ฟัน‘ขุนค้อน’ดันนิรโทษสุดซอย

สังเวยแทน "ทักษิณ" อีกราย ป.ป.ช.ชี้มูล “ขุนค้อน-สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” อดีตประธานสภาผู้แทนฯ  เร่งรีบผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ส่งสำนวนให้ อสส.พิจารณาสั่งฟ้องแล้ว เชือดชุดใหญ่ ฟัน 3 อดีตนายก อบจ.ดังคดีทุจริต แจ้งข้อกล่าวหาเกือบ 40 คน  พันปมจัดซื้อ “เสาไฟกินรี” อบต.ราชาเทวะ 8 ปี 871  ล้านบาท

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. พร้อมด้วยนายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ  ป.ป.ช. ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการดำเนินงานระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ค. 65 

โดยนายนิวัติไชยกล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการ  ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณีกล่าวหานายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย  กับพวกรวม 42 ราย ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ฉบับที่..  พ.ศ. … (พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย)

พฤติการณ์ของนายสมศักดิ์กับพวก ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ทำผิดข้อบังคับในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปี 2551 หลายประการ เช่น มีการเร่งรีบให้ ส.ส.ลงมติ และไม่ทำหน้าที่ส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวที่มีการโต้แย้งทักท้วงว่าการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ต้องส่งให้หน่วยงานอื่นของรัฐพิจารณาก่อนหรือไม่ ไม่ทำหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับสภา เร่งรีบผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอย โดยไม่ทำหน้าที่ของมติที่ประชุมสภาว่าการขอแก้ไขเพิ่มเติมร่าง  พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการขัดกับหลักการแห่งร่างหรือไม่ อย่างไร มีการเสนอมาตรา 1 เข้ามา ตามหลักการต้องส่งเข้าที่ประชุมสภาพิจารณาก่อนว่า สิ่งที่ส่งมาใหม่ขัดหลักการหรือไม่ แต่นายสมศักดิ์ไม่เสนอ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าไม่เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย เป็นการดำเนินการที่มิชอบ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติชี้มูลความผิดนายสมศักดิ์ กับพวก ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือโดยมิชอบ ตาม  พระราชบัญญัติ ป.ป.ช. ปี 2542 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา  213/1 ปัจจุบันได้ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส.)  เพื่อพิจารณาแล้ว

นายนิวัติไชยยังกล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) อย่างน้อย 3 ราย ที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ 1.ชี้มูลความผิดนางรัชนี พลซื่อ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ร้อยเอ็ด กรณีกล่าวหาว่านางรัชนีกับพวก ทุจริตในโครงการจัดซื้อหนังสือและสื่อการเรียนการสอน เพื่อแจกจ่ายให้แก่โรงเรียน ห้องสมุดประชาชน แหล่งเรียนรู้เยาวชนและชุมชน ระหว่างปี 2548-2551 

2.ชี้มูลความผิดนายพรชัย โควสุรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.อุบลราชธานี กรณีถูกกล่าวหาว่า ทุจริตการกำหนดคุณลักษณะในการประกวดสอบราคาจัดซื้อรถจักรยานยนต์ 4 จังหวะ พร้อมอุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัย  เอื้อประโยชน์แก่เอกชนผู้เสนอราคาที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสีย

และ 3.ชี้มูลความผิดนายนวพล บุญญามณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา กับพวก กรณีถูกกล่าวหาว่าดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพประชาชน จ.สงขลา โครงการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ จ.สงขลา ระหว่างปี  2551-2552 กำหนดการให้บริการในลักษณะเอื้อประโยชน์แก่สถานพยาบาล และดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ นอกจากนี้ยังชี้มูลความผิดเอกชนที่เป็นสถานพยาบาล ฐานร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการทุจริตต่อการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐด้วย

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีจัดซื้อเสาไฟฟ้าประติมากรรมกินรี (เสาไฟกินรี)  พร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาเซลล์)  พร้อมติดตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ระหว่างปีงบประมาณ 2556-2564 รวมวงเงิน 871,020,971 บาท ว่ายังอยู่ระหว่างการไต่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 1  เท่าที่ทราบขณะนี้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนหลายคณะ แบ่งเป็นการไต่สวนแต่ละปีงบประมาณ โดยจะดูทั้งหมดในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างสร้างใหม่ รวมถึงการจ้างซ่อม เรื่องนี้ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ปัจจุบันมีการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้วเกือบ 40 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวคณะกรรมการ  ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนมาตั้งแต่ปี 2564 ดำเนินการสอบพยานที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชน รวมถึงตรวจสอบสถานที่ดำเนินโครงการแต่ละโครงการ และจุดติดตั้งที่เป็นข่าวตามสื่อต่างๆ แล้ว โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสรุปข้อเท็จจริง

ในส่วนของโครงการจัดซื้อเสาไฟกินรีทั้งหมดนั้น มีการตรวจสอบระหว่างปีงบประมาณ 2556-2564  รวมวงเงิน 871,020,971 บาท โดยเป็นการประกวดราคาปกติและการสอบราคา แบ่งเป็นปี 2556  วงเงิน 64,760,000 บาท ปี 2557 วงเงิน  2,534,519 บาท ปี 2561 วงเงิน 27,622,585 บาท ปี 2562 วงเงิน 171,840,000 บาท ปี 2563 วงเงินรวม 215,768,864 บาท ปี 2564 วงเงินรวม  388,505,000 บาท

นายนิวัติไชยกล่าวว่า ช่วงระหว่าง 7 เดือนแรกของปี  2565 พบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติลงโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหารวม 260 เรื่อง เพื่อส่งไปยังผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนพิจารณาโทษทางวินัย อย่างไรก็ดี พบว่ามีการพิจารณาลงโทษทางวินัยแค่ 118 ราย ได้แก่ ลงโทษผิดวินัยร้ายแรง 84 ราย ผิดวินัยไม่ร้ายแรง 34 ราย ส่วนที่เหลือมีมติไม่ลงโทษทางวินัย 142 ราย

ในส่วนของบุคคลที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัย แต่ผู้บังคับบัญชาไม่ลงโทษทางวินัยจำนวน 142 รายนั้น พบว่าอยู่ทำงานจนเกษียณ หรือลาออกจากตำแหน่งจำนวน 74 ราย และไม่ถูกตัดสินโทษทางวินัยเลยจนถึงปัจจุบันจำนวน 39 ราย

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.เผยว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาทางข้อกฎหมายที่ยังไม่มีทางออก เนื่องจากฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า ป.ป.ช.พิจารณาขัดหลักข้อกฎหมายในเรื่องการไต่สวนทางวินัย เนื่องจากตามกฎหมายเดิม 5 ฉบับยังไม่มีการแก้ไขประเด็นนี้ แต่ในปัจจุบันมีการแก้ไขทั้งหมดแล้ว แต่ไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้ ทำให้มีการทำเรื่องถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความ โดยท้ายที่สุดคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้วว่าไม่สามารถลงโทษทางวินัยได้ แต่ ป.ป.ช.เตรียมจะยื่นเรื่องเพื่อต่อสู้เรื่องนี้ต่อไป

 “เรื่องนี้มีปัญหามาก เพราะมีความเห็นทางกฎหมายไม่สอดคล้องตรงกัน เราเคยมีความเห็นแย้งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เพราะมีความเห็นแนวลงโทษไม่ตรงกัน เรื่องนี้จึงอยากให้สื่อมวลชนช่วยกันติดตาม เพราะ ป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิดทางวินัยไปแล้ว แต่ผู้ถูกกล่าวหายังคงทำงานอยู่ในหน่วยราชการเดิม ทำให้มีชาวบ้านหลายคนสงสัย” นายนิวัติไชยกล่าว

ในช่วงท้าย นายนิวัติไชยกล่าวถึงโครงการศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (CDC) ว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.65 มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 371 เรื่อง ในอนาคตสำนักงาน ป.ป.ช.จะมีความร่วมมือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในการรับเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต รวมทั้งประสานกับหน่วยงานทุกแห่ง เพื่อที่จะดูว่าหน่วยงานไหนตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเพื่อลดความซ้ำซ้อน และประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในการแก้ไขของหน่วยงานใด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง