ไร้เหตุยุบสภากกต.ไม่เสี่ยง

"วิษณุ” ก็ "ไม่รู้" นึกไม่ออกว่ามีเหตุผลอะไรให้ยุบสภา แจง 2 วิธีเป็นทางออกหากยุบสภาก่อน กม.ลูกเลือกตั้งบังคับใช้ รับไม่เห็นด้วยออก พ.ร.ก. หวั่นมีปรับแก้ ขณะที่ กกต.กังวลอาจไม่มีอำนาจจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตาม รธน. ขนลุก! ก้าวไกลประกาศกวาดเก้าอี้ ส.ส. 120 ที่นั่ง

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการยุบสภาในระหว่างที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ยังไม่มีผลบังคับใช้ จะส่งผลอย่างไรต่อการเลือกตั้งว่า มี 2 วิธี คือ 1.คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ออกระเบียบ 2.ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งการออกเป็น พ.ร.ก.อาจไม่ยุ่งยาก เนื่องจากสามารถนำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไปแล้วมาจัดทำเป็น พ.ร.ก.ได้

"วิธีนี้ผมไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะมีการไปปรับแก้อะไรอีก โดยกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ทาง กกต.ได้ให้ความเห็นชอบและนำเข้าที่ประชุมสภาไปแล้ว จึงไม่น่าจะมีข้อครหาอะไร แม้จะไม่ถูกใจบางคน เช่นเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส. หาร 100 หรือ 500 แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีออกระเบียบหรือออก พ.ร.ก. อาจจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในอนาคตได้"

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ส่งมาถึงรัฐบาลหรือยัง นายวิษณุตอบว่า สภายังไม่ได้ส่งมาที่รัฐบาล ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. รัฐสภา เก็บไว้พิจารณา 3 วัน และน่าจะครบกำหนดแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งมาที่รัฐบาล ถ้าส่งมาเมื่อไหร่รัฐบาลจะเก็บไว้อย่างน้อย  5 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่ได้ยินว่าจะมีคนไปยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้ามีคนไปยื่นก็จะส่งผลให้กระบวนการล่าช้าออกไป ขณะที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ทั้งนี้ยังไม่มีการยุบสภา จะไปวิตกอะไร สื่อถามอย่างกับรู้วงในว่าจะมีการยุบสภา

เมื่อถามว่า ยังไม่มีเหตุอันสมควรยุบสภาใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้ ยังนึกไม่ออกว่ามีเหตุอะไรที่จะยุบ โดยปกติเหตุผลที่จะยุบสภาคือ รัฐบาลกับฝ่ายสภามีความขัดแย้งกัน หรือรัฐบาลแพ้ลงมติในสภา แบบนี้ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน แต่ตอนนี้ยังมองไม่เห็นและอย่าไปเชื่อข่าวลือ

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ตามทฤษฎีมีอำนาจเต็มทุกอย่าง แต่ในทางปฏิบัติต้องคิดหลายอย่างให้รอบคอบ เพราะการยุบสภาไม่ใช่เอากระดาษมาเขียนแล้วยุบก็เสร็จ ต้องนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และต้องมีคำอธิบายเหตุผลของการปรับ

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกระแสกดดันให้รัฐบาลยุบสภา ในขณะที่ พ.ร.ป. เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับใหม่ยังไม่มีผลบังคับใช้นั้นว่า  ตอนนี้ถือว่ายังไม่มีกฎหมายเลือกตั้งที่รองรับตามที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายยังไม่พร้อม กกต.ก็ทำงานเท่าที่มีเครื่องมือ เท่าที่มีกฎหมาย

ทั้งนี้ ในทางบริหาร ทางธุรการ กกต.มีการเตรียมการไว้หมดแล้ว แต่ในทางกฎหมาย กกต.ไม่มีอำนาจที่จะจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมเป็น 400  เขตได้ เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับใหม่ยังไม่ประกาศใช้

ไม่มีใครกล้าเสี่ยง

นอกจากนั้น ในส่วนของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง  หากยังไม่มีกฎหมายฉบับใหม่ พรรคการเมืองจะต้องกลับไปทำไพรมารีตามกฎหมายเดิม ที่ต้องมีการจัดตั้งสาขาพรรคทุกเขตที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง มีสมาชิกพรรคร่วมทำไพรมารีโหวต ซึ่งเมื่อดูข้อมูลพรรคการเมืองแล้ว โอกาสที่ทุกพรรคจะส่งผู้สมัครครบทั้ง 400 เขตและเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นไปด้วยยาก

ทั้งนี้ หากเกิดเหตุการณ์สุดวิสัยขึ้นในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายเลือกตั้งที่รองรับตามที่รัฐธรรมนูญแก้ไข ซึ่งมีหลายคนแสดงความเห็นว่าสามารถให้ กกต.ออกประกาศหรือระเบียบแทนได้ หรือให้ออกเป็นพระราชกำหนดแทนได้ แต่ไม่มีใครกล้าเสี่ยงเพราะจะเป็นการเอาชาติบ้านเมืองไปเสี่ยงด้วย ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดควรจะรอให้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับประกาศใช้ก่อน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุขในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการลงพื้นที่เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส ที่จังหวัดสงขลาว่า ก็ได้พูดคุยกัน และมีความมั่นใจที่จะเสนอตัวให้พี่น้องประชาชนพิจารณาเลือกเข้ามาเป็นผู้แทน

เมื่อถามว่า ที่ประกาศปักเสาเข็มทั่วประเทศคาดหวังเก้าอี้ ส.ส.กี่ที่นั่ง นายอนุทินกล่าวว่า จะทำให้ดีที่สุด เราปักเสาเข็มไปเรื่อย โดยจะไม่เอาคำว่าแลนด์สไลด์ แต่เราปักเสาเข็มเพื่อไปต่อยอด จะได้มั่นคง

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ประกาศไม่ลงสมัคร ส.ส.ในสมัยหน้าว่า ยืนยันว่านางอมรัตน์ไม่มีปัญหากับพรรค ทั้งนี้กรรมการบริการพรรค (กก.บห.) และ ส.ส.ของพรรคได้พยายามขอให้นางอมรัตน์ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อต่ออีกสมัยหน้า แต่นางอมรัตน์บอกว่าทำงานกับพรรคในบทบาทอื่นที่ไม่ใช่ ส.ส.ได้ และอยากให้คนอื่นๆ  เพิ่มเติมเข้ามาทำหน้าที่แทน

เมื่อถามถึงกรณีที่ น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม.ก็ประกาศหยุดบทบาท ส.ส.เช่นเดียวกัน นายพิจารณ์กล่าวว่า  สำหรับพรรคแล้ว ส.ส.หลายคนไม่ได้คิดว่าจะทำงานในหน้าที่ ส.ส.แบบระยะยาว และไม่ได้ยึดติดกับการเป็น ส.ส. การทำหน้าที่ ส.ส.ถือเป็นงานที่ต้องเสียสละ หากคิดว่าทำได้ไม่ดีตามที่ประชาชนคาดหวัง ก็คิดว่าน่าจะเปิดโอกาสให้คนอื่นมาทำดีกว่า

ตั้งเป้าไว้ที่ 120 ที่นั่ง

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลยังกล่าวว่า จากสูตรหาร 100  ขณะนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 120 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 30 ที่นั่ง และ ส.ส.เขต 90 ที่นั่ง การประเมินว่าพรรคจะได้ ส.ส.เขตมากขึ้นเป็นเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนปี 2562 ผลงานที่ผ่านมาของพรรค และการนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและปากท้อง ที่จะตอบโจทย์ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้มากกว่าสมัยที่เป็นพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)  นอกจากนี้ พรรคยังมีเวลาคัดเลือกตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.และเริ่มทำพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องพอสมควร ทั้งนี้ ผู้สมัครหลายคนยังมีคุณสมบัติที่น่าสนใจ

เมื่อถามว่า ได้เตรียมแผนรองรับการยุบสภาไว้หรือไม่  นายพิจารณ์กล่าวว่า เรามีแผนรองรับทุกฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้น เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ และการยุบสภาก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน ส่วนเรื่องกฎหมายลูก 2 ฉบับที่อาจจะออกไม่ทันใช้เลือกตั้ง พรรค ก.ก.ก็พร้อมหากต้องกลับไปใช้กฎหมายเดิม เช่น เรื่องการตั้งตัวแทนประจำเขตเลือกตั้ง พรรค ก.ก.จะตั้งให้ครบทุกเขต แม้กฎหมายใหม่จะไม่บังคับว่าจะต้องตั้งครบ เพื่อสร้างฐานของพรรคในทุกพื้นที่

ที่รัฐสภา นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะคณะทำงานประธานรัฐสภา แถลงความคืบหน้ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ว่า สำหรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบในวันที่ 26 ก.ค. ประธานรัฐสภาได้ส่งไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 8 ส.ค.  และ กกต.ส่งกลับมายังรัฐสภาเมื่อวันที่ 16 ส.ค. และเมื่อ กกต.ส่งกลับมา ประธานรัฐสภามีหน้าที่ตามข้อบังคับข้อที่ 104  ชะลอไว้ 3 วัน ก่อนส่งไปที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งระหว่างการชะลอไว้ โดยในวันที่ 19 ส.ค. พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งเมื่อยื่นมาและรายชื่อถูกต้องก็จะดำเนินการไปตามปกติ เพราะต้องส่งให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภาตรวจสอบรายชื่อ ส.ว. ซึ่งสำนักเลขาธิการวุฒิสภาได้ส่งเรื่องกลับว่าวันที่ 26 ส.ค. เพื่อให้ประธานรัฐสภาลงนามส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ

นายอิสระกล่าวต่อว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น หลังจากที่ กกต.ตอบกลับมายังรัฐสภาวันที่ 23 ส.ค. และในระหว่างที่รอ 3  วัน ก่อนที่ประธานรัฐสภาจะยื่นต่อนายกรัฐมนตรีนั้น ในวันที่  25 ส.ค.ที่ผ่านมา นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ยื่นให้ประธานรัฐสภาเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 100 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งขณะนี้กำลังตรวจสอบความถูกต้องทั้งรูปแบบและลายเซ็น ซึ่งในคำร้องนี้ไม่มีปัญหาเนื่องจากมีรายชื่อทั้ง ส.ส.และ ส.ว. โดยขณะนี้กำลังรอความถูกต้องของรายชื่อ ส.ว.จากสำนักเลขาธิการวุฒิสภาอยู่ ซึ่งหากรายงานกลับมาว่าถูกต้องก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้นคำร้องของทั้ง 2 ฉบับจึงยังไม่ได้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ยืนยันว่าประธานรัฐสภามีดำริให้ดำเนินการทุกขั้นตอนโดยเร็วและรอบคอบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง