได้  ขณะที่อดีตตุลาการศาล รธน.เผยแนวทางวินิจฉัย นายกฯ อาจอยู่ได้ยาวถึงปี 2570 อีกแนวทาง อุปมาตามบทเฉพาะกาล เหมือนค้างคาวไม่ใช่นก ครบ 8 ปีในปี 2568

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2565 นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17 ส.ค.ว่า ขณะนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านยังคงหารือเพื่อรวบรวมความเห็น และเขียนคำร้อง โดยยังคาดว่าจะเสร็จทัน 17 ส.ค.นี้ เพื่อยื่นก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะเราไม่ต้องการให้เกิดเงื่อนไขจนส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินและการใช้งบประมาณต่างๆ

เมื่อถามว่า คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาวินิจฉัยเท่าใด นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นทางกฎหมาย ไม่ใช่ประเด็นทางข้อเท็จจริงเหมือนกรณีอื่นๆ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำร้องครบถ้วนและสมบูรณ์ คงจะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้เลย ส่วนการพิจารณาตามข้อกฎหมาย ที่มีรายละเอียดต่างๆ นั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านจะใส่บันทึกเจตนารมณ์ของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกเปิดเผยมาในช่วงนี้ลงไปในคำร้องด้วย เช่น ความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธาน กรธ.คนที่ 1 เราจึงคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะใช้เวลาพิจารณาวินิจฉัยไม่เกิน 1 เดือน เพราะหากใช้เวลาการพิจารณานาน จะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

“ประเด็นการตีความการสืบทอดอำนาจอาจจะไม่ได้จบภายในเดือน ส.ค. หากนายกฯ ยังอยู่ในตำแหน่งต่อ แต่ระเบิดเวลาอาจจะเกิดขึ้นได้หากไม่ลาออกจากตำแหน่งตามเวลาที่เหมาะสม และถ้าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เป็นหลักการโดยทั่วไป ก็อาจจะนำไปสู่ชนวนความขัดแย้งได้” นายณัฐวุฒิกล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะไม่ใช่เรื่องของตน และเราก็สนับสนุนนายกฯ ในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล สนับสนุนทุกวิถีทางให้ท่านนำพาสภาไปจนครบเทอม ส่วนการตีความก็เป็นเรื่องของกฎหมายและศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่อนาคตทางการเมืองของนายกฯ ถ้าจะมารณรงค์แข่งขันหาเสียงเลือกตั้ง ท่านสังกัดพรรคไหนก็ต้องเชียร์พรรคนั้น และพรรคนั้นก็คือคู่แข่งขัน เราก็แข่งขันกันตามกติกา

ส่วนกระแสข่าวจะมีการยุบสภาเร็วๆ นี้ นายอนุทินกล่าวว่า ก็นี่ไงเราจึงมากระบี่ในวันนี้ มาเปิดตัวผู้สมัคร เดี๋ยวก็ไปพังงา ถ้าเกิดยุบสภาเร็วๆ นี้ก็ต้องเดินทางเยอะแยะไปหมด เราเตรียมการไว้หมดเเล้ว ตอนนี้ยังไม่ได้ยินกระแสข่าว แต่ก็เตรียมพร้อมอยู่แล้ว การทำการเมืองปีสุดท้าย พรรคที่มีการบริหารจัดการที่ดีก็ต้องเตรียมการเลือกตั้ง เพราะมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

เมื่อถามย้ำว่า ถ้ายุบสภาเดือนนี้ พรรคภูมิใจไทยพร้อมเลือกตั้งหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า “แหมพูดมาตั้ง 3 ปีแล้วว่าพร้อมทุกวัน”

ขณะที่นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้มีความเห็น 3 ทาง กลุ่มแรก อ่านมาตรา 158 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่าต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 ที่รับเป็นนายกฯ เท่ากับดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว แต่ได้ฟังความเห็นตรงข้าม เห็นว่าการอ่านกฎหมาย จะอ่านวรรคเดียวไม่ได้ ต้องอ่านทั้งมาตรา และทั้งบทบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย หากอ่านทุกวรรค จะมีความเห็นตรงข้าม เพราะตามวรรคสอง ของมาตรา 158 กำหนดให้นายกฯ ต้องมาจากสภาผู้แทนฯ และตามวรรคสามนายกฯ ต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ โดยประธานสภาฯ ลงนามรับสนอง หากอ่านบริบททั้งมาตรา ต้องเริ่มนับตั้งได้รับโปรดเกล้าฯ ตามมาตรา 158 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม ซึ่งมีการโปรดเกล้าฯ ตามมาตรา 158 ในวันที่ 9 มิ.ย.2562 ซึ่งจะไปครบ 8 ปี ในวันที่ 8 มิ.ย.2570

อดีตตุลาการศาล รธน.เผยว่า หากอ่านบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ให้ ครม.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนใช้รัฐธรรมนูญนี้ มีฐานะเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ เท่ากับบอกว่า ครม.ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่เพราะบทเฉพาะกาลมายกเว้น ให้ถือว่าเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ บทเฉพาะกาลเป็นข้อยกเว้นบทบัญญัติหลัก

"ดังนั้น ถือว่าทั้งนายกฯ และ ครม. เป็นนายกฯ และ ครม. มาตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 เป็นวันเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ต้องรอโปรดเกล้าฯ การรอโปรดเกล้าฯ เป็นไปตามบทบัญญัติหลัก มาตรา 158 แต่บทเฉพาะกาลใช้แล้ว เป็นข้อยกเว้นตามบทบัญญัติหลัก"

เขากล่าวว่า อุปมาเหมือนค้างคาวไม่ใช่นก บทบัญญัติหลักบอกว่าให้ใช้กับนกเท่านั้น ค้างคาวจึงไม่เกี่ยว แต่มีบทเฉพาะกาล บอกว่าให้ถือว่าค้างคาวที่มีชีวิตอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ มีฐานะเป็นนกตามรัฐธรมนูญนี้ด้วย ค้างคาวกลุ่มนั้นจึงกลายเป็นนกตามรัฐธรรมนูญนี้ ตามบทเฉพาะกาล โดยไม่ต้องรอโปรดเกล้าฯ ตามมาตรา 156 วรรค 3 ซึ่งเท่ากับไปครบ 8 ปี ในปี 2568.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.ย้ำไม่ได้เร่งยุบก้าวไกลแต่ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ศาล รธน.แล้วตั้งแต่ 25 มี.ค.

กกต.แจง ส่งเอกสาร ยื่นยุบก้าวไกล เพิ่มเติมถึงศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว ส่วนคำร้องยุบภูมิใจไทยเป็นคนรับประเด็น